คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6781/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยฉกฉวยเอาพลอยของผู้เสียหายพาหนีไปซึ่งหน้า อันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์และคำขอท้ายฟ้องก็มิได้ขอให้ลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์ จึงเห็นได้ว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ อันเป็นความผิดที่มีลักษณะพิเศษไปจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ธรรมดาและมิใช่องค์ประกอบอย่างหนึ่งของความผิดฐานชิงทรัพย์ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 จึงเป็น การไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาชอบที่จะพิพากษาแก้และพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ในข้อหาความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(6)(7) วรรคสอง ซึ่งเป็นความผิดที่ประกอบเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของความผิดฐานชิงทรัพย์ให้ถูกต้องได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 340 ตรี, 357, 83 ให้จำเลยที่ 2 คืนพลอยสีน้ำเงินหรือชดใช้ราคา 700,000 บาท แก่นายขวัญชัย จำปาทอง และคืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของ

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคหนึ่ง จำคุก 5 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 336 วรรคหนึ่ง, 336 ทวิประกอบด้วยมาตรา 83 จำคุก 7 ปี 6 เดือน ให้จำเลยที่ 2 คืนพลอยสีน้ำเงินหรือใช้ราคา 700,000 บาท แก่นายขวัญชัย จำปาทอง และคืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของ

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลอนุญาต

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลต้องพิพากษายกฟ้องนั้น เห็นว่า แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ซึ่งเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย ฯลฯ แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาฟังยุติตามข้อวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองว่า จำเลยที่ 2 ได้ลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า อันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 336 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยฉกฉวยเอาพลอยของผู้เสียหายพาหนีไปซึ่งหน้า อันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์และคำขอท้ายฟ้องก็มิได้ขอให้ลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์ จึงเห็นได้ว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์อันเป็นความผิดที่มีลักษณะพิเศษไปจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ธรรมดาและมิใช่องค์ประกอบอย่างหนึ่งของความผิดฐานชิงทรัพย์ก็ตาม แต่ศาลฎีกาก็ชอบที่จะพิพากษาแก้และพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ในข้อหาความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(6)(7) วรรคสอง ซึ่งเป็นความผิดที่ประกอบเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของความผิดฐานชิงทรัพย์ให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) นั้นเห็นว่า ฟ้องโจทก์ได้กล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอที่จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดีแล้วหาทำให้จำเลยที่ 2 หลงต่อสู้หรือเป็นฟ้องเคลือบคลุมดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(6)(7) วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share