แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้ตายเมาสุราเข้าไปในร้านของ ส. และบีบคอ ส. บนเตียงนอนผู้ตายถอดเสื้อแล้วเข้ามากอดปล้ำทำอนาจาร และลาก ส. ออกมาจากร้าน ถือว่า เป็นการทำร้ายร่างกายและข่มเหงจิตใจ ส. อย่างร้ายแรง จำเลยซึ่งเป็นน้องชาย ส. อยู่ในเหตุการณ์ ย่อมมีสิทธิที่จะป้องกันภัยอันตรายในขณะนั้นแทน ส. ได้ผู้ตายไม่มีอาวุธ เมื่อจำเลยยิงผู้ตายขณะกอดปล้ำ ส. 1 นัด ถูกที่หัวไหล่ซ้ายแล้วผู้ตายล้มลงแสดงว่าจำเลยหยุดยั้งผู้ตายไม่ให้กระทำต่อ ส. ได้พอแล้ว แม้ผู้ตายจะลุกขึ้นมาจะเข้ามาทำร้ายจำเลยอีก แต่สภาพของผู้ตายยังเมาสุราและถูกยิงได้รับบาดเจ็บย่อมไม่สามารถต่อสู้กับจำเลยได้อีก การที่จำเลยยิงผู้ตายซ้ำที่หน้าท้องจนผู้ตายล้มลงถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำที่ ป้องกันเกินสมควรแก่เหตุและเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็นตามมาตรา 69
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,91, 32, 33 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 69 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสามเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่น จำคุก9 ปี ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 9 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนประกอบกับชั้นพิจารณารับว่าใช้อาวุธปืนยิงจริง เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 4 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้หลังเกิดเหตุเกือบ 6 ปี พยานโจทก์ที่นำสืบมาทั้ง 4 ปาก ล้วนอยู่ในเหตุการณ์ จะมีน้ำหนักรับฟังได้หรือไม่ว่า การกระทำของจำเลยที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่นายถนอม สลักคำ พยานโจทก์ว่า ได้ยินเสียงปืนดัง 1 นัด เห็นจำเลยถืออาวุธปืนยืนอยู่นอกร้าน ผู้ตายลุกขึ้นมา จำเลยยิงซ้ำที่หน้าท้องอีก 1 นัด ผู้ตายไม่ได้หยิบมีดเหลียนนั้น คำเบิกความของพยานดังกล่าวเมื่อพิจารณาประกอบกับคำให้การของพยานในชั้นสอบสวนเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2534 หลังเกิดเหตุเพียงวันเดียวตามเอกสารหมาย ล.1 ที่ว่าเวลา 22 นาฬิกา พยานเดินออกจากร้านของนางสนิทไปทางด้านทิศเหนือแล้วหยุดนั่งดูอยู่ห่างประมาณ 10 เมตร ส่วนนายวิชัยและนายเชาว์นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ออกจากร้านไปทางด้านทิศใต้ พยานได้ยินเสียงโครมครามดังจากหน้าร้านแล้วเสียงปืนดัง 1 นัดเว้นระยะ 2 นาที เสียงปืนดังอีก 1 นัด พยานตกใจกลัวจึงวิ่งหนีกลับบ้าน จะเห็นได้ว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณาขัดแย้งกับคำให้การในชั้นสอบสวนที่ได้ให้การไว้แต่เดิม น่าเชื่อว่าความจริงเป็นไปตามคำให้การในชั้นสอบสวนยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณาในข้อที่ว่า นายถนอมพยานไม่ได้เห็นเหตุการณ์ขณะที่จำเลยยิงผู้ตาย เนื่องจากนายถนอมนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของนายวิชัยออกไปจากที่ร้านค้าก่อนเกิดเหตุเล็กน้อย ทั้งยังสอดคล้องกับคำเบิกความของนายวิชัยอีกว่า พอนายวิชัยขับรถจักรยานยนต์ออกจากร้านค้าแล้ว จึงได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด และเมื่อนายวิชัยตอบทนายจำเลยถามค้านก็ได้ความอีกว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงใคร พยานไม่ทราบ ดังนี้ ย่อมฟังยุติได้ว่า นายวิชัยก็ไม่เห็นว่าจำเลยยิงผู้ตายในลักษณะอย่างไร เพราะขับรถจักรยานยนต์ออกจากที่เกิดเหตุไปพร้อมกับนายถนอม ฉะนั้น โจทก์คงมีแต่นางสมปอง ครองสิน น้องสาวจำเลยและนายเชาว์ หลิ่มน้อย เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ โดยนางสมปองเบิกความว่าจำเลยวิ่งเข้าไปในร้านเอาอาวุธปืนมายิงผู้ตาย 1 นัด ขณะที่ผู้ตายกอดปล้ำนางสนิทที่หน้าร้าน ถูกผู้ตายล้มลง หลังจากนั้นพยานกับนางสนิทวิ่งไปข้างร้าน ผู้ตายจึงหยิบมีดเหลียนซึ่งอยู่ข้าง ๆ ขึ้นมาเข้ามาจะฟันจำเลย จำเลยจึงยิงซ้ำ ส่วนนายเชาว์เบิกความว่าพยานเข้าไปดึงผู้ตายออกมาจากร้าน เสียงปืนดัง 1 นัด พยานหันไปดูเห็น จำเลยถืออาวุธปืนแล้วผู้ตายคว้ามีดเหลียนเดินเข้ามาหาจำเลยซึ่งยืนอยู่ห่าง 1 เมตร จำเลยจึงยิงซ้ำ ศาลฎีกาเห็นว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าวขัดกับคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับผู้ตายโดยตรง เพราะในชั้นสอบสวนจำเลยมิได้ให้การอ้างว่า ผู้ตายถือมีดเหลียนเข้ามาจะฟันจำเลยในลักษณะที่เห็นได้ว่าจำเลยจำต้องใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเพื่อป้องกันตัวแต่จำเลยรับว่าใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย 2 นัดติดต่อกัน ซึ่งตามธรรมดาแล้วผู้กระทำผิดทั้งหลายที่หลบหนีการจับกุม ย่อมมีโอกาสและเวลาไตร่ตรองหาข้อต่อสู้ปฏิเสธความผิดของตนเมื่อถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมอยู่แล้ว แต่จำเลยมิได้ยกเหตุผลที่จำเลยต้องยิงผู้ตายเป็นนัดที่สองขึ้นอ้างต่อพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่เป็นข้อสำคัญเรื่องที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหากผู้ตายใช้มีดเหลียนจะมาฟันจำเลยจริงแล้ว จำเลยย่อมจะต้องให้การกับพนักงานสอบสวนเช่นนั้นอย่างแน่นอน ทั้งจำเลยยังสมัครใจนำพนักงานสอบสวนไปชี้ที่เกิดเหตุแล้วถ่ายรูปประกอบคำรับสารภาพ ไม่มีตอนใดเลยที่จำเลยอ้างต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่า ผู้ตายจะเข้ามาทำร้ายหลังจากที่จำเลยยิงผู้ตายไปแล้ว 1 นัด แต่จำเลยและนายสมัย ดีวรรณ น้องเขยจำเลยซึ่งมาเบิกความ พยานจำเลยเพิ่งจะยกข้อต่อสู้และให้การในชั้นพิจารณาว่าผู้ตายจะใช้มีดเหลียนฟันจำเลย จำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นการป้องกันตัว ข้อต่อสู้ดังกล่าวจึงขาดเหตุผลและน้ำหนัก พยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ตายเมาสุราเข้าไปในร้านของนางสนิทผู้ตายบีบคอนางสนิทบนเตียงนอนผู้ตายถอดเสื้อแล้วเข้ามากอดปล้ำทำอนาจารนางสนิท และลากนางสนิทออกมาจากร้าน ถือว่าเป็นการทำร้ายร่างกายและข่มเหงจิตใจนางสนิทอย่างร้ายแรง จำเลยซึ่งเป็นน้องชายนางสนิทอยู่ในเหตุการณ์ย่อมมีสิทธิที่จะป้องกันภัยอันตรายในขณะนั้นแทนนางสนิทได้ แต่ผู้ตายไม่มีอาวุธ เมื่อจำเลยยิงผู้ตายขณะกอดปล้ำนางสนิท 1 นัด ถูกที่หัวไหล่ซ้ายแล้วผู้ตายล้มลงแสดงว่าจำเลยหยุดยั้งผู้ตายไม่ให้กระทำต่อนางสนิทได้พอแล้ว แม้ผู้ตายจะลุกขึ้นมาจะเข้ามาทำร้ายจำเลยอีกแต่สภาพของผู้ตายยังเมาสุราและถูกยิงได้รับบาดเจ็บ ย่อมไม่สามารถต่อสู้กับจำเลยได้อีก การที่จำเลยยิงผู้ตายซ้ำที่หน้าท้องจนผู้ตายล้มลงถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำที่ป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ และเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็นตามมาตรา 69 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 69 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยในข้อหานี้มีกำหนด 9 ปี ก่อนลดโทษนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าหนักเกินไป เพราะตามพฤติการณ์ผู้ตายเป็นผู้ก่อเหตุเข้าไปในเคหสถานลวนลามกระทำอนาจารพี่สาวจำเลย แม้กระทั่งพวกของผู้ตายที่เข้าไปช่วยก็ถูกผู้ตายทำร้าย ผู้ตายไม่ยอมเชื่อฟัง จึงสมควรแก้ไขโทษจำคุกของจำเลยให้เหมาะสมแก่รูปคดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 69 ให้จำคุก 4 ปี 6 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกข้อหามีอาวุธปืนอีก 4 เดือนแล้ว คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 3 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6