คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2616/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ใบทะเบียนการสมรสมิได้ประทับตรานายทะเบียน ก็หาทำให้ทะเบียนการสมรสไม่สมบูรณ์หรือเป็นโมฆะ เพราะพระราชบัญญัติการจดทะเบียนครอบครัวฯ กำหนดเพียงให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ มิได้มีบทบัญญัติว่าต้องประทับตรานายทะเบียนแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์กับนายกิตติ อินทรเสนเป็นสามีภริยาถูกต้องตามกฎหมาย จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 24กรกฎาคม 2524 ระหว่างอยู่กินไม่มีบุตรด้วยกัน และเมื่อประมาณปลายปี 2540 โจทก์ทราบว่านายกิตติจดทะเบียนสมรสกับจำเลยโดยจำเลยรู้ว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายกิตติโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยและนายกิตติไปจดทะเบียนหย่า แต่บุคคลทั้งสองเพิกเฉย โจทก์ไม่มีวิธีอื่นใดจะบังคับจำเลยได้ ขอให้พิพากษาให้การจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยกับนายกิตติ อินทรเสน เป็นโมฆะ

จำเลยให้การว่า โจทก์กับนายกิตติจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 19กุมภาพันธ์ 2512 และจดทะเบียนหย่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2524และจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับนายกิตติ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม2534 จริง ระหว่างอยู่กินมีบุตรด้วยกัน 1 คน ส่วนการสมรสระหว่างโจทก์กับนายกิตติ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2524 ไม่มีลายมือชื่อหรือตำแหน่งเจ้าหน้าที่ลงชื่อกำกับรับรอง ทำให้การสมรสระหว่างโจทก์กับนายกิตติไม่สมบูรณ์ และตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้การสมรสระหว่างจำเลยกับนายกิตติอินทรเสน ตกเป็นโมฆะ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วคดีคงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสกับนายกิตติอินทรเสน ตามใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย จ.1 โดยชอบหรือไม่เห็นว่า นายชลอ คำนวณสิบ ซึ่งเคยรับราชการตำแหน่งนายอำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร เบิกความเป็นพยานโจทก์ยืนยันว่า เมื่อปี 2524ขณะที่พยานเป็นนายอำเภออยู่นั้นโจทก์และนายกิตติได้มาจดทะเบียนสมรสที่อำเภอสามง่าม พยานได้สอบปากคำคู่สมรส และให้เจ้าหน้าที่ของอำเภอเป็นผู้ดำเนินการจดรายละเอียดต่าง ๆ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 พยานได้ลงลายมือชื่อในฐานะนายทะเบียน หลังจากนั้นพยานได้ออกใบสำคัญการสมรสให้ตามเอกสารหมาย จ.1 โดยพยานได้ลงลายมือชื่อเป็นนายทะเบียนพร้อมประทับตราด้วย นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ของอำเภอยังได้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการสมรสไว้ที่ด้านหลังของเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 1 ถึง ข้อ 3 ส่วนพยานได้บันทึกเพิ่มเติมในข้อ 4เพราะคู่สมรสต้องการให้ระบุเรื่องทรัพย์สินให้ชัดเจน พยานโจทก์ดังกล่าวแม้เป็นพี่ชายโจทก์ แต่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐ ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่ากระทำการดังกล่าวโดยไม่ชอบเพื่อกลั่นแกล้งนายกิตติจึงรับฟังได้แน่ชัดประกอบพยานเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ว่า โจทก์และนายกิตติจดทะเบียนสมรส เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2524 โดยชอบด้วยกฎหมายทุกประการ คำเบิกความของนายกิตติที่อ้างว่าได้ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.2 ขณะที่ยังไม่มีการเขียนรายละเอียดข้อความใด ๆลงในเอกสาร โดยพี่สาวโจทก์เป็นผู้นำมาให้ลงชื่อที่บ้านพักจังหวัดพิษณุโลก มิได้อยู่ต่อหน้านายทะเบียนที่อำเภอนั้น เป็นคำกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดสนับสนุน ไม่อาจหักล้างพยานเอกสารอันเป็นของทางราชการและคำเบิกความของนายทะเบียนซึ่งรับรองว่าเป็นผู้ทำเอกสารดังกล่าวขึ้นถูกต้องและเป็นจริงได้ แม้เอกสารหมายจ.2 มิได้ประทับตรานายทะเบียน ก็มิได้ทำให้ทะเบียนการสมรสไม่สมบูรณ์หรือเป็นโมฆะ เพราะพระราชบัญญัติการจดทะเบียนครอบครัวพุทธศักราช 2478 กำหนดเพียงแต่ให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญเท่านั้นมิได้มีบทบัญญัติว่าต้องประทับตรานายทะเบียนแต่อย่างใด ส่วนลายมือที่บันทึกด้านหลังเอกสารหมาย จ.2 ที่แตกต่างกันนั้น นายทะเบียนได้ยืนยันแล้วว่าเจ้าหน้าที่อำเภอเป็นผู้เขียนในข้อ 1 ถึงข้อ 3 และตนเป็นผู้เขียนข้อ 4 จึงมีเหตุผลที่รับฟังได้ หาเป็นพิรุธสงสัยที่จะทำให้การจดทะเบียนสมรสดังกล่าวไม่ชอบแต่อย่างใดไม่ เมื่อจำเลยและนายกิตติจดทะเบียนสมรสในปี 2534 ขณะที่โจทก์และนายกิตติจดทะเบียนสมรสอยู่ก่อนแล้วและยังมิได้มีการจดทะเบียนหย่า การสมรสระหว่างจำเลยและนายกิตติจึงตกเป็นโมฆะ”

พิพากษายืน

Share