แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เดิมถูกยกเลิกไปแล้วโดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 3 ขณะฟ้องคดีนี้เป็นเวลาที่ใช้บรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่ การเรียกค่าเลี้ยงชีพต้องบังคับตามบทบัญญัติบรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1526 ซึ่งจะเรียกได้ก็ต่อเมื่อมีคดีหย่าและจะต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งเรียกมาในคดีหย่านั้นและศาลจะสั่งให้ได้ก็ต่อเมื่อปรากฏว่าเหตุแห่งการหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียวกรณีคดีนี้โจทก์จำเลยได้ตกลงหย่ากันเองและจดทะเบียนหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายโดยไม่มีคดีฟ้องหย่าต่อศาลจึงไม่มีกรณีที่จะถือได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของฝ่ายใด เมื่อมิได้ตกลงกันไว้ในเรื่องค่าเลี้ยงชีพย่อมไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะมาเรียกค่าเลี้ยงชีพจากกันภายหลังหย่ากันแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์จำเลยได้จดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยากันเมื่อ พ.ศ. 2508 และได้ตกลงจดทะเบียนหย่ากันเมื่อ พ.ศ. 2519 หลังจากหย่าจากจำเลยแล้วโจทก์ยากจนลงจึงฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์เดือนละ 1,000 บาท
จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพ จำเลยเองก็เป็นคนยากจนมีบุตรที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูถึง 4 คน เงินเดือนที่จำเลยได้รับอยู่ก็ไม่พอเลี้ยงชีพอยู่แล้วโจทก์มีฐานะดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ 800 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะฟ้อง คดีนี้เป็นเวลาที่บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ตรวจชำระใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ให้ยกเลิกบทบัญญัติบรรพ 5 เดิม และให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 ใหม่นี้แทน เว้นแต่ในกรณีที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติยกเว้นเป็นอย่างอื่น ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติยกเว้นไว้ในเรื่องนี้ ฉะนั้น การวินิจฉัยปัญหาค่าเลี้ยงชีพจึงต้องอาศัยมาตรา 1526 ที่ตรวจชำระใหม่ซึ่งให้เรียกได้ต่อเมื่อมีคดีหย่า และถ้าเหตุแห่งการหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง และสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพนั้นกฎหมายมาตราดังกล่าวบัญญัติให้เป็นที่สุดถ้ามิได้ฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดีหย่านั้น
ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า โจทก์จำเลยได้ตกลงหย่ากันเองและจดทะเบียนหย่ากันด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายโดยไม่มีคดีฟ้องหย่าต่อศาล จึงไม่มีกรณีที่จะถือได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของฝ่ายใด การที่โจทก์จำเลยทำสัญญาหย่ากันเองนั้น แต่ละฝ่ายย่อมต้องรู้ดีว่าหลังจากหย่าแล้วตนจะต้องเป็นที่พึ่งของตนเอง คู่สมรสชอบที่จะทำความตกลงในเรื่องค่าเลี้ยงชีพไว้เพื่อให้มีผลบังคับในรูปสัญญาประนีประนอมยอมความในการหย่า หากไม่ได้ทำความตกลงกันไว้ก็ย่อมไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะมาเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพจากอีกฝ่ายหนึ่งหลังจากหย่าแล้วได้ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์สัญญาหย่าระหว่างโจทก์จำเลยแล้วแต่ไม่ปรากฏว่ามี
ที่โจทก์ฎีกาว่าเคยฟ้องแย้งเรียกค่าเลี้ยงชีพในคดีที่จำเลยฟ้องขอแบ่งทรัพย์ระหว่างสามีภริยาจากโจทก์ แต่ศาลแพ่งไม่รับฟ้องแย้งจึงได้มาฟ้องเป็นคดีนี้นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วมาตรา 1526 ดังกล่าวบัญญัติไว้ชัดว่าการฟ้องหรือฟ้องแย้งเรียกค่าเลี้ยงชีพนั้นจะต้องกระทำในคดีหย่า แต่ฟ้องแย้งที่โจทก์อ้างมานี้เป็นฟ้องแย้งในคดีแบ่งทรัพย์สิน ไม่เข้ามาตรา 1526 สิทธิของโจทก์เป็นอันสิ้นสุดไปพร้อมกับการหย่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว
พิพากษายืน