คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 320/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เรียกประกวดราคาซื้อตะปูสปริงจำเลยประกวดราคาได้แต่จำเลยไม่มาทำสัญญาซื้อขายปรากฏข้อความตามใบประกวดราคาข้อ 9 ว่า ผู้ประกวดราคาได้จะต้องทำสัญญาภายใน 3 วันมิฉะนั้นเงินมัดจำซองจำต้องถูกริบและถ้าโจทก์ต้องซื้อของตามที่ประกวดราคาแพงไปจากที่ผู้ประกวดราคาได้เสนอไว้เท่าใดผู้ประกวดราคาจะต้องชดใช้ราคาที่แพงขึ้นนั้นให้โจทก์ทั้งสิ้นอีกโสดหนึ่งด้วยดังนี้ เป็นการที่คู่กรณีได้ตกลงทำสัญญาให้มีผลบังคับกันอีกต่างหากว่าถ้าจำเลยไม่ทำสัญญาขายตะปูสปริงให้แก่โจทก์ตามใบประกวดราคานั้นจำเลยจะต้องใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่โจทก์ฉะนั้นเมื่อจำเลยไม่ทำสัญญากับโจทก์โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามข้อตกลงนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ประกาศเรียกประกวดราคาซื้อตะปูสปริง 3 รายการ จำเลยเสนอขายตามใบประกวดราคาเลขที่ 16191 ซึ่งจำเลยเป็นผู้ประกวดราคาได้ โจทก์ตอบตกลงซื้อตะปูสปริงทั้ง 3 รายการจากจำเลยแล้ว กับให้จำเลยมาทำสัญญาซื้อขายภายใน 3 วัน จำเลยเพิกเฉย โจทก์เตือนหลายครั้ง จำเลยก็ไม่มาทำสัญญา โจทก์ถือว่าจำเลยไม่ประสงค์จะขายตะปูสปริงให้แก่โจทก์ จึงมีหนังสือแจ้งริบเงินมัดจำซอง และสงวนสิทธิที่จะเรียกร้องค่าซื้อของแพงขึ้นตามเงื่อนไขแห่งข้อสัญญาในการประกวดราคาข้อ 9 โจทก์เรียกประกวดราคาใหม่ ผลปรากฏว่าโจทก์ต้องซื้อตะปูสปริงตามจำนวนเดิมจากนายพิทักษ์แพงขึ้นจากราคาที่จำเลยเสนอ 1,264,900 บาท ขอให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เงื่อนไขการประกวดราคาท้ายฟ้องเป็นโมฆะเพราะตามเงื่อนไขการประกวดราคาผู้ประกวดราคาต้องแสดงหลักฐานคุณสมบัติตะปูสปริงที่เคยผลิต ประสบการณ์และความสามารถในการผลิตเป็นต้น พร้อมใบประกวดราคา และต้องให้วิศวกรผู้แทนโจทก์ไปตรวจสอบแหล่งการผลิต เมื่อวิศวกรตรวจสอบแล้วคณะกรรมการมีมติว่าจำเลยไม่มีคุณสมบัติ การยื่นซองประกวดราคาของจำเลยจึงเป็นการแสดงเจตนาสำคัญผิดในสารสำคัญแห่งนิติกรรมตกเป็นโมฆะ จำเลยเพียงแต่ยื่นซองประกวดราคาผู้ประมูลได้ต้องทำสัญญาการซื้อขายกับโจทก์อีกครั้งหนึ่ง จึงถือไม่ได้ว่ามีสัญญาต่อกันแล้ว เมื่อสัญญายังไม่เกิดโจทก์จึงมีสิทธิริบได้เพียงเงินมัดจำซอง ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าซื้อของแพง อย่างไรก็ดีหากโจทก์ตกลงซื้อตะปูสปริงจากร้านสมบูรณ์ยนต์ผู้ประกวดราคารายถัดไปโจทก์จะไม่เสียหายตามฟ้อง โจทก์ไม่บรรเทาความเสียหายกลับให้ประกวดราคาใหม่ โจทก์มีส่วนรับผิดในความเสียหาย และเมื่อนิติกรรมตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำซองขอให้พิพากษายกฟ้องและคืนเงินมัดจำซอง

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า การแสดงเจตนาของจำเลยไม่เป็นโมฆะ เมื่อโจทก์ได้ตอบตกลงซื้อตะปูสปริงไปยังจำเลยภายในกำหนดเวลายื่นราคาของจำเลยแล้ว ย่อมก่อให้เกิดสัญญาผูกพันจำเลยที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งสัญญาตามใบประกวดราคานั้น แต่จำเลยไม่ปฏิบัติโจทก์จึงมีสิทธิริบเงินมัดจำซองได้

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การประกวดราคาของจำเลยไม่เป็นโมฆะตามใบประกวดราคาผู้ขายจะต้องทำสัญญากับโจทก์อีกครั้งหนึ่ง เมื่อยังไม่ได้ทำสัญญากันสัญญาซื้อขายยังไม่เกิดขึ้น แต่โจทก์มีสิทธิริบเงินมัดจำซองและเรียกค่าเสียหายที่จำเลยไม่ไปทำสัญญาตามเงื่อนไขในใบประกวดราคาที่ว่า นอกจากโจทก์มีสิทธิริบเงินมัดจำซองแล้ว ถ้าโจทก์ต้องซื้อของตามที่ประกวดราคาแพงขึ้นไปจากราคาที่เสนอไว้เป็นจำนวนเท่าใด ผู้ประกวดราคาต้องชดใช้ราคาที่แพงขึ้นอีกโสดหนึ่งด้วย แต่โจทก์ไม่บรรเทาความเสียหายด้วยการซื้อจากผู้ให้ราคาถัดไปจึงคิดค่าเสียหายให้ 1,000,000 บาท เงินค่ามัดจำซองที่โจทก์ริบแล้วเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายต้องหักออก พิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 945,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ และยกฟ้องแย้ง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การประกวดราคาของจำเลยไม่ตกเป็นโมฆะเมื่อจำเลยไม่ไปทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในใบประกวดราคา โจทก์ก็มีสิทธิริบเงินมัดจำซองเสียได้ แล้ววินิจฉัยฎีกาของจำเลยตอนหนึ่งว่า ที่จำเลยฎีกาว่าเรื่องนี้จำเลยเพียงยื่นประกวดราคาไว้เท่านั้น ยังไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์ตามที่กำหนดไว้ในใบประกวดราคาข้อ 9 จึงถือว่ายังไม่มีสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าซื้อของแพงขึ้นจากจำเลยนั้น ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยไม่ไปทำสัญญาขายตะปูสปริงให้แก่โจทก์ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในใบประกวดราคา จนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียหายต้องซื้อตะปูสปริงจากผู้อื่นแพงขึ้น โจทก์ไม่ได้ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาซื้อขาย ฉะนั้น ศาลฎีกาจะวินิจฉัยแต่เพียงว่าตามใบประกวดราคาโจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่ โดยไม่ต้องวินิจฉัยว่าได้เกิดสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยแล้วหรือไม่ ข้อนี้ปรากฏตามใบประกวดราคาข้อ 9 ว่า ผู้ประกวดราคาได้จะต้องทำสัญญาภายใน3 วัน มิฉะนั้นเงินมัดจำซองจะต้องถูกริบ และถ้าการรถไฟแห่งประเทศไทยต้องซื้อของตามที่ประกวดราคานี้แพงไปจากที่ผู้ประกวดราคาได้เสนอไว้เท่าใด ผู้ประกวดราคาจะต้องชดใช้ราคาที่แพงขึ้นนั้นให้การรถไฟทั้งสิ้นอีกโสดหนึ่งด้วย ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยยื่นใบประกวดราคาโดยมีเงื่อนไขดังกล่าว และโจทก์ตกลงตามนั้นและแจ้งให้จำเลยทราบแล้ว จึงเป็นเรื่องที่คู่กรณีได้ตกลงทำสัญญาให้มีผลบังคับกันอีกต่างหากว่า ถ้าจำเลยไม่ทำสัญญาขายตะปูสปริงให้โจทก์ตามใบประกวดราคานั้น จำเลยจะต้องใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ไปทำสัญญากับโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายตามข้อตกลงนี้ได้ ส่วนค่าเสียหายเมื่อหักเงินมัดจำซองแล้วควรให้จำเลยชดใช้เพียง 706,800 บาท

พิพากษาแก้ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 706,800 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share