คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2565/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินที่จำเลยซื้อจาก พ. เป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งมีรูปแผนที่แสดงอาณาเขตและเขตติดต่อไว้อย่างชัดแจ้ง การซื้อขายได้มีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยย่อมทราบเป็นอย่างดีว่าที่ดินที่ซื้อด้านทิศตะวันตกติดทางสาธารณประโยชน์มิใช่ที่รกร้างว่างเปล่าเมื่อจำเลยปลูกสร้างบ้านและอาคารโรงงานล้ำเข้าไปในทางสาธารณประโยชน์จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาเพื่อจะยึดถือครอบครองทางสาธารณประโยชน์เป็นของตนเอง จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ
ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณารับฟังได้ว่าตามวันเวลาเกิดเหตุในฟ้องจำเลยยังยึดถือครอบครองที่พิพาทอันเป็นความผิดอยู่ ย่อมเป็นข้อเท็จจริงที่ตรงกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้หาใช่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องอันเป็นสาระสำคัญที่จะต้องพิพากษายกฟ้อง
จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐหลังจากประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 9(1)ประกอบมาตรา 108 ทวิ บัญญัติให้การเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐเป็นความผิดในทันทีที่เข้าไปยึดถือครอบครองโดยไม่จำต้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งและมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามเสียก่อน โจทก์ไม่ได้บรรยายข้อความดังกล่าวไว้ก็ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิด
จำเลยเริ่มเข้ายึดถือครอบครองที่พิพาทตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมาอันถือเป็นวันเริ่มต้นกระทำความผิดก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าหลังจากนั้นจำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่พิพาทตลอดมา จึงเป็นความผิดต่อเนื่องอยู่ทุกขณะ ตราบเท่าที่จำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่พิพาทอยู่ เมื่อโจทก์ฟ้องยังไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันกระทำความผิด คดีจึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9,108 ทวิ และให้จำเลยกับบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินนั้นด้วย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9, 108 ทวิ (ที่ถูกเป็นมาตรา 9(1), 108 ทวิ วรรคสอง) จำคุก 9 เดือนให้จำเลยและบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินนั้นด้วย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยสร้างบ้านและอาคารโรงงานล้ำเข้าไปในทางสาธารณประโยชน์โดยไม่เจตนา เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นที่รกร้างว่างเปล่านั้น เห็นว่า ที่ดินที่จำเลยซื้อจากนายพร้อมจิตต์เป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งมีรูปแผนที่แสดงอาณาเขตและเขตติดต่อไว้อย่างชัดแจ้งว่าทางด้านทิศตะวันตกตลอดแนวติดทางสาธารณประโยชน์การซื้อขายได้มีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งแนบแผนที่ที่แสดงขอบเขตของที่ดินที่ซื้อขายไว้ด้วย ดังนั้น จำเลยย่อมทราบเป็นอย่างดีว่าที่ดินที่ซื้อด้านทิศตะวันตกติดทางสาธารณประโยชน์มิใช่ที่รกร้างว่างเปล่าที่จำเลยนำสืบอ้างว่านายคณา ภูมิวัฒน์ บุตรนายพร้อมจิตต์เป็นผู้ชี้แนวเขต จำเลยจึงปลูกสร้างบ้านและอาคารโรงงานไปตามนั้น ก็ได้ความจากนายคณาพยานจำเลยเบิกความตอบอัยการโจทก์ถามค้านว่า ขณะซื้อขายพยานแจ้งแก่จำเลยว่าขายที่ดินตามหลักฐานในหนังสือรับรองการทำประโยชน์จึงไม่มีความจำเป็นอันใดที่นายคณาจะนำชี้แนวเขตที่ดินให้ผิดไปจากรูปแผนที่ ข้ออ้างของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้นและแม้นายอนันต์ รัตนอุทัยกูลช่างรังวัด นายวิเชียร จรินทร์ ช่างโยธาสุขาภิบาลและนายเลียบ พราหม์ชนพยานโจทก์จะเบิกความทำนองเดียวกันว่าปัจจุบันบริเวณที่พิพาทไม่มีสภาพเป็นทางแล้วเป็นที่รก ไม่มีชาวบ้านใช้สัญจรไปมา ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังและหาได้ทำให้ทางสาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันเปลี่ยนสภาพเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่จำเลยสามารถเข้ายึดถือครอบครองแต่อย่างใดไม่ จำเลยรู้แต่แรกว่าที่ดินของจำเลยทางด้านทิศตะวันตกติดทางสาธารณประโยชน์ตลอดแนว การที่จำเลยปลูกสร้างบ้านและอาคารโรงงานล้ำเข้าไปในทางสาธารณประโยชน์จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาเพื่อจะยึดถือครอบครองทางสาธารณประโยชน์เป็นของตนเองจำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยฎีกาประการต่อไปว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดที่ปรากฏในทางพิจารณาต่างจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในฟ้องซึ่งเป็นสาระสำคัญและจำเลยหลงข้อต่อสู้ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสองได้นั้นเห็นว่า คดีนี้แม้ฟ้องโจทก์ระบุว่าจำเลยกระทำผิดตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม2538 จนถึงวันฟ้องและทางพิจารณาโจทก์นำสืบรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตั้งแต่ปี 2523 ซึ่งเป็นเวลาห่างกันหลายปีก็ตาม แต่ความผิดที่โจทก์ฟ้องเกิดขึ้นตั้งแต่ขณะจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองเอาที่พิพาทซึ่งเป็นของรัฐและจะยังคงเป็นความผิดเช่นนั้นตลอดไปจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่พิพาท เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณารับฟังได้ว่าตามวันเวลาเกิดเหตุในฟ้องจำเลยยังยึดถือครอบครองที่พิพาทอันเป็นความผิดอยู่ย่อมเป็นข้อเท็จจริงที่ตรงกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้กรณีหาใช่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องอันเป็นข้อสาระสำคัญที่จะต้องพิพากษายกฟ้องดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใดไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยฎีกาประการต่อไปว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องมาด้วยว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ได้แจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว จำเลยเพิกเฉยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบและพนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยออกไปจากที่ดินดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้วจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญไม่ครบองค์ประกอบความผิดลงโทษจำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่าการที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องแจ้งและมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามก่อน หากจำเลยไม่ยอมปฏิบัติจึงจะมีความผิดนั้น ต้องเป็นกรณีที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 4มีนาคม 2515 ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9(1) ประกอบมาตรา 108 วรรคหนึ่ง แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2538 อันเป็นวันหลังจากประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9(1)ประกอบมาตรา 108 ทวิ บัญญัติให้การเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐเป็นความผิดในทันทีที่เข้าไปยึดถือครอบครองโดยไม่จำต้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งและมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามเสียก่อน ที่โจทก์ไม่ได้บรรยายข้อความดังกล่าวไว้หาทำให้ฟ้องโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิดดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใดไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยฎีกาประการต่อไปว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3) เพราะนับจากปี 2523 ซึ่งจำเลยเริ่มเข้ายึดถือครอบครองที่พิพาทจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกิน 10 ปี แล้วนั้นเห็นว่า แม้ทางพิจารณาข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยเริ่มเข้ายึดถือครอบครองที่พิพาทตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา อันถือเป็นวันเริ่มต้นกระทำความผิดก็ตามแต่เมื่อปรากฏว่าหลังจากนั้นจำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่พิพาทตลอดมาจึงเป็นความผิดต่อเนื่องอยู่ทุกขณะ ตราบเท่าที่จำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่พิพาทอยู่ ดังนี้ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า ที่ดินของรัฐที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองมีเนื้อที่ไม่มากนัก ปัจจุบันประชาชนทั่วไปมิได้ใช้ประโยชน์ กรณีจึงไม่ใช่ความผิดที่ร้ายแรง จำเลยประกอบอาชีพสุจริตมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน ไม่ปรากฏว่าเคยรับโทษจำคุกมาก่อน สมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีสักครั้ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำและสำนึกในการกระทำสมควรลงโทษปรับจำเลยด้วย”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 10,000 บาทอีกสถานหนึ่งโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share