คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2068/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยก่อสร้างระเบียงรุกล้ำทางเดินเท้าโดยทำพื้นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กและมีหลังคาอะลูมิเนียมปกคลุม เป็นการยึดถือครอบครองและทำให้เสียหายทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทางเดินเท้า เป็นความผิดฐานยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้และมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิด ต่อกฎหมายหลายบท เมื่อลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้และมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดแล้ว จึงไม่อาจอาศัยบทเบาตามประมวลกฎหมายที่ดินฯมาตรา 108 ทวิ วรรคสองมาบังคับให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินที่เข้ายึดถือครอบครองได้ เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360ไม่ได้บัญญัติข้อบังคับดังกล่าวไว้
พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาให้จำเลยทราบโดยสรุปว่าจำเลยก่อสร้างบ้านรุกล้ำที่สาธารณะ จำเลยย่อมเข้าใจและทราบได้ดีว่าที่ดินที่ถูกกล่าวหาว่าก่อสร้างอาคารรุกล้ำคือที่ดินที่อยู่ติดกับอาคารของจำเลยจึงถือว่ามีการสอบสวนในความผิดดังกล่าวโดยชอบแล้ว โจทก์บรรยายฟ้องมาครั้งแรกผิดพลาดและขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเป็นความบกพร่องของโจทก์ไม่ทำให้การสอบสวนที่ชอบแล้วกลับกลายเป็นไม่ชอบไปได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9, 108 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ให้จำเลย คนงานผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินที่เข้าไปยึดถือครอบครอง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9(1), 108 ทวิ วรรคสอง วรรคสี่ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 360 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปีให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินที่เข้ายึดถือครอบครอง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่จำเลยก่อสร้างระเบียงรุกล้ำทางเดินเท้าโดยทำพื้นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก และมีหลังคาอะลูมิเนียมปกคลุมเป็นการยึดถือครอบครองและทำให้เสียหาย ทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทางเดินเท้าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันและฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้และมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้ และมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดแล้วจึงไม่อาจอาศัยบทเบาตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสองมาบังคับให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินที่เข้ายึดถือครอบครองตามที่โจทก์ขอได้เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ไม่ได้บัญญัติข้อบังคับดังกล่าวไว้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

ส่วนที่จำเลยแก้ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเดิมโจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ก่อสร้างอาคารทำพื้นคอนกรีตต่อจากหน้าอาคารที่จำเลยได้สร้างในที่ดินของจำเลยตามบ้านเลขที่ 41/104 ถนนราชวิถี – นครไชยศรีแขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร รุกล้ำเข้าไปในบริเวณทางเดินเท้าถนนลอดใต้สะพานกรุงธนสูงจากทางเดินเท้าเดิมประมาณ 55 เซนติเมตรคิดเป็นเนื้อที่ 14 ตารางวา และต่อมาขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องจากข้อความเดิมที่ว่า”คิดเป็นเนื้อที่ 14 ตารางวา” เป็นข้อความใหม่ว่า “เป็นรูปสามเหลี่ยมชายธงยาว13.90 เมตร กว้าง 0.60 เมตร” และนำสืบว่าจำเลยก่อสร้างบ้านเลขที่ดังกล่าวห่างจากที่ดินที่กล่าวหาจำเลยในครั้งแรก 100 เมตร ประเด็นของคดีดังกล่าวจึงยังมิได้ทำการสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทราบตามกฎหมายถือว่ายังไม่มีการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น โจทก์มีร้อยตำรวจโทวราวุธ เจริญชนม์ เบิกความยืนยันว่าเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ได้แจ้งข้อหาให้จำเลยทราบแล้ว โดยสรุปว่าจำเลยก่อสร้างบ้านเลขที่ 41/104 รุกล้ำที่สาธารณะ จำเลยย่อมเข้าใจและทราบได้ดีว่าที่ดินที่ถูกกล่าวหาว่าก่อสร้างอาคารรุกล้ำนั้นคือที่ดินที่อยู่ติดกับอาคารของจำเลย จึงถือว่ามีการสอบสวนในความผิดดังกล่าวโดยชอบแล้ว การที่โจทก์บรรยายฟ้องมาครั้งแรกผิดพลาดนั้นเป็นความบกพร่องของโจทก์ จึงไม่ทำให้การสอบสวนที่ชอบแล้วกลับกลายเป็นไม่ชอบไปได้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องแต่ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกจำเลย 2 ปี นั้นหนักเกินไป สมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี”

พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9(1), 108 ทวิ วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษ ทั้งนี้นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้งตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ย

Share