แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ. องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยฯ มาตรา 38 กำหนดให้ผู้อำนวยการเป็นผู้กระทำการในนาม ขององค์การโทรศัพท์ฯ และเป็นตัวแทนขององค์การโทรศัพท์ฯ ดังนั้น วันที่ถือว่าโจทก์ทราบคือวันที่ผู้อำนวยการรู้ถึง การละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เว้นแต่ผู้อำนวยการจะตั้งตัวแทนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ การที่ บ. หัวหน้าหน่วยบำรุงรักษาซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลทรัพย์สินของโจทก์มอบอำนาจให้ ค. ไปแจ้งความ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบที่วางไว้ตามปกติเท่านั้น มิใช่เป็นผู้กระทำแทนผู้อำนวยการของโจทก์เฉพาะเรื่องตามที่ได้รับมอบหมายในลักษณะตัวการตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 อันถือว่ากิจการทุกประการที่ บ. กระทำไปเป็นการกระทำของผู้อำนวยการของโจทก์ เมื่อผู้อำนวยการของโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนจาก บ. เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2538 และโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง โจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัย ค้ำจุนได้ตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยระบุความรับผิดต่อบุคคลภายนอกใน ความเสียหายแก่ทรัพย์สินว่าผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดส่วนแรก 10,000 บาท ต่อครั้ง/ทุกครั้ง จึงต้องหักเงินจำนวนนี้ออกจากค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดเสียก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๗๙๗,๘๙๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๗๔๒,๒๓๑ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทราบถึงเหตุละเมิดและตัวผู้ต้องรับผิดตั้งแต่โจทก์มอบหมายให้ นายคงวิทย์ จันทนานนท์ ไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๓๗ เมื่อนับถึงวันฟ้องแล้วเกินหนึ่งปี คดีจึงขาดอายุความ ค่าเสียหายโจทก์ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดในค่าเสียหายส่วนแรกในอัตราร้อยละ ๑๐ หรือไม่ต่ำกว่า ๕๐,๐๐๐ บาท แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากัน ดังนั้น ถ้าจำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิดจะต้องหักด้วยค่าเสียหายส่วนแรกนี้ก่อน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน ๗๔๒,๒๓๑ บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๗ จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้อง ไม่เกินจำนวน ๕๕,๖๖๖ บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ ๑ รับจ้างการไฟฟ้านครหลวงก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินของสถานีต้นทางพระนครเหนือที่ถนนจรัลสนิทวงศ์ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนการทำงานของ จำเลยที่ ๑ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ดำเนินการขุดเจาะถนนบริเวณสี่แยกบางพลัด ถนนจรัลสนิทวงศ์ กรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้ท่อร้อยสายเคเบิลโทรศัพท์ที่มีท่อพีวีซีหุ้มอยู่ ซึ่งฝังอยู่ใต้ดินและวางขนานไปกับแนวท่อร้อยสายเคเบิลโทรศัพท์ ใต้ดินชนิดหุ้มด้วยคอนกรีตของโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์เป็นผู้ดำเนินการซ่อมแซมท่อร้อยสายเคเบิลโทรศัพท์และอุปกรณ์ให้ใช้การได้ดีดังเดิมและยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๓๘
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ตามหนังสือมอบอำนาจที่นายบุญช่วย น้อยจริง หัวหน้าหน่วยบำรุงรักษามอบอำนาจช่วงให้ นายคงวิทย์ จันทนานนท์ แจ้งความเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๓๗ ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.๑๒ เป็นการกระทำแทนผู้อำนวยการของโจทก์ จึงต้องถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว สำหรับเอกสารหมาย จ.๑๔ ที่นายบุญช่วย มีถึงผู้อำนวยการของโจทก์ เป็นเพียงหนังสือรายงาน ความคืบหน้าต่อผู้อำนวยการของโจทก์เท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตาม พ.ร.บ. องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓๘ ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้กระทำการในนามขององค์การโทรศัพท์ฯ และเป็นตัวแทนของ องค์การโทรศัพท์ฯ ดังนั้น วันที่ถือว่าโจทก์ทราบคือวันที่ผู้อำนวยการรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เว้นแต่ผู้อำนวยการจะตั้งตัวแทนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ ก็ไม่ต้องรายงานหรือขอดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อผู้อำนวยการอีก แต่ทั้งนี้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับที่คณะกรรมการบริหารกิจการของโจทก์กำหนด เพราะผู้อำนวยการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการบริหารกิจการของโจทก์ตามมาตรา ๓๖ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว และเนื่องจากผู้อำนวยการเป็นผู้บริหารกิจการของโจทก์ ตามมาตรา ๓๓ (๒) จึงให้ผู้อำนวยการมีอำนาจวางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของโจทก์ โดยไม่แย้งหรือขัดต่อระเบียบข้อบังคับที่คณะกรรมการวางไว้ การที่นายบุญช่วยหัวหน้าหน่วยบำรุงรักษาซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลทรัพย์สินของโจทก์มอบอำนาจให้นายคงวิทย์ ไปแจ้งความตามเอกสารหมาย จ.๑๒ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายไว้เป็นการล่วงหน้าเท่านั้น ผู้อำนวยการของโจทก์จะไม่มีทางทราบถึงการละเมิดว่าเกิดขึ้น ณ ที่ใด เว้นแต่จะมีการรายงานไปตามขั้นตอน ดังจะเห็นได้จากเอกสารหมาย จ.๑๔ เป็นหนังสือของนายบุญช่วยขออนุมัติดำเนินคดีและยืมเงินทดรองจ่าย ดังนั้น การแจ้งความของนายบุญช่วยหัวหน้าหน่วยบำรุงรักษาจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบที่วางไว้ตามปกติเท่านั้น มิใช่เป็นผู้กระทำแทนผู้อำนวยการของโจทก์เฉพาะเรื่องตามที่ได้รับมอบหมายในลักษณะตัวการตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗๙๗ อันถือว่ากิจการทุกประการที่นายบุญช่วยกระทำไปเป็นการกระทำของผู้อำนวยการของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า ผู้อำนวยการของโจทก์รู้ถึงการทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้สินไหมทดแทนเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๓๗ เมื่อผู้อำนวยการของโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนจากนายบุญช่วย เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๘ และโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๓๘ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความหนึ่งปีตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๘ วรรคหนึ่ง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ ๒ จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ เพียงใด เห็นว่า ความรับผิดของจำเลยที่ ๒ เป็นความรับผิดตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๘๘๗ วรรคสอง บัญญัติว่า “บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทน เช่นว่านี้หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่
” ตามบทบัญญัติดังกล่าว เห็นได้ว่าโจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ ๒ ได้ตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยระบุความรับผิดต่อบุคคลภายนอกในความเสียหายแก่ทรัพย์สินว่าผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดส่วนแรก ๑๐,๐๐๐ บาท ต่อครั้ง/ทุกครั้ง จึงต้องหักเงินจำนวนนี้ออกจากค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดเสียก่อน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ จะยกขึ้นอ้างแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ไม่ได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๗๔๒,๒๓๑ บาท แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดใน เงินจำนวนดังกล่าวด้วยเป็นเงิน ๗๓๒,๒๓๑ บาท พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๓,๐๐๐ บาท แทนโจทก์.