คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4791/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สารวัตรตำรวจและสารวัตรปกครองป้องกันเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(17)จึงมีอำนาจตรวจคนโดยไม่ต้องมีหมายค้นตามมาตรา 92 วรรคสุดท้าย เมื่อมีเหตุให้เชื่อได้ว่ามีของที่ได้มาโดยผิดกฎหมายอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุ หากไม่ทำการตรวจค้นเสียในวันเกิดเหตุ ของที่อยุ่ในบ้านอาจถูกขนไปเสีย การตรวจค้นต่อหน้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองบ้านที่เกิดเหตุและโดยไม่ทำลายกุญแจก็ไม่อาจทำได้ ทั้งการตรวจค้นของจำเลยซึ่งเป็นสารวัตรตำรวจได้กระทำต่อหน้าพยานสองคน การตรวจค้นของจำเลยจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 92,94 และ 102 จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,358,362,364,365(2) เมื่อจำเลยมีอำนาจค้นโดยไม่ต้องมีหมายค้น และมีพฤติการณ์ที่จะออกหมายค้นและทำการค้นได้ ดังนั้นหมายค้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ไม่ทำให้จำเลยไม่มีอำนาจค้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 358, 362, 364, 365(2), 83

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของพนักงานศุลกากรจำเลยที่ 2 เป็นสารวัตรแผนก 5 กองกำกับการสืบสวนตำรวจนครบาลพระนครเหนือ มีหน้าที่จับกุม ตรวจค้น สืบสวนสอบสวน ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดกฎหมาย จำเลยที่ 3 เป็นสารวัตรปกครองป้องกันสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน มีหน้าที่จับกุมตรวจค้น และสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดตามกฎหมายในเขตท้องที่สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(17) จำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยเฉพาะจำเลยที่ 3 มีอำนาจทำการตรวจค้นบ้านที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธินได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นตามมาตรา 92 วรรคสุดท้าย การที่จำเลยทั้งสามเข้าทำการตรวจค้นบ้านที่เกิดเหตุก็เนื่องจากได้รับแจ้งจากสายลับว่ามีของหลบหนีภาษีศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรซุกซ่อนอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุและที่อื่น เมื่อตรวจค้นที่อื่นตามที่รับแจ้งก็พบของตามที่สายลับแจ้งและมีนายอำนาจแสดงตัวว่าเป็นเจ้าของ และรับว่ามีของเก็บไว้ที่บ้านเกิดเหตุ นายอำนาจได้มาที่บ้านเกิดเหตุกับจำเลยแล้วต่อมาใช้อุบายหลบหนีไป และระหว่างที่รอเข้าทำการตรวจค้นจำเลยได้รับแจ้งจากผู้ที่อยู่บ้านติดกับบ้านที่เกิดเหตุว่า เวลากลางคืนมีการขนกล่องของเข้า ๆ ออก ๆ ที่บ้านเกิดเหตุเป็นประจำ ก่อนทำการตรวจค้นได้ติดต่อให้นางอรุณเจ้าของบ้านเกิดเหตุมาที่เกิดเหตุ นางอรุณไม่ยอมมา พฤติการณ์ดังกล่าวมีเหตุให้จำเลยเชื่อได้ว่ามีของซึ่งได้มาโดยผิดกฎหมายอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุ หากไม่ทำการตรวจค้นเสียในวันเกิดเหตุของที่อยู่ในบ้านอาจถูกขนไปเสียได้การเข้าตรวจค้นก็เพื่อพบและยึดของที่ได้มาโดยผิดกฎหมายดังกล่าว การทำการตรวจค้นต่อหน้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองบ้านที่เกิดเหตุและโดยไม่ทำลายกุญแจก็ไม่อาจกระทำได้ เพราะนางอรุณเจ้าของบ้านไม่ยอมมา นายอำนาจซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของของที่อยู่ในบ้านที่เกิดเหตุได้หลบหนีไป ลักษณะเป็นการไม่ยอมให้ทำการตรวจค้น การตรวจค้นของจำเลยกระทำต่อหน้าพยานสองคนการตรวจค้นของจำเลยจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92, 94 และมาตรา 102 จำเลยทั้งสามจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3มีอำนาจที่จะค้นโดยไม่ต้องมีหมายค้น และพฤติการณ์ก็มีเหตุที่จะออกหมายค้นและทำการค้นได้ หมายค้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่มีอำนาจค้น

พิพากษายืน

Share