คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2031/2514

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

มีผู้ปลอมตัวเป็นเจ้าของที่ดินนำซากโฉนดที่ดินซึ่งถูกไฟไหม้บางส่วนไปยื่นคำขอใบแทนโฉนดต่อสำนักงานที่ดิน ซึ่งถ้าหากเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินมิได้ละเลยในการตรวจสอบหรือได้ทำการตรวจสอบโดยไม่ได้ประมาทเลินเล่อก็จะพบได้โดยง่ายและโดยไม่ต้องใช้ความรู้หรือความชำนาญพิเศษอย่างใดว่า ซากโฉนดนั้นเป็นซากโฉนดปลอม เพราะมีข้อความผิดกันกับข้อความที่มีอยู่ในโฉนดฉบับสำนักงานที่ดินหลายแห่ง แต่เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินก็ได้ออกใบแทนโฉนดให้ไปโดยไม่ได้ตรวจสอบซากโฉนดหรือตรวจสอบโดยไม่ได้ใช้ความพินิจพิเคราะห์เท่าที่ควร อันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินที่มีส่วนในการออกใบแทนโฉนดจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโจทก์เนื่องจากได้รับจำนองและรับโอนที่ดินตามใบแทนโฉนดที่สำนักงานที่ดินออกให้นั้น
เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดกรมที่ดินปฏิบัติราชการในหน้าที่และความรับผิดชอบของกรมที่ดิน ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์กรมที่ดินต้องร่วมรับผิดด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินโดยเฉพาะในการออกโฉนดและใบแทนโฉนดที่ดิน และจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ทำนิติกรรมประเภทต่าง ๆ เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิทธิในที่ดินให้กับเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและบุคคลที่เกี่ยวข้อง จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานที่ดินจังหวัดธนบุรี จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานผู้ช่วยที่ดินจังหวัดธนบุรี และจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดธนบุรี จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการตามกฎหมายภายในบังคับบัญชาและรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 โดยได้รับเงินเดือนในฐานะข้าราชการพลเรือนในงบประมาณและในสังกัดของจำเลยที่ 1

ที่ดินโฉนดเลขที่ 5203 ตำบลบ้านปูน อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี เนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน 2 ตารางวา มีชื่อร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณิน เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2507 ได้มีบุคคลแอบอ้างว่าเป็นร้อยตรีก่อเกียรติสุวรรณิน ไปยื่นคำขอใบแทนโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดธนบุรี ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการในขณะนั้น โดยมีซากโฉนดชำรุดถูกไฟไหม้ไปแสดงเพื่อขอให้จำเลยที่ 4 จัดการออกใบแทนโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวให้ ซึ่งความจริงบุคคลที่ไปยื่นคำขอนั้นหาใช่ร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณินตัวจริงไม่และลายเซ็นในคำขอของบุคคลผู้นั้นก็ไม่เหมือนกับลายเซ็นที่แท้จริงของร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณินซึ่งมีอยู่แล้วที่สำนักงานที่ดิน ซากโฉนดชำรุดที่บุคคลดังกล่าวนำไปแสดงก็ไม่ใช่โฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวที่แท้จริงโดยเป็นโฉนดที่ทำปลอมขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งถ้าเป็นเจ้าพนักงานในสำนักงานที่ดินจะเห็นได้และรู้ได้ทันทีโดยพิจารณาตามสมควร เพราะลายมือของเจ้าหน้าที่ผู้ที่เขียนข้อความในซากโฉนดชำรุดซึ่งปลอมก็ไม่เหมือนกับลายมือของเจ้าหน้าที่ผู้เขียนในต้นฉบับ (โฉนดฉบับสำนักงานที่ดิน) ซึ่งมีอยู่ที่สำนักงานที่ดินทั้งข้อความและตำบลที่อยู่ของร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณิน ที่ปรากฏในซากโฉนดชำรุดที่ปลอมก็เขียนผิดไปไม่ตรงกับต้นฉบับ (โฉนดฉบับสำนักงานที่ดิน)

จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่รับผิดชอบและมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการออกใบแทนโฉนด ภายใต้บังคับบัญชาและคำสั่งของจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการนี้ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยมิได้ตรวจสอบตัวบุคคลผู้ที่อ้างว่าเป็นร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณิน ให้ถ่องแท้แน่นอน และมิได้ตรวจสอบลายมือชื่อในคำขอใบแทนโฉนดให้ถูกต้องกับลายเซ็นของร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณิน ซึ่งมีอยู่ในสำนักงานที่ดินและมิได้ปฏิบัติการโดยระมัดระวังตามหน้าที่ โดยรอบครอบสมกับที่มีหน้าที่ที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีซากโฉนดชำรุดที่ปลอมซึ่งผู้ทุจริตดังกล่าวนำมาแสดงได้ถูกไฟไหม้จนขาดส่วนสำคัญอันเป็นสาระที่จะพิสูจน์ความถูกต้องแท้จริงของเอกสารได้ โดยส่วนที่ลงนามเจ้าหน้าที่พนักงานที่ดิน ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้จำลองแผนที่ ผู้ตรวจและผู้ทานและดวงตราเจ้าพนักงานที่ประทับไม่มีเหลืออยู่เลย ซึ่งน่าจะถือว่าไม่เป็นซากโฉนดชำรุด จึงควรที่จะปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยมีการประกาศ 30 วัน หรือโดยประการอื่นเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งซากโฉนดชำรุดซึ่งปลอมไม่มีตราคำว่า “ฉบับเจ้าของที่ดิน” ประทับตรงที่โฉนดฉบับเจ้าของที่ดินทั่วไปมีประทับอยู่ กระดาษที่ทำซากโฉนดชำรุดซึ่งปลอมดังกล่าวก็ไม่เหมือนกับกระดาษที่ทำโฉนดฉบับสำนักงานที่ดินแต่จำเลยก็ได้ปฏิบัติการโดยบกพร่องและประมาทเลินเล่อ ออกใบแทนให้ไปโดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบได้อ้างว่าได้ตรวจถูกต้องตามต้นฉบับแล้วเห็นควรออกใบแทนโฉนดให้ได้ ทั้ง ๆ ที่มีสิ่งบกพร่องและพิรุธอย่างเห็นได้ชัด จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ได้สั่งและดำเนินการออกใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่บุคคลผู้ทุจริตไปด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างยิ่ง หลังจากยื่นคำขอเพียง 7 วันเท่านั้น

เนื่องจากการออกใบแทนโฉนดดังกล่าวแล้ว โจทก์ได้รับจำนองที่ดินแปลงนี้จากผู้ที่แอบอ้างว่าเป็นร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณิน เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2507 เป็นเงิน 600,000 บาท และต่อมาได้มีการจดทะเบียนขอขึ้นจำนองอีก 2 ครั้ง ครั้งแรกเงิน 220,000 บาท ครั้งหลังเงิน 180,000 บาท แต่โจทก์ได้ให้โอนที่ดินดังกล่าวหลุดเป็นสิทธิแก่โจทก์โดยโจทก์รับรองจะคืนให้เมื่อนำเงินมาชำระครบถ้วนในภายหลัง ซึ่งพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้ทำนิติกรรมรับจดทะเบียนให้ รวมเป็นเงินที่โจทก์จ่ายไปทั้งสิ้น 1,000,000 บาททั้งนี้ เพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยในการออกใบแทนโฉนดแปลงพิพาท การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้ง 4 ร่วมกันใช้เงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้โจทก์นับตั้งแต่วันที่ 29 กรกฏาคม 2507 จนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในสำนักงานทะเบียนที่ดินจังหวัดธนบุรี เป็นข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ได้รับเงินเดือนและสังกัดในจำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับผิดชอบและมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่ดินเกี่ยวกับการออกใบแทนโฉนด การจดทะเบียนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในที่ดิน ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน ร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณิน เป็นผู้ยื่นคำขอใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 5203 ต่อจำเลยที่ 2 ด้วยตนเอง พร้อมด้วยซากโฉนดที่ดินที่ถูกไฟไหม้ เพื่อขอให้เจ้าพนักงานออกโฉนดใบแทนให้ใหม่จำเลยเชื่อว่าผู้ยื่นคำขอใบแทนโฉนดนั้น คือร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณิน ตัวจริงและซากโฉนดก็เป็นซากโฉนดที่ดินที่แท้จริงฉบับของเจ้าของที่ดินที่ถูกเพลิงไหม้เสียหาย จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ปฏิบัติงานในหน้าที่เกี่ยวกับการออกใบแทนโฉนดและการจดทะเบียนนิติกรรมด้วยความระมัดระวังตามปกติวิสัยของวิญญูชน ไม่ได้ปฏิบัติการออกใบแทนโฉนดด้วย ความประมาทเลินเล่อดังที่โจทก์ฟ้อง เพราะจำเลยได้ตรวจสอบลายมือชื่อและบัตรประชาชนของผู้ที่ยื่นคำขอโดยละเอียดรอบครอบแล้ว จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบ คำสั่งข้อบังคับและกฎหมายทุกประการโดยสุจริต จำเลยไม่ควรต้องรับผิดค่าเสียหาย เพราะความประมาทเลินเล่อและผิดพลาดของโจทก์ที่รับจำนองกับผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน จะยกเหตุที่เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดโดยประมาทเลินเล่อมาเป็นข้อเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายหาได้ไม่

จำเลยที่ 1 ขอตัดฟ้องว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เพราะไม่มีส่วนสัมพันธ์และไม่มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ซึ่งได้ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายที่ดินเกี่ยวกับการออกใบแทนโฉนด การจดทะเบียนสิทธิจำนองเพิ่มเงินจำนองและการโอนหลุดเป็นสิทธิ หากศาลฟังว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 1 ก็หาต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ไม่เพราะจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 สังกัดจำเลยที่ 1 เพียงการบังคับบัญชาทางวินัยตามกฎหมายฝ่ายปกครอง ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องในทางแพ่งขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2507 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว

ข้อเท็จจริงซึ่งฟังยุติได้จากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบไม่โต้เถียงกันมีว่า เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2507 มีผู้อ้างตนเป็นร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณิน นำซากโฉนดพิพาทหมายเลขที่ 5203มีชื่อร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณิน เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ซึ่งถูกไฟไหม้บางส่วน ไม่มีลายเซ็นชื่อผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าพนักงานที่ดินและไม่มีตราประทับตามตำแหน่งไม่มีลายมือชื่อผู้เขียน ผู้ตรวจ ผู้จำลอง ตราประจำต่อ เลขประจำโฉนดและคำว่า “ฉบับเจ้าของที่ดิน” ประทับชื่อบ้านที่อยู่ของเจ้าของที่ดินในซากโฉนดผิดจากโฉนดฉบับที่อยู่ที่สำนักงานที่ดินคือ “บ้านถนนเจฟฟรี้” เป็น”บ้านถนนเลฟฟรี” และเลขหมายหลักหมุดในแผนที่หลังโฉนดด้านตะวันตกเฉียงใต้ ” ก. 328622″ เป็น “ก. 328662” ไปยื่นคำขอใบแทนโฉนดต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดธนบุรี โดยอ้างว่าโฉนดชำรุด เจ้าพนักงานที่ดินสอบสวนแล้วเห็นว่า ซากโฉนดพิพาทตรงกับโฉนดฉบับของเจ้าพนักงานที่ดินที่ออกให้และชำรุด จึงออกใบแทนโฉนดให้ร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณิน ผู้ขอเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2507 โดยนายวิสูตร ทับทาบ เสมียนสำนักงานที่ดินจังหวัดธนบุรี เป็นผู้ตรวจลายมือชื่อของร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณิน ในคำขอใบแทนกับลายมือชื่อของร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณิน ในสารบบเรื่องราวเดิม จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานที่ดินจังหวัดธนบุรีเป็นผู้สอบสวนเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประเภทขอใบโฉนดแทน และเสนอความเห็นให้ออกใบแทนโฉนดได้ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้ช่วยที่ดินจังหวัดธนบุรีเป็นผู้ตรวจเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประเภทใบแทนโฉนด และคำขอใบแทนโฉนดเห็นว่า ลายเซ็นชื่อของร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณิน ผู้ยื่นคำขอเหมือนกับลายเซ็นชื่อในสารบบเรื่องราวเดิม จึงได้ออกคำสั่งให้ออกใบแทนโฉนดได้ จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดธนบุรีเป็นผู้ตรวจเรื่องนี้เห็นว่า ลายเซ็นชื่อร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณิน ในคำขอใบแทนโฉนดและเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประเภทใบแทนโฉนดเหมือนกับลายเซ็นชื่อของร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณินในสารบบเรื่องราวเดิม จึงลงชื่อจดทะเบียนสิทธิที่ด้านหลังเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมขอใบแทนโฉนดและลงชื่อในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดธนบุรีในใบแทนโฉนดที่เจ้าพนักงานออกให้เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2507

ในวันเดียวกันกับที่จำเลยออกใบแทนนี้ ร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณิน เอาที่ดินตามใบแทนโฉนดจำนองไว้กับโจทก์เป็นเงิน 600,000 บาท เจ้าหน้าที่ได้จดทะเบียนและทำสัญญาจำนองให้

ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2507 นายเล็ก สิงหรา ผู้รับมอบอำนาจของร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณิน และโจทก์ได้ไปทำสัญญาขึ้นเงินจำนอง 220,000 บาท โดยมีหนังสือมอบอำนาจของร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณิน ซึ่งทำที่ประเทศอังกฤษ เจ้าหน้าที่ทำการตรวจหลักฐาน เห็นว่าถูกต้อง จึงจดทะเบียนขึ้นจำนองให้โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้จดทะเบียนขึ้นจำนอง นายสนั่น ยมาภัย ผู้ช่วยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดธนบุรี และจำเลยที่ 4 ได้ทำการตรวจหนังสือมอบอำนาจและลงนามไว้ในหนังสือมอบอำนาจ

ต่อมาวันที่ 29 กรกฎาคม 2507 นายเล็ก สิงหรา ผู้รับมอบอำนาจของร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณิน ได้ไปทำโอนชำระหนี้จำนองที่พิพาทให้โจทก์ โดยโจทก์เพิ่มเงินให้อีก 180,000 บาท จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ตรวจหนังสือมอบอำนาจและลายเซ็นของร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณิน

วันที่ 27 สิงหาคม 2507 นายสุรพงษ์ ตรีรัตน์ นำโฉนดที่พิพาทฉบับแท้จริงของเจ้าของที่ดินไปเพื่อทำการซื้อขาย และทราบว่าที่พิพาทมีใบแทนโฉนด ซึ่งโจทก์เป็นผู้ซื้อไว้ นายสุรพงษ์ ตรีรัตน์ ยืนยันว่าโฉนดที่พิพาทที่นายสุรพงษ์ ตรีรัตน์มีอยู่เป็นโฉนดฉบับแท้จริงของเจ้าของที่ดินผลของการสืบสวนและสอบสวนหลักฐานต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปรากฏว่าร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณินผู้ไปทำสัญญาจำนองกับโจทก์เป็นตัวปลอม ตัวจริงคือร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณิน เจ้าของโฉนดที่มอบอำนาจให้นายสุรพงษ์ ตรีรัตน์ ไปทำการซื้อขายที่พิพาท โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ ส่วนนายสุรพงษ์ ตรีรัตน์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณิน เจ้าของที่พิพาทอันแท้จริง ได้ฟ้องโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่ง ขอให้เพิกถอนใบแทนโฉนดพิพาท ศาลแพ่งพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2509 ว่าที่ดินโฉนดหมายเลขที่ 5203 เป็นของร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณินและให้เพิกถอนใบแทนโฉนด

ข้อเท็จจริงได้ความดังกล่าว มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาเพียงว่าการที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ออกใบแทนโฉนดให้แก่ผู้ที่อ้างตนว่าเป็นร้อยตรีก่อเกียรติ สุวรรณิน ซึ่งนำซากโฉนดปลอมไปขอรับใบแทนโฉนดนั้น เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ และจำเลยจะต้องรับผิดในความเสียหายต่อโจทก์หรือไม่

“ศาลฎีกาพิเคราะห์ซากโฉนด (เอกสารหมาย จ.6) แล้ว เห็นว่าแม้ซากโฉนดนี้จะขาดข้อสารสำคัญไปหลายอย่างก็ตาม แต่ก็ยังมีข้อความอันเป็นสารสำคัญบางข้อเหลืออยู่พอที่จะสามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นซากของโฉนดฉบับเจ้าของที่ดินที่แท้จริงหรือไม่ ซึ่งย่อมกระทำได้โดยการตรวจสอบเปรียบเทียบกับโฉนดฉบับสำนักงานที่ดิน ข้อความที่มีอยู่ในซากโฉนดนี้ ถ้าหากจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มิได้ละเลยในการตรวจสอบ หรือได้ทำการตรวจสอบโดยไม่ได้ประมาทเลินเล่อ ก็จะพบได้โดยง่ายดายในทันทีที่ตรวจสอบเปรียบเทียบว่า ซากโฉนดนั้นต้องไม่ใช่ซากของโฉนดฉบับเจ้าของที่ดินที่แท้จริง หรือเป็นซากโฉนดปลอม เพราะในซากโฉนดมีข้อความผิดกันกับข้อความที่มีอยู่ในโฉนดฉบับสำนักงานที่ดิน กล่าวคือในซากโฉนดมีข้อความเกี่ยวกับที่อยู่ของเจ้าของที่ดินว่า “บ้านถนนเลฟฟรี่” และเลขหลักหมุดที่ดินด้านตะวันตกเฉียงใต้ในแผนที่หลังโฉนดว่า”ก 328662″ แต่ในโฉนดฉบับสำนักงานที่ดินนั้นปรากฎที่อยู่ของเจ้าของที่ดินว่า “บ้านถนนเจฟฟรี้” และเลขหลักหมุดในแผนที่หลังโฉนดว่า “ก 328622” ตัวอักษรและตัวเลขทั้งในซากโฉนดและโฉนดฉบับสำนักงานที่ดินเขียนด้วยลายมือตัวบรรจง ข้อความที่ผิดกันนี้เขียนไว้ชัดเจนไม่มีทางจะคิดว่าเป็นเพราะความเข้าใจผิดของผู้เขียนที่อ่านไม่ชัด จึงทำให้เขียนผิดไปดังข้อโต้เถียงของจำเลย ที่จำเลยฎีกาว่าที่อยู่ของเจ้าของที่ดินในซากโฉนดต้องอ่านว่า “ถนนเจ๊ฟฟรี่” ไม่ใช่ “ถนนเลฟฟรี่” อย่างที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อ้างนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตัวอักษรในซากโฉนดเขียนไว้ชัดเจนอ่านได้ว่า “ถนนเลฟฟรี่” มิใช่ “ถนนเจ๊ฟฟรี่” เมื่อข้อความในซากโฉนดที่มีอยู่นั้นเห็นได้โดยไม่ต้องใช้ความรู้หรือความชำนาญพิเศษอย่างใดว่าผิดกับข้อความในโฉนดฉบับสำนักงานที่ดินเป็นที่สะดุดตาอยู่เช่นนี้ ก็ไม่น่าที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จะปลงใจเชื่อง่าย ๆ ว่าเป็นซากของโฉนดฉบับเจ้าของที่ดินอันแท้จริงแล้วออกใบแทนโฉนดให้ไป การที่ออกใบแทนโฉนดให้ไปโดยผิดพลาด น่าเชื่อว่าต้องเป็นเพราะจำเลยละเลยไม่ได้ตรวจสอบซากโฉนดเปรียบเทียบกับโฉนดฉบับสำนักงานที่ดิน หรือถ้ามีการตรวจสอบก็ไม่ได้ใช้ความพินิจพิเคราะห์เท่าที่ควร อันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ จำเลย จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้น ดังคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลล่างทั้งสอง

ที่จำเลยฎีกาว่า ความเสียหายของโจทก์ในการรับจำนองเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง จำเลยไม่ต้องรับผิดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าใบแทนโฉนดนี้เป็นเอกสารที่จำเลยออกโดยหน้าที่ราชการไปจริง ๆ แล้วจะไม่ให้โจทก์เชื่อได้อย่างไรว่า ใบแทนโฉนดนี้มิใช่เอกสารอันแท้จริงความเสียหายของโจทก์ที่เกิดจากการรับจำนองและการรับโอนที่ดินตามใบแทนโฉนดที่จำเลยออกให้ โดยเชื่อว่าเป็นใบแทนโฉนดที่แท้จริง ถือได้ว่าเป็นผลจากการออกใบแทนโฉนดในหน้าที่ราชการโดยผิดพลาด เนื่องจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย จำเลยจะปฏิเสธความรับผิดให้พ้นไปหาได้ไม่”

“ฎีกาจำเลยข้อสุดท้ายที่ว่า กรมที่ดินจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นข้าราชการรับเงินเดือนตามงบประมาณอยู่ในสังกัดและภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เป็นการปฏิบัติราชการในหน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการจดทะเบียนออกโฉนด และอยู่ในความควบคุมของจำเลยที่ 1 ที่จะวางระเบียบแบบแผนการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฉะนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดด้วย”

พิพากษายืน

Share