คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1140/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนสืบพยานโจทก์ บิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์แทนผู้เสียหาย ศาลชั้นต้นสอบโจทก์ โจทก์แถลงรับว่าผู้ร้องเป็นบิดาของผู้เสียหาย ทั้งเป็นผู้ร้องทุกข์คดีนี้ในชั้นสอบสวนจริงศาลชั้นต้นจึงสั่งจำหน่ายคดี เช่นนี้โจทก์จะอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งว่า คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นไม่ชอบ เพราะผู้เสียหายได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้ด้วยตัวเองโดยตรงด้วย บิดาผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจถอนคำร้องทุกข์โดยลำพังนั้น หาได้ไม่ เพราะเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่
ผู้ร้องทุกข์ย่อมมีอำนาจถอนคำร้องทุกข์ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหายเองหรือร้องทุกข์ในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 126 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยจนสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276

จำเลยให้การปฏิเสธ

ก่อนสืบพยานโจทก์ นายนวน ปัดถา บิดานางสาวสมดี ปัดถาผู้เสียหายยื่นคำร้องต่อศาลว่า นางสาวสมดีมีอายุ 16 ปี ได้ออกจากบ้านไปตั้งแต่เกิดเหตุเรื่องนี้เป็นเวลา 1 ปีเศษมาแล้ว ไม่ทราบที่อยู่อันแน่นอน ผู้ร้องจึงขอถอนคำร้องทุกข์แทนผู้เสียหายไม่ประสงค์ดำเนินคดีเอาโทษจำเลยต่อไป

ศาลชั้นต้นสอบโจทก์ โจทก์แถลงรับรองว่านายนวนเป็นบิดาของนางสาวสมดีทั้งเป็นผู้ร้องทุกข์คดีนี้ในชั้นสอบสวนจริง การที่นายนวนขอถอนคำร้องทุกข์ ขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาล

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้เป็นความผิดอันยอมความกันได้เมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมซึ่งเป็นผู้ร้องทุกข์คดีนี้ได้ขอถอนคำร้องทุกข์ซึ่งมีอำนาจกระทำได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 126สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามมาตรา 39 (2) จึงให้จำหน่ายคดี

โจทก์อุทธรณ์ว่า คดีนี้นางสาวสมดีผู้เสียหายได้แจ้งความต่อเจ้าพนักงานในวันเกิดเหตุนั้นเอง จึงเป็นผู้ร้องทุกข์ในฐานะผู้เสียหายโดยตรงแม้นายนวนบิดาจะได้ร้องทุกข์ในคดีนี้ด้วย ก็จะถอนคำร้องทุกข์แทนนางสาวสมดีซึ่งขณะเกิดเหตุมีอายุ 16 ปีไม่ได้ ในเมื่อไม่ได้รับความยินยอมจากนางสาวสมดี

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นเรื่องของผู้แทนโดยชอบธรรม คือ นายนวนบิดานางสาวสมดี ซึ่งเป็นผู้เยาว์ถูกข่มขืนกระทำชำเราอันเป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้แทนโดยชอบธรรมมีอำนาจจัดการแทนผู้เยาว์ในการร้องทุกข์หรือยอมความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3 ย่อมมีอำนาจถอนคำร้องทุกข์แทนผู้เยาว์ได้พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาวินิจฉัยเห็นว่า เมื่อตอนนายนวนยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอถอนคำร้องทุกข์ ศาลชั้นต้นก็ได้สอบถามโจทก์แล้ว แทนที่โจทก์จะคัดค้านประการใด กลับแถลงยอมรับว่านายนวนเป็นบิดานางสาวสมดีและเป็นผู้ร้องทุกข์ในชั้นสอบสวนจริง ศาลชั้นต้นจึงอนุญาตให้นายนวนถอนคำร้องทุกข์และจำหน่ายคดีเสีย คำสั่งศาลชั้นต้นเช่นนี้จึงเป็นการถูกต้องแล้ว โจทก์จะกลับมาโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์ว่านายนวนไม่มีอำนาจถอนคำร้องทุกข์ตามลำพังหาได้ไม่ เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่

อนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาว่า ในกรณีที่ผู้แทนโดยชอบธรรมจัดการร้องทุกข์แทนผู้เยาว์นั้น ผู้แทนโดยชอบธรรมจะถอนคำร้องทุกข์ไม่ได้เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3 ไม่ได้ให้อำนาจไว้และจะอาศัยอำนาจถอนคำร้องทุกข์ตามมาตรา 126 ก็ไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ร้องทุกข์ย่อมมีอำนาจถอนคำร้องทุกข์ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหายเองหรือร้องทุกข์ในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 126 ดังกล่าวแล้ว

คำพิพากษาฎีกาที่ 214/2494 ที่โจทก์อ้างมาในฎีกานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับเรื่องนี้ ในเรื่องนั้นผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุ 17 – 18 ปี ได้ร้องทุกข์ด้วยตนเอง ขณะสืบตัวผู้เสียหายอยู่นั้น บิดาผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ ศาลสอบถามผู้เสียหาย ผู้เสียหายไม่ยินยอม ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยว่าบิดาผู้เสียหายหามีอำนาจถอนคำร้องทุกข์อันเป็นการฝืนความประสงค์ของผู้เสียหายได้ไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว

จึงพิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์เสีย

Share