คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1926/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นพี่ ยอมให้จำเลยที่ 3 ดำเนินการให้มีการก่อสร้างตึกแถวขึ้นในที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้ตกลงให้ผู้รับเหมาลงทุนก่อสร้างตึกแถวในที่ดินนั้นและให้ผู้รับเหมาเรียกเงินกินเปล่าจากผู้เช่าโดยตึกที่ก่อสร้างตกเป็นของเจ้าของที่ดิน แม้จำเลยที่ 3 จะได้รับประโยชน์ค่าหน้าดินและค่าเช่าเสียทั้งหมด ก็จะถือว่าจำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของที่ดินได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 โดยให้จำเลยที่ 3 มีสิทธิเป็นเจ้าของตึกที่ก่อสร้างขึ้นหาได้ไม่ ตึกนั้นเป็นส่วนควบของที่ดินของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปทำสัญญาจะขายที่ดินของตนให้แก่โจทก์ระหว่างที่สัญญายังมีผลบังคับอยู่ จำเลยที่ 1กลับโอนแบ่งที่ดินนั้นครึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยที่ 2, 3 โดยเสน่หาการกระทำเช่นนี้ย่อมจะทำให้โจทก์ซึ่งจะได้รับผลตามสัญญาจะซื้อขายต้องเสียเปรียบ แม้จำเลยที่ 3, 4 ผู้รับโอนมิได้รู้ถึงความจริงนี้ แต่เมื่อเป็นการโอนให้โดยเสน่หา เพียงแต่จำเลยที่ 1 รู้ฝ่ายเดียวโจทก์ก็ชอบที่จะขอให้เพิกถอนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๒ ไปทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินโฉนดที่ ๘๗๖๒ พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ราคา ๕๐,๐๐๐ บาท โจทก์ได้วางมัดจำไว้ ๒๕,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลือตกลงชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ใน ๒ เดือน ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้นำที่ดินนี้กึ่งหนึ่งไปจดทะเบียนยกให้แก่จำเลยที่ ๓, ๔ โดยเสน่หา เป็นการทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมยกให้และให้จำเลยที่ ๑ ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การรับตามฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ต่อสู้ว่าจำเลยที่ ๒ พ้นความรับผิด
จำเลยที่ ๓, ๔ ต่อสู้ว่าจำเลยที่ ๑ ไม่เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๒ ไปขายที่ดินพิพาท โจทก์ไม่เคยตกลงซื้อและชำระเงินมัดจำ จำเลยที่ ๑ ไม่มีอำนาจขายสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๓, ๔ ได้รับโอนที่พิพาท ไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ
ศาลชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนการยกให้ของจำเลยที่ ๑ แก่จำเลยที่ ๓, ๔ ในที่ดินโฉนดที่ ๘๗๖๒ ให้เจ้าพนักงานที่ดินถอนชื่อจำเลยที่ ๓, ๔ ออกจากโฉนดคำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ ๓, ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๓, ๔ ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๒ ทำการขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้โจทก์
ปัญหาที่ว่าตึกแถวที่ปลูกสร้างในที่ดินที่ตกลงขายให้โจทก์จะเป็นส่วนควบของที่ดินหรือเป็นของจำเลยที่ ๓ นั้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามธรรมดาสิ่งปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนย่อมตกเป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๐๗ ข้อที่จำเลยที่ ๓ ว่าตึกดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ ๓ มิใช่ส่วนควบอันเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๑๐๙ นั้น ได้ความว่าจำเลยที่ ๓ ได้ตกลงกับผู้รับเหมาให้ลงทุนก่อสร้างตึกแถวลงในที่ดินของจำเลยที่ ๑ แล้วให้ผู้รับเหมาเรียกเงินกินเปล่าจากผู้เช่าโดยตึกที่ก่อสร้างตกเป็นของเจ้าของที่ดิน แม้จำเลยที่ ๑ จะยอมให้จำเลยที่ ๓ ดำเนินการมีการก่อสร้างตึกแถวดังกล่าวขึ้นและจำเลยที่ ๓ ได้รับผลประโยชน์ค่าหน้าดินและค่าเช่าเสียทั้งหมด ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ ๑ เป็นน้องอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๓ ด้วย จึงจะฟังว่าจำเลยที่ ๑ ผู้เป็นเจ้าของที่ดินได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลยที่ ๓ โดยให้จำเลยที่ ๓ เป็นผู้มีสิทธิเป็นเจ้าของตึกที่ก่อสร้างขึ้นหาได้ไม่ ตึกที่สร้างขึ้นเป็นส่วนควบของที่ดินของจำเลยที่ ๑
ปัญหาที่ว่าการที่จำเลยที่ ๑ ทำนิติกรรมโอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๓, ๔ โดยจำเลยที่ ๓, ๔ ไม่ทราบถึงการที่จำเลยที่ ๑ ได้ไปทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ไว้นั้น โจทก์จะขอให้เพิกถอนการโอนนี้ได้หรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยที่ ๑ ได้รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ ๑ ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๒ ไปทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ไว้แล้วในระหว่างสัญญายังมีผลบังคับอยู่ จำเลยที่ ๑ กลับไปโอนแบ่งที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ ๓, ๔ โดยเสน่หา การกระทำเช่นนี้ย่อมเป็นทางให้โจทก์ซึ่งจะได้รับผลตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ ๑ เสียเปรียบ แม้จำเลยที่ ๓, ๔ จะมิได้รู้ถึงความจริงอันจะเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบ แต่กรณีที่จำเลยที่ ๑ โอนแบ่งที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ ๓, ๔ เป็นการให้โดยเสน่หา ฉะนั้น เพียงแต่จำเลยที่ ๑ รู้แต่ฝ่ายเดียวก็ชอบที่จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๗
พิพากษายืน

Share