คำวินิจฉัยที่ 45/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ว่า ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ฮ. ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินตาม ส.ค.๑ เลขที่ ๕๖ และขอให้รังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๑๙๔๕ จำนวน ๖ ไร่ ให้แก่วัด อ. แต่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินและคำสั่งไม่รังวัดแบ่งแยกที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ กรณีดังกล่าวผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำวินิจฉัยสั่งการตามคำขอของผู้ฟ้องคดีแล้ว โดยเห็นว่าไม่อาจออกโฉนดที่ดินและรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ กรณีจึงไม่ใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่จะอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำให้การและเอกสารในสำนวนว่า ศาลยุติธรรมเคยมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า นิติกรรมการยกให้ที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๑๙๔๕ ระหว่างนาย ฮ. และวัด อ. จำเลย มีผลสมบูรณ์ และนาง น. โจทก์ ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดิน ๕ ไร่ ด้านทิศเหนือของโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๑๙๔๕ การที่ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอต่อผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อขอให้ออกโฉนดที่ดินตาม ส.ค.๑ เลขที่ ๕๖ ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกับที่ดินตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่นและวัด อ. ได้ยื่นคำคัดค้าน ผู้ถูกฟ้องคดีจึงได้สอบสวนเปรียบเทียบคู่กรณี แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงมีคำสั่งแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการในชั้นศาลจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน สอบสวนเปรียบเทียบและพิจารณาสั่งการไปตามที่เห็นสมควร ซึ่งแม้จะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดี แต่เมื่อการวินิจฉัยสั่งการตามบทบัญญัตินี้เป็นกรณีการโต้แย้งสิทธิในที่ดินที่ขอออกโฉนดที่ดิน โดยวรรคสองของมาตราดังกล่าวบัญญัติให้ฝ่ายที่ไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการฟ้องต่อศาลภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง เมื่อผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลโดยมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งไม่ว่าศาลจะวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือวัด อ. หรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ตามที่เทศบาลนครขอนแก่นคัดค้าน ย่อมกระทบต่อสิทธิในทางทรัพย์สินของบุคคลโดยต่างฝ่ายต่างต้องพิสูจน์การได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินเป็นสำคัญ เนื้อหาตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี กรณีการขอออกโฉนดที่ดินตาม ส.ค.๑ เลขที่ ๕๖ จึงมิใช่การขอให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของฝ่ายปกครอง แต่เป็นกรณีที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาคุ้มครองและรับรองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share