แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฝ่ายจำเลยกับฝ่ายผู้เสียหายต่างเป็นนักเรียนอาชีวะ ในระยะเกิดเหตุนักเรียนอาชีวะมีเรื่องตีกันบ่อย แต่ไม่มีเจตนาที่จะปล้นหรือฆ่ากัน วันเกิดเหตุเป็นเวลากลางวันและเหตุเกิดที่สถานีรถไฟซึ่งปกติมีผู้คนพลุกพล่าน จำเลยที่ 1 แต่งกายนักเรียนพร้อมกับพวกเมาสุราเข้ามาหาผู้เสียหายในลักษณะเป็นการหยามน้ำหน้าจำเลยที่ 1 กล่าวหาผู้เสียหายว่าผู้เสียหายไปหาเรื่องเพื่อนจำเลยที่ 1 เมื่อผู้เสียหายปฏิเสธ จำเลยที่ 1 ได้ล้วงเอามีดออกมาจากกระเป๋าย่าม ทำท่าจะฟันผู้เสียหาย จำเลยอื่นห้ามไว้ จำเลยที่ 1จึงเก็บมีดและดึงเอาปากกาและกระเป๋าของผู้เสียหายไป แล้วพูดว่าอยากได้ของก็ตามมาเอา จำเลยที่ 1 กับพวกไม่ได้หลบหนีไปไหนคงอยู่ที่สถานีรถไฟจนกระทั่งถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 กระทำไปด้วยความคะนองเพื่อแสดงอวดให้เพื่อน ๆ เห็นเท่านั้น จำเลยที่ 1ไม่มีเจตนาเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไปโดยทุจริต จึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา340, 83 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน2514 ข้อ 14 ริบมีดของกลางและนับโทษจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 5ต่อจากโทษจำคุกในคดีตามฟ้อง
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง จำเลยที่ 1 อายุไม่เกิน20 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 วางโทษจำคุก 5 ปี คำให้การของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน ริบมีดของกลาง ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 5 และยกคำขออื่นด้วย
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2527 เวลาประมาณ 13 นาฬิกา ขณะที่นางมานพประทุมแก้ว และนายประสาร ณ นิมิตร ผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นนักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวศึกษา วิทยาเขตเพาะช่างนั่งรอรถไฟอยู่ที่ชานชาลาสถานีรถไฟธนบุรีเพื่อเดินทางไปจังหวัดนครปฐม จำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรยนอินทรอาชีวศึกษา ได้เข้ามาล้อมหน้าล้อมหลังผู้เสียหายทั้งสอง จำเลยที่ 1 ได้กล่าวหาผู้เสียหายทั้งสองว่าผู้เสียหายทั้งสองไปทำเรื่องเพื่อนจำเลยที่ 1 เมื่อนายมานพผู้เสียหายปฏิเสธ จำเลยที่ 1 ได้ล้วงเอามีดออกมาจากกระเป๋าย่มทำท่าจะฟันนายมานพผู้เสียหาย จำเลยอื่นห้ามไว้ จำเลยที่ 1 จึงเก็บมีดและดึงเอาปากการ๊อตติ้งและกระเป๋าของนายมานพผู้เสียหายไป ปัญหาวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า เหตุเกิดเวลากลางวันและสถานที่เกิดเหตุเป็นสถานีรถไฟธนบุรี โดยปกติจะมีผู้คนพลุกพล่าน จำเลยที่ 1 แต่งกายนักเรียน ไม่น่าเชื่อว่าจะกล้ากระทำความผิดต่อหน้าคนจำนวนมาก นอกจากนั้น นายประสารณ นิมิตร ผู้เสียหายคนหนึ่งเบิกความตอบคำถามค้านของจำเลยที่ 2 ที่ 5ว่า จำเลยที่ 1 กับพวกเมาสุราแลเข้ามาหาพยานในลักษณะเป็นการหยามน้ำนห้า พระภิกษุสมคิด สังข์ทอง พยานโจทก์ซึ่งเห็นเหตุการณ์และขณะเกิดเหตุเป็นนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคดุสิต เบิกความตอบคำถามค้านว่า ในระยะที่เกิดเหตุนักเรียนอาชีวะมีเรื่องตีกันบ่อยและส่วนมากพบกันก็มีกจะตีกัน ชกต่อยกัน ไม่มีเจตนาที่จะปล้นหรือจะฆ่ากัน ที่มีการดึงทรัพย์สินกันก็เป็นการหยามน้ำหน้ากันเท่านั้น ประกอบกับผู้เสียหายทั้งสองเบิกความว่า หลังจากจำเลยที่ 1 กับพวกจึงเอาปากกาและกระเป๋าของผู้เสียหายทั้งสองไปแล้ว ได้พูดว่าอยากได้ของก็ตามมาเอาและจำเลยที่ 1 กับพวกก็ไม่ได้หลบหนี คงอยู่ที่สถานีรถไฟธนบุรีจนกระทั่งถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 กระทำไปด้วยความคะนองเพื่อแสดงอวดให้เพื่อน ๆ เห็นเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายทั้งสองไปโดยสุจริต จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์
พิพากษายืน.