คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 912/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นสามีของจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบการค้าที่ดินโดยการจัดสรรขาย ส. ตกลงซื้อที่ดินจัดสรร ได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายกันไว้โดยฝ่ายจำเลย มีแต่จำเลยที่ 1ลงลายมือชื่อคนเดียว แม้กระนั้นจำเลยที่ 2 ก็ไม่อาจอ้างได้ว่าที่ดินนั้นมีชื่อจำเลยที่ 2 คนเดียว ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจทำสัญญาขายให้แก่ใครได้ โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ยินยอมด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474
การที่ผู้จะขายที่ดินผิดนัดไม่โอนที่ดินให้แก่ผู้จะซื้อตามสัญญานั้นไม่ถือเป็นเหตุโดยปกติ ที่ทำให้ผู้จะซื้อต้องเสียค่าเช่าบ้านที่เช่าคนอื่นอยู่และถ้าจะถือว่าเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ก็ต้องปรากฏว่าผู้จะขายได้คาดเห็นหรือควรได้คาดเห็นอยู่ก่อนแล้ว ผู้จะขายจึงจะต้องชดใช้ให้
ผู้จะซื้อทรัพย์มีหน้าที่ต้องมีเงินมาชำระค่าทรัพย์ที่จะซื้อนั้นอยู่แล้วถ้าผู้จะซื้อไปกู้เงินเขามาชำระต้องเสียดอกเบี้ย เรื่องดอกเบี้ยนั้นย่อมเป็นภาระส่วนตัวของผู้จะซื้ออันมีอยู่แล้วก่อนผิดนัด การที่ผู้จะขายผิดนัดไม่โอนทรัพย์ที่จะขายให้ ไม่เป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้ผู้จะซื้อต้องไปเสียดอกเบี้ย ผู้จะซื้อจะเรียกให้ผู้จะขายชดใช้ให้เป็นค่าเสียหายหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน ร่วมกันจัดตั้งสำนักงานการค้าใช้ชื่อว่า “สำนักงานประดิษฐ์ผล” มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดสรรที่ดินขาย โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการ จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินแปลงที่ 11 ซึ่งเป็นที่ดินส่วนหนึ่งในโฉนดเลขที่ 3620อันเป็นโฉนดที่จำเลยที่ 2 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมเป็นบางส่วนให้แก่นายสมัย อ่วมบำรุง เป็นเงิน 48,050 บาท นายสมัยได้ชำระเงินมัดจำและผ่อนส่งค่าที่ดินตามสัญญามาได้ 7 งวด แล้วได้โอนสิทธิตามสัญญาให้แก่โจทก์เข้าสวมสิทธิเป็นผู้จะซื้อต่อไป ได้ทำบันทึกการรับโอนช่วงสิทธิกันไว้เป็น 3 ฝ่าย ต่อมาโจทก์ได้ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ไปอีก 10 งวด เหลืองวดสุดท้ายที่จะต้องชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโจทก์แจ้งวันนัดโอนไปยังจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยไม่ปฏิบัติการโอนให้เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ต้องเช่าบ้านคนอื่นอยู่ เสียค่าเช่าเดือนละ 550 บาท เงินที่เอามาซื้อที่ดินนั้นก็กู้เขามาต้องเสียดอกเบี้ยที่ดินรายนี้บัดนี้ราคาสูงขึ้นแล้ว ขอให้บังคับให้จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ หากโอนไม่ได้ ให้จำเลยร่วมกันใช้เงินค่าทดแทนที่ดิน 74,400 บาท ให้ใช้ค่าเสียหายให้เดือนละ 550 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะโอนที่ดินหรือชำระเงินทดแทนกับให้เสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่โจทก์จ่ายให้จำเลยไปแล้ว 46,703 บาทด้วย

จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เป็นความจริง จำเลยที่ 1 ไม่ได้บิดพลิ้ว แต่ที่ดินนั้นเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีอำนาจบังคับจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2ประกอบการค้าร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการขายที่ดินพิพาทนี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดโดยตรงต่อโจทก์โดยคิดเอาจากสินส่วนตัวของจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นภริยาจำเลยที่ 1 จริง แต่แยกกันอยู่มาราว 2 ปีแล้ว จำเลยที่ 1 จะได้จดทะเบียนการค้าใช้ชื่อสำนักงานประดิษฐ์ผล มีวัตถุประสงค์ดังโจทก์อ้างหรือไม่ ไม่รับรอง หากจดก็ไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ เพราะสำนักงานประดิษฐ์ผลมิได้มีนิติสัมพันธ์อันใดกับโจทก์ สัญญาจะซื้อขายท้ายฟ้องจะเป็นความจริงอย่างใด จำเลยที่ 2 ไม่ทราบ และไม่รับรอง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เพราะที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายแก่โจทก์เป็นการส่วนตัว โดยจำเลยที่ 2 ไม่รู้เห็นยินยอมและรับเงินจากโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์และมิได้โต้แย้งสิทธิโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ถ้าไม่สามารถโอนได้ ก็ให้ร่วมกันใช้ค่าทดแทนเป็นเงิน 74,400 บาทและให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 550 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะโอนที่ดินให้หรือจนกว่าจะชำระเงินค่าทดแทนให้ กับให้ร่วมกันใช้ดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่โจทก์ให้แก่จำเลยไปแล้ว 46,703 บาท ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันโอนที่ดินหรือวันชำระค่าทดแทนเสร็จ

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เงินค่าทดแทน 74,400 บาทนั้น ยังไม่ถูกต้องเพราะโจทก์ยังไม่ได้ชำระเงินงวดสุดท้ายให้จำเลยไป ต้องหักออกจากจำนวนที่จะให้จำเลยใช้แก่โจทก์ พิพากษาแก้เป็นว่าถ้าจำเลยไม่สามารถโอนที่ดินให้โจทก์ ก็ให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าทดแทนให้โจทก์เป็นเงิน 73,053บาท นอกจากที่แก้ คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาฟังว่า สำนักงานประดิษฐ์ผลเป็นสำนักงานค้าที่ดินโดยการจัดสรร จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน ได้ร่วมทุนและร่วมกันเป็นผู้ประกอบการค้ารายนี้ นายสมัย อ่วมบำรุง ไปติดต่อที่สำนักงานเพื่อจะซื้อที่ดินจัดสรร พบจำเลยทั้งสองและตกลงซื้อที่ดินกัน นายสมัยมอบเงินมัดจำให้จำเลยที่ 2 ก่อน 5,000 บาท จำเลยที่ 1 พิมพ์ใบรับเงินเอาให้จำเลยที่ 2 กรอกข้อความ แล้วจำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นผู้รับเงิน ต่อมานายสมัยไปที่สำนักงานอีก พบจำเลยที่ 1 คนเดียว ได้ชำระค่าที่ดินให้ 19,000 บาทเศษ และได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินรายที่ฟ้องนี้ นายสมัยชำระเงินต่อมาได้ 7 งวด ก็โอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1ไม่ขัดข้อง และได้ทำบันทึกลงชื่อไว้เป็น 3 ฝ่าย คือโจทก์ นายสมัยและจำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์ชำระเงินงวดต่อมาจนครบงวดที่ 17 ครั้นจะชำระงวดที่ 18 อันเป็นงวดที่จำเลยต้องโอนที่ดินให้ด้วยจำเลยที่ 1 ขอผัด อ้างว่าโฉนดมีชื่อจำเลยที่ 2 และต่อมาบอกว่าจำเลยที่ 2ไม่รับรู้ จึงโอนไม่ได้ โจทก์นัดให้จำเลยที่ 2 ไปโอนแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ไป

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าไม่ต้องรับผิดตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำกับนายสมัยซึ่งโจทก์เข้ารับช่วงแทนที่นายสมัย เพราะแม้จำเลยที่ 2 เป็นภริยาจำเลยที่ 1 แต่ที่ดินนั้นมีชื่อจำเลยที่ 2 คนเดียว จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจขายให้ใครโดยจำเลยที่ 2 ไม่ยินยอมด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 มาตรา 1474 เป็นข้อยกเว้นของมาตรา 1473 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า บทบัญญัติที่จำเลยที่ 2 อ้างมานี้เป็นเรื่องที่ว่าด้วยสามีจะมีอำนาจเอาสินบริคณห์ที่มีชื่อของภริยาไปจำหน่ายได้เพียงไร เป็นคนละเรื่องกับคดีนี้ ซึ่งโจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยที่ 2 จัดสรรที่ดินทำการค้าร่วมกับจำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามี จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญาการค้าที่จำเลยที่ 1 กระทำไปนั้นด้วย และเมื่อจำเลยที่ 2 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่จะขายนั้นไว้แล้วไม่ยอมไปทำการโอนขายให้ตามสัญญา โจทก์จึงต้องฟ้องขอให้บังคับข้ออ้างของจำเลยที่ 2 นั้น จึงเป็นข้อที่เอามาโต้แย้งหักล้างกันไม่ได้ เมื่อกรณีฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำการค้าร่วมกับจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดตามสัญญา ในกิจการค้าที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไปคนเดียวนั้นด้วยและอันที่จริงในการเริ่มต้นที่จะมีหนังสือสัญญารายนี้ จำเลยที่ 2 ก็ได้เกี่ยวข้องด้วยตัวเองจะเอาเหตุอื่นมาปฏิเสธความรับผิดในฐานเป็นผู้ค้าร่วมด้วยไม่ได้

ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 เรื่องค่าเสียหายที่โจทก์ว่าโจทก์ต้องเช่าบ้านคนอื่นอยู่เดือนละ 550 บาท ขอให้บังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเท่าค่าเช่าจนกว่าจำเลยจะโอนที่ดินหรือใช้ราคาที่ดินให้นั้น เห็นว่า การผิดนัดผิดสัญญาของจำเลยไม่ใช่เป็นเหตุโดยปกติที่เห็นได้ว่าทำให้โจทก์ต้องไปเสียค่าเช่า หากจะถือว่าเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้คาดเห็นหรือควรได้คาดเห็นอยู่ก่อนแล้ว ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกเอาในฐานที่โจทก์ต้องกู้เงิน 46,703 บาทจากคนอื่นโดยเสียดอกเบี้ยเอามาชำระให้จำเลยนั้น เห็นว่า การผิดนัดผิดสัญญาเรื่องโอนที่ดินนี้ไม่ใช่เป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้โจทก์ต้องไปเสียดอกเบี้ยเช่นนั้นเพราะโจทก์มีหน้าที่ต้องมีเงินมาชำระเป็นค่าที่ดินอยู่ก่อนแล้ว หากไปกู้เขามา เรื่องดอกเบี้ยก็เป็นภาระส่วนตัวของโจทก์อันมีอยู่แล้วก่อนผิดนัดผิดสัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องเกิดขึ้นเพราะมีการผิดนัดผิดสัญญารายพิพาท

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องเฉพาะเรื่องค่าเสียหายที่โจทก์เรียกเอาแก่จำเลยที่ 2

Share