คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1781/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

1. เรื่องความขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลซึ่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลบัญญัติโยงไปใช้เรื่องความขาดคุณสมบัติของผู้สมัครตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2499 นั้น แม้ต่อมามีรัฐธรรมนูญบัญญัติเรื่องลักษณะของบุคคลผู้ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนไว้เป็นอย่างอื่นก็ไม่กระทบกระเทือนถึงเรื่องความขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล ซึ่งถือว่าพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลบัญญัติเรื่องนี้ไว้เป็นเอกเทศ
2. พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช 2482มาตรา 21 ตามที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2501 นั้นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 89 (ข้อ 2 เป็นมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 32/2513)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า จำเลยเป็นผู้ขาดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครธนบุรี และให้สั่งให้จำเลยพ้นจากสมาชิกภาพแห่งสภาเทศบาลนครธนบุรีเพื่อจะได้จัดให้มีการเลือกตั้งและแต่งตั้งซ่อมในตำแหน่งที่ว่างต่อไป จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยมีสิทธิสมัคร

ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล ให้จำเลยพ้นจากสมาชิกภาพแห่งสภาเทศบาลนครธนบุรี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาว่า จำเลยพ้นโทษจำคุกมากว่า 5 ปีแล้ว พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช 2482 มาตรา 21 ตามที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ 4 พ.ศ. 2501 มาตรา 9 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2499 มาตรา 20 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในวันเลือกตั้ง อันเป็นกรณีแห่งคดีนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 89 จำเลยจึงเป็นผู้มีสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครธนบุรี ขอให้พิพากษากลับ

ได้ความว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดธนบุรีได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครธนบุรี กำหนดวันที่ 1 กันยายน 2511 เป็นวันเลือกตั้ง จำเลยยื่นใบสมัครเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2511 รับรองว่าตนมีคุณสมบัติและมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามกฎหมาย กับมิได้แจ้งว่าเคยถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเจ้าหน้าที่จึงรับสมัครไว้จำเลยได้รับเลือกตั้งด้วย และได้ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งแล้ว ภายหลังปรากฏว่าก่อนสมัครรับเลือกตั้งจำเลยเคยถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดมาแล้วรวม 3 ครั้ง ครั้งที่ 1, 2 ฐานลักทรัพย์ จำคุก 1 ปีและ 2 ปี พ้นโทษเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2502 และวันที่ 17 ธันวาคม 2502 ครั้งที่ 3 ฐานหลบหนีที่ควบคุมจำคุก 2 เดือน พ้นโทษเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2504

ศาลฎีกาเห็นว่า จริงอยู่ขณะที่จำเลยยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งนั้นได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันแล้วตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2511 และมาตรา 89 แห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง คือ ฯลฯ (4) เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไปโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท” แต่บทบัญญัติดังกล่าวในรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องความขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน มิใช่เรื่องความขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลซึ่งเป็นปัญหาในคดีนี้ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช 2482 ซึ่งได้แก้ไขโดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2501 มาตรา 9 บัญญัติว่า “ผู้ขาดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งให้เป็นไปเช่นเดียวกับผู้ขาดคุณสมบัติของผู้สมัครตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นก็คือพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2499 เฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ มาตรา 20(5) ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ถูกจำคุกหรือเคยถูกจำคุกตั้งแต่หกเดือนขึ้นไปตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และพ้นโทษไปถึงวันรับสมัครรับเลือกตั้งยังไม่ครบสิบปี หรือผู้ถูกจำคุกหรือเคยถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตั้งแต่สองครั้งขึ้นไป ทั้งนี้ เว้นแต่ความผิดลหุโทษหรือ ความผิดที่มีกำหนดโทษชั้นลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท” บทบัญญัติดังกล่าวนี้จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล ฉะนั้น แม้ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันได้กำหนดเรื่องลักษณะของบุคคลผู้ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนไว้เป็นประการอื่นดังที่ปรากฏตามมาตรา 89(4) ก็ตาม ก็มิได้กระทบกระเทือนถึงเรื่องความขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลแต่ประการใด เหตุผลดังกล่าวจะเห็นได้ชัดยิ่งขึ้น เมื่อภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญและภายหลังการเลือกตั้งในคดีนี้แล้ว ได้มีพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2511 มาตรา 12 ให้ยกเลิกความในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช 2482 ซึ่งถูกแก้ไขแล้วนั้น และให้ใช้ข้อความเกี่ยวกับลักษณะของบุคคลผู้ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งดังที่บัญญัติขึ้นใหม่แทน แสดงให้เห็นว่าเกี่ยวกับความขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนั้น พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลบัญญัติขึ้นต่างหากเป็นเอกเทศ มิได้อาศัยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันที่เกี่ยวกับลักษณะของบุคคลผู้ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน

ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช 2482 มาตรา 21 ตามที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2501 นั้น หาขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 89 ไม่

พิพากษายืน

Share