คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1276/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2473 มาตรา 24 ตามที่เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2479 วรรคสามที่ว่า’ห้ามมิให้ใช้รถยนต์อื่นรับจ้างหาผลประโยชน์โดยรับคนโดยสารซึ่งเสียค่าโดยสารเป็นรายตัวตามรายทางในเขตถนนที่ได้รับอนุญาตให้มีรถประจำทางขึ้น ฯลฯ’ นั้น หมายความว่าห้ามรถยนต์อื่นที่มิใช่รถยนต์ประจำทางที่ได้รับอนุญาตแล้ว
ประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์ก่อนได้รับใบอนุญาต และต่อมาได้รับใบอนุญาตให้ประกอบการขนส่งได้ย้อนหลังไปการประกอบการขนส่งก่อนได้รับใบอนุญาตแต่อยู่ในระหว่างเวลาที่ระบุไว้ในใบอนุญาตย่อมไม่เป็นความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2509 จำเลยขับรถยนต์รับจ้างวิ่งรับจ้างหาผลประโยชน์รับคนโดยสารตามเส้นทางสายทุ่งสง-นครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเขตถนนที่บริษัทนครขนส่งจำกัดเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการขนส่งประจำทาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติรถยนต์ฯ

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริษัทนครขนส่งจำกัดได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์บนเส้นทางจากนครศรีธรรมราชถึงทุ่งสง ส่วนจำเลยเป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดนครบริการซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางสายภูเก็ตถึงนครศรีธรรมราช มีระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 22 กันยายน 2509ถึงวันที่ 21 กันยายน 2514 และในวันที่ 29 ธันวาคม 2509 จำเลยได้ขับรถยนต์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดนครบริการทับเส้นทางของบริษัทนครขนส่งจำกัดที่อำเภอร่อนพิบูลย์ ซึ่งอยู่ในเส้นทางของบริษัทนครขนส่งจำกัดและห้างหุ้นส่วนจำกัดนครบริการร่วมกัน เห็นว่าพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2473 มาตรา 24 และเพิ่มเติมความเป็นวรรค 2 และ 3 ของมาตรา 24โดยมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2479 แต่ที่เกี่ยวกับคดีนี้คือมาตรา 24 วรรค 3 ซึ่งบัญญัติว่า “ห้ามมิให้ใช้รถยนต์อื่นรับจ้างหาผลประโยชน์โดยรับคนโดยสารซึ่งเสียค่าโดยสารเป็นรายตัวตามรายทางในเขตถนนที่ได้รับอนุญาตให้มีรถประจำทางขึ้น ฯลฯ” นั้น เมื่อจำเลยเป็นคนขับรถยนต์ประจำทางของห้างหุ้นส่วนจำกัดนครบริการซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งจากภูเก็ตถึงนครศรีธรรมราช รถยนต์ของจำเลยจึงไม่ใช่รถยนต์อื่นตามความหมายของมาตรา 24 วรรค 3 นี้ เพราะรถของจำเลยเป็นรถยนต์ประจำทางที่ได้รับอนุญาตแล้ว ส่วนข้อที่ว่าใบอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางของห้างหุ้นส่วนจำกัดนครบริการได้รับอนุญาตเมื่อเดือนเมษายน 2510 คือหลังจากเกิดเหตุคดีนี้แล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าใบอนุญาตของห้างหุ้นส่วนจำกัดนครบริการแม้จะเพิ่งออกให้เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2510 แต่ตามใบอนุญาตนั้นมีข้อความว่านายทะเบียนออกใบอนุญาตฉบับนั้นให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดนครบริการประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์โดยสารจากภูเก็ตถึงนครศรีธรรมราชมีระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 22 กันยายน 2509 ถึงวันที่ 21 กันยายน 2514 ฉะนั้นการเดินรถยนต์ขนส่งประจำทางของจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดนครบริการจึงอยู่ในระหว่างเวลาที่ได้รับอนุญาตแล้ว

พิพากษายืน

Share