คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 35/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ตามกรมธรรม์ประกันภัยจะระบุไว้ว่า ในกรณีทรัพย์ที่เอาประกันภัยต้องวินาศภัย ถ้าเกิดความเห็นแตกต่างกันในจำนวนวินาศภัยหรือเสียหายให้ตั้งอนุญาโตตุลาการชี้ขาดเสียก่อน แต่เมื่อทรัพย์ที่เอาประกันภัยถูกเพลิงไหม้เสียหายหมดสิ้น ก็หาจำต้องมีการเสนอตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดจำนวนวินาศภัยหรือเสียหายไม่
เมื่อทรัพย์ที่เอาประกันภัยถูกเพลิงไหม้และผู้รับประโยชน์มีหนังสือแจ้งให้ผู้รับประกันภัยทราบผู้รับประกันภัยกลับเพิกเฉย ไม่ยอมทำความตกลงหรือเสนอขอตั้งอนุญาโตตุลาการแต่อย่างใด ดังนี้ เท่ากับผู้รับประกันภัยปฏิเสธความรับผิดของตนโดยสิ้นเชิง ผู้รับประโยชน์ย่อมมีสิทธิฟ้องผู้รับประกันภัยได้โดยไม่จำต้องเสนอขอตั้งอนุญาโตตุลาการเสียก่อน
ในกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยทำไว้กับจำเลยผู้รับประกันภัยระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ เมื่อทรัพย์ที่เอาประกันภัยถูกเพลิงไหม้เสียหายหมดสิ้น และโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาแก่จำเลย โดยมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทราบแล้วว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาตามกรมธรรม์นั้น สิทธิของโจทก์ย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ผู้เอาประกันภัยและจำเลยหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 375

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายชำนิ ชีพธรรม ลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของโจทก์ ได้ประกันวินาศภัยโรงแรมและเฟอร์นิเจอร์ไว้กับจำเลยเป็นเงิน 300,000 บาทและโอนสิทธิการรับผลประโยชน์ให้โจทก์รับ ต่อมาเกิดอัคคีภัยไหม้ทรัพย์ที่เอาประกันเสียหายหมด โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยจ่ายเงิน แต่จำเลยเพิกเฉยจึงขอให้ศาลบังคับ

จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์จะเป็นผู้รับประโยชน์หรือไม่ ไม่รับรองเมื่อเกิดอัคคีภัย โจทก์หรือนายชำนิมิได้ทำรายการแจ้งให้จำเลยทราบภายใน 15 วันตามกรมธรรม์ และมิได้แจ้งรายละเอียดทรัพย์สินที่เสียหาย ซึ่งจะทำให้มีการคำนวณค่าเสียหาย เพราะทรัพย์มิได้เสียหายหมดสิ้น เป็นการผิดเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ และผู้เอาประกันภัยต้องตกลงกับจำเลยก่อน หากไม่ตกลงกันต้องเสนอตั้งอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาท ถ้าไม่พอใจจึงจะมีสิทธิฟ้องศาล นอกจากนี้นายชำนิยังแจ้งกับจำเลยขอเพิกถอนสิทธิที่จะให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์จำเลยจึงไม่มีหน้าที่จ่ายเงินแก่ผู้ใด

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 300,000 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาต่อมา

ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายชำนิได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารโจทก์ในวงเงิน 200,000 บาท โดยมอบอาคารโรงแรมเป็นประกัน และนายชำนิได้ทำสัญญาประกันวินาศภัยอาคารโรงแรมพร้อมด้วยเฟอร์นิเจอร์ไว้กับจำเลยเป็นเงิน 300,000 บาท โดยระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ดังกล่าว ต่อมาได้เกิดเพลิงไหม้ตลาด และลุกลามไหม้ทรัพย์ที่เอาประกันนั้น มีปัญหาว่า จำเลยจะต้องชำระเงินให้โจทก์ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าทรัพย์ที่เอาประกันภัยได้ถูกเพลิงไหม้เสียหายทั้งหมด มิใช่เสียหายเพียงบางส่วนดังจำเลยต่อสู้และฎีกาและหลังจากเกิดเพลิงไหม้แล้วเพียง 10 วัน โจทก์ได้แจ้งถึงความเสียหายให้จำเลยทราบตามข้อสัญญาในกรมธรรม์

ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่า เมื่อทรัพย์ที่เอาประกันภัยไว้ได้เสียหายหมดสิ้น กรณีก็หาต้องมีการเสนอตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดเกี่ยวกับค่าวินาศภัยหรือเสียหายตามกรมธรรม์ข้อ 18 ไม่ทั้งเมื่อได้แจ้งเรื่องเพลิงไหม้ให้จำเลยทราบ จำเลยก็เพิกเฉย ซึ่งเท่ากับจำเลยปฏิเสธความรับผิดของตนโดยสิ้นเชิง ไม่ยอมมาทำความตกลงหรือขอตั้งอนุญาโตตุลาการแต่อย่างใด โจทก์จึงย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยได้โดยมิต้องปฏิบัติตามกรมธรรม์ข้อ 18

กรมธรรม์ประกันวินาศภัยซึ่งนายชำนิทำไว้กับจำเลย ได้ระบุไว้ว่า ผลประโยชน์อันจะพึงได้รับจากกรมธรรม์ กรณีเกิดการชดใช้ค่าเสียหายในระหว่างอายุสัญญา ให้ธนาคารโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้นแก่ทรัพย์ที่นายชำนิเอาประกันภัยไว้กับจำเลยจนหมดสิ้น และโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาแก่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ โดยมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทราบแล้วว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาตามกรมธรรม์นั้น สิทธิของโจทก์ย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นว่านายชำนิและจำเลยหาอาจเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374, 375 นั้น การที่นายชำนิมีหนังสือเพิกถอนโจทก์จากการเป็นผู้รับประโยชน์ จึงไม่มีผลแต่อย่างใด จำเลยคงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ตลอดไป

คดีฟังได้ว่า โจทก์ได้บอกกล่าวไปยังจำเลยแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระเงินให้โจทก์ จำเลยจึงไม่พ้นความรับผิด

พิพากษายืน

Share