คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3465/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประธานกรรมการฝ่ายบริหารและกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์เป็นบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทตั้งขึ้นให้มีอำนาจหน้าที่จัดการบริษัทตามข้อบังคับในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่และเป็นผู้แทนแสดงความประสงค์ของบริษัทมิใช่บุคคลที่บริษัทตกลงรับเข้าทำงานทั้งมิใช่เป็นผู้ที่ ต้องทำงานภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของบริษัทประธานกรรมการฝ่ายบริหารและกรรมการผู้จัดการจึงมิใช่ลูกจ้างของบริษัทโจทก์ และจะเป็นลูกจ้างของบริษัทต่อเมื่อเป็นผู้ตกลงทำงานให้แก่บริษัทเพื่อรับค่าจ้างอีกชั้นหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นกรมในกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่บริหารและควบคุมเกี่ยวกับแรงงาน จำเลยที่ 2 เป็นอธิบดีของจำเลยที่ 1 และเป็นประธานคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2523 วันที่ 17 ตุลาคม 2523 และวันที่ 31 ตุลาคม 2523 จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือที่ มท. 1211/34821ที่ มท. 1211/36964 และ ที่ มท. 1211/37176 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าเนื่องจากโจทก์มีลูกจ้างครบยี่สิบคนมีหน้าที่ต้องชำระเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน จึงมีคำสั่งให้โจทก์ชำระเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนประจำปี 2522 ประจำปี 2523 พร้อมเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือนและประจำปี 2524 คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 19,076.30 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวเพราะโจทก์มีลูกจ้างเพียง 16 คน ส่วนอีก 4 คนคือ นายอันโตเนียว เอ็ม เมียร์ ตำแหน่งประธานกรรมการฝ่ายบริหาร นายริชาร์ด ยูยีน บราวด์ ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ หม่อมราชวงศ์เลอชัย ชยางกูร ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และนายมาซาโนริ ทาคิต้า ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการฝ่ายบริหารงานด้านสั่งสินค้าเข้าและส่งสินค้าออก เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์จึงเป็น “นายจ้าง” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนซึ่งเป็นหน่วยงานของจำเลยที่ 1 คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนพิจารณาแล้วมีมติยืนตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 และได้แจ้งให้โจทก์ทราบตามหนังสือที่ มท. 1211/2047 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2524 ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1

จำเลยทั้งสองให้การว่า ประธานกรรมการและกรรมการบริษัทแม้มีฐานะเป็นนายจ้างตามคำนิยามของ “นายจ้าง” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย แต่เป็นเพียงนายจ้างของพนักงาน มิใช่นายจ้างของบริษัทเสียเอง ฐานะระหว่างกรรมการบริษัทโจทก์กับโจทก์นั้น ประธานกรรมการและกรรมการเป็นผู้ตกลงทำงานให้โจทก์เพื่อรับค่าจ้างเห็นได้จากการที่ประธานกรรมการและกรรมการทุกคนรับเงินเดือนจากโจทก์ มีหลักฐานการเสียภาษีแก่กรมสรรพากรในฐานะลูกจ้างและทุกคนต้องอยู่ในข่ายคุ้มครองแรงงานของกองทุนเงินทดแทนด้วย ประธานกรรมการและกรรมการทุกคนของบริษัทโจทก์จึงเป็นลูกจ้างโจทก์ โจทก์จึงเป็นกิจการซึ่งมีลูกจ้างอยู่ในกรุงเทพมหานครตั้งแต่ยี่สิบคนขึ้นไปมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ประเภท ขนาดของกิจการและท้องที่ที่ให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2516 คำสั่งของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ในวันนัดพิจารณา โจทก์ส่งหนังสือที่ มท. 1211/34821 ที่ มท. 1211/36904 และที่ มท. 1211/37176 ต่อศาล จำเลยรับรองเอกสารดังกล่าว จำเลยส่งแบบ ภ.ง.ด. 1 ก. ประจำปี 2522และปี 2523 กับบัญชีรายชื่อพนักงานลูกจ้างของบริษัทโจทก์ซึ่งเป็นเอกสารที่บริษัทโจทก์ส่งไปให้จำเลยต่อศาล โจทก์รับรองความถูกต้องของเอกสารที่จำเลยส่งและแถลงว่าประธานกรรมการและกรรมการที่เป็นปัญหาทั้งสี่คนได้รับเงินได้ตามตำแหน่งหน้าที่โดยบริษัทโจทก์จ่ายให้เป็นรายเดือน แต่มิใช่เงินตามการจ้างแรงงานและมิใช่เงินปันผล สำหรับรายได้ของประธานกรรมการและกรรมการประจำปี 2522 คงเป็นเช่นเดียวกับปี 2523 ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยาน

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ประธานกรรมการฝ่ายบริหารและกรรมการผู้จัดการรวมสี่คนของโจทก์ได้รับเงินเดือนเป็นรายเดือนสืบเนื่องจากเป็นประธานกรรมการและกรรมการ ถือว่าเป็นค่าตอบแทนในการทำงานและเป็นค่าจ้าง ย่อมเป็นลูกจ้างของบริษัทโจทก์ บริษัทโจทก์จึงมีลูกจ้างจำนวนยี่สิบคนตามหลักเกณฑ์ที่จะต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน คำสั่งของจำเลยชอบแล้ว พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าคำว่า “ลูกจ้าง”ที่ใช้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ประเภท ขนาดของกิจการและท้องที่ที่ให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2516 นั้น หมายถึง “ลูกจ้าง” ที่นิยามไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 1 โดยมีสารสำคัญคือเป็นผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง สำหรับกรรมการบริษัทรวมทั้งประธานกรรมการนั้นเป็นบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทตั้งขึ้นให้มีอำนาจหน้าที่จัดการบริษัทตามข้อบังคับภายในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่และเป็นผู้แทนแสดงความประสงค์ของบริษัท เห็นได้ว่ากรรมการบริษัทมิใช่บุคคลที่บริษัทตกลงรับเข้าทำงาน ทั้งมิใช่เป็นผู้ที่ต้องทำงานภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของบริษัท จึงหาใช่ลูกจ้างของบริษัทไม่ กรรมการบริษัทจะเป็นลูกจ้างของบริษัทก็ต่อเมื่อเป็นผู้ตกลงทำงานให้แก่บริษัทเพื่อรับค่าจ้างอีกชั้นหนึ่ง ตามคำฟ้องคำให้การและคำแถลงของคู่ความซึ่งศาลแรงงานกลางฟังมาได้ความว่า กรรมการสี่คนของบริษัทโจทก์มีตำแหน่งเรียกว่าประธานกรรมการฝ่ายบริหารคนหนึ่งและกรรมการผู้จัดการอีกสามคนแต่ละคนได้รับเงินได้ตามตำแหน่งหน้าที่จากบริษัทโจทก์เป็นรายเดือน เห็นว่ายังไม่ได้ความชัดว่าประธานกรรมการฝ่ายบริหารและกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ได้ตกลงทำงานให้แก่บริษัทโจทก์เพื่อรับค่าจ้างอีกชั้นหนึ่งหรือไม่ เพราะหากการเป็นประธานกรรมการฝ่ายบริหารและกรรมการผู้จัดการของบุคคลดังกล่าวเป็นเพียงการมอบอำนาจของกรรมการให้แก่กรรมการด้วยกันเอง โดยเงินได้รายเดือนเป็นบำเหน็จซึ่งที่ประชุมใหญ่กำหนดให้สำหรับการเป็นกรรมการเท่านั้นแล้ว ประธานกรรมการฝ่ายบริหารและกรรมการผู้จัดการรวมสี่คนของบริษัทโจทก์ก็เป็นเพียงกรรมการบริษัทโจทก์ หาใช่ลูกจ้างโจทก์ไม่ แต่ถ้าการเป็นประธานกรรมการฝ่ายบริหารและกรรมการผู้จัดการเป็นเรื่องกรรมการตกลงทำงานในตำแหน่งดังกล่าวให้แก่บริษัทโจทก์และเงินได้รายเดือนเป็นเงินที่บริษัทโจทก์จ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานในตำแหน่งนั้นบุคคลทั้งสี่ก็เป็นลูกจ้างของบริษัทโจทก์ เห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคำให้การและคำแถลงของคู่ความยังไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ประธานกรรมการฝ่ายบริหารและกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์เป็นลูกจ้างของโจทก์หรือไม่ คดีต้องฟังข้อเท็จจริงต่อไป

พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการพิจารณาต่อไปเกี่ยวกับข้อที่ว่าประธานกรรมการฝ่ายบริหารและกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์รวมสี่คนเป็นผู้ตกลงทำงานให้แก่บริษัทโจทก์เพื่อรับค่าจ้างอีกชั้นหนึ่งหรือไม่ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share