แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การหักกลบลบหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ เป็นส่วนหนึ่งของวิธีจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 102 ให้กระทำได้แม้มูลแห่งหนี้ทั้งสองฝ่ายจะไม่มีวัตถุอย่างเดียวกัน หรืออยู่ในเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาก็ตาม
ธนาคารผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้และมีหน้าที่จะต้องคืนเงินที่รับฝากแก่จำเลย จึงมีสิทธิหักกลบลบหนี้ โดยแสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 102 ได้ แม้จะไม่ได้แสดงเจตนาต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91 ก็ตาม เพราะกรณีมิใช่ธนาคารผู้ร้องร้องขอรับชำระหนี้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2522 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม 2523ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยมีเงินฝากประจำในธนาคารผู้ร้องจำนวน 1,411,362.18 บาท กับจำเลยเป็นลูกหนี้ธนาคารผู้ร้องตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นเงิน 1,395,994.19 บาทถ้าหักกลบลบหนี้กันแล้วธนาคารผู้ร้องยังเป็นหนี้กองทรัพย์สินของจำเลย 15,367.99 บาท เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือแจ้งอายัดให้ธนาคารผู้ร้องส่งเงินฝากของจำเลยต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ธนาคารผู้ร้องจึงขอหักกลบลบหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา 102 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ให้ธนาคารผู้ร้องส่งมอบเงินฝากของจำเลยพร้อมดอกเบี้ยแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ขอให้ศาลมีคำสั่งกลับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าพนักงานพิทักษ์ยื่นคำคัดค้านว่า การที่จำเลยนำเงินฝากประจำไว้กับธนาคารผู้ร้อง ธนาคารผู้ร้องยังหาเป็นลูกหนี้จำเลยไม่ คงมีหน้าที่ต้องชำระเงินคืนเมื่อถึงกำหนด ตราบใดที่ยังไม่มีการผิดสัญญา หนี้ก็หาเกิดขึ้นไม่การหักกลบลบหนี้จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากถือว่าธนาคารผู้ร้องเป็นลูกหนี้จำเลยธนาคารผู้ร้องไม่ได้แสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนด 2 เดือนตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดไว้ ทำให้ขัดข้องในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกขอให้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยกคำร้องของธนาคารผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ให้จำหน่ายธนาคารผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้ของจำเลย เว้นแต่หนี้ส่วนที่เหลือจากการหักกลบลบหนี้จำนวน15,367.99 บาท ให้ธนาคารผู้ร้องส่งมอบแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 8 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2522เป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบเสร็จ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่าธนาคารผู้ร้องมีสิทธิขอหักกลบลบหนี้หรือไม่ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 หมวด 4วิธีจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ ส่วนที่ 1 การขอรับชำระหนี้ มาตรา 102 บัญญัติว่า “ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ลูกหนี้ในเวลาที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ถึงแม้ว่ามูลแห่งหนี้ทั้งสองฝ่ายจะไม่มีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันก็ดี หรืออยู่ในเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาก็ดีก็อาจหักกลบลบหนี้กันได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้สิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ภายหลังที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ดังนี้ เห็นว่าการหักกลบลบหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิธีจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งตามมาตรา 102 บัญญัติให้กระทำได้แม้มูลแห่งหนี้ทั้งสองฝ่ายจะไม่มีวัตถุเป็นอย่างเดียว หรืออยู่ในเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาก็ตาม คดีนี้ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่าธนาคารผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้กับธนาคารผู้ร้องมีหนี้ที่จะต้องคืนเงินที่รับฝากให้ครบจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657, 672 ธนาคารผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ของจำเลยอยู่ในเวลาที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโดยหาใช่เป็นกรณีที่ธนาคารผู้ร้องได้สิทธิเรียกร้องต่อจำเลยภายหลังที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วไม่ ฉะนั้น เมื่อมูลแห่งหนี้คดีนี้มีวัตถุเป็นเงินอย่างเดียวกันสภาพแห่งหนี้เปิดช่องให้หักกลบลบหนี้กันได้ ธนาคารผู้ร้องย่อมมีสิทธิหักกลบลบหนี้โดยการแสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 102 ได้ แม้จะไม่ได้แสดงเจตนาต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91 นั้น ก็ตาม เพราะธนาคารผู้ร้องมิได้ร้องขอรับชำระหนี้ และมิใช่เป็นกรณีที่ธนาคารผู้ร้องได้สละสิทธิขอรับชำระหนี้ดังข้อโต้แย้งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้นแต่อย่างใด ทั้งโดยเฉพาะข้อเท็จจริงตามคำร้องซึ่งรับกันแล้วว่าจำเลยเป็นลูกหนี้ธนาคารผู้ร้องตามจำนวนในคำร้องจริงโดยความจริงในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าการที่ธนาคารผู้ร้องแสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้เมื่อพ้นกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้นเป็นการขัดข้องต่อการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเพื่อพิจารณาคำขอประนอมหนี้หรือเพื่อจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ (จำเลย) ดังข้อกล่าวอ้างของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้นแต่อย่างใดที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว
พิพากษายืน