คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2009/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยโดยกำหนดเงื่อนไขการชำระเงินไว้ว่า โจทก์จะต้องชำระราคาซื้อขายทั้งหมดให้แก่จำเลยในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ก่อนถึงวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ทนายจำเลยมีหนังสือถึงทนายโจทก์ยืนยันเงื่อนไขดังกล่าว มิฉะนั้นจำเลยขอบอกเลิกสัญญา อันเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ชำระหนี้ไว้แล้ว เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญาในวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ โดยยืนยันจะชำระราคาซื้อขายเป็นสองงวด ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงมีสิทธิเลิกสัญญาและริบมัดจำเสียได้
เมื่อจำเลยใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้วโดยชอบ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนขายที่ดินรายพิพาทพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ และย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
จำเลยจะเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาก่อนวันที่โจทก์ผิดสัญญาไม่ได้และเมื่อจำเลยใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว จำเลยก็ไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระค่าที่ดินเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาอีก ดอกเบี้ยจึงไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินเลขที่ 3471 พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้าง โจทก์ทั้งสองกับนายเตียวเปา ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างกับจำเลยทั้งสามในราคา 5,656,000 บาท กำหนดโอนในวันที่ 28มีนาคม 2518 และตกลงจะชำระเงินค่าที่ดินให้จำเลยทั้งสามในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ครึ่งหนึ่งของราคาที่ดิน ส่วนที่เหลือผู้จะซื้อจะจัดให้ธนาคารค้ำประกันการชำระเงินภายใน 8 เดือนนับแต่วันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ต่อมานายเตียวเปาได้ขอถอนหุ้นโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสามได้ยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร โดยจำเลยทั้งสามได้ลดราคาลงเหลือ 5,286,320 บาท ส่วนเงื่อนไขการชำระเงินและอื่น ๆ คงเป็นไปตามสัญญาเดิม ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินได้มีหนังสือแจ้งว่าอนุมัติให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ วันที่ 15 มิถุนายน 2519 โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามได้ไปพร้อมกัน ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครแต่จำเลยกลับบ่ายเบี่ยงบิดพลิ้วไม่ยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์และขอเลิกสัญญาแต่โจทก์ไม่ยอม โจทก์ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่ผู้มีชื่อ การที่จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลบังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินรายพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างใช้ค่าเสียหายและคืนเงินมัดจำแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งว่า นอกจากข้อตกลงตามสัญญานายเตียวเปายังตกลงจะชำระราคาที่ดินเพิ่มให้จำเลยที่ 2 อีก 202,000 บาท ปรากฏว่านายเตียวเปาเป็นบุคคลต่างด้าว ไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ นายเตียวเปาจึงให้โจทก์ทั้งสองเข้าเป็นผู้ซื้อและชำระราคาที่ดินรายพิพาทในราคาเดิม รวมทั้งค่าที่ดินส่วนที่เพิ่ม 202,000 บาทดังกล่าวด้วย ซึ่งจำเลยทั้งสามก็ยินยอมจึงได้ร่วมกับโจทก์ทั้งสองยื่นเรื่องราวจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จำเลยทั้งสามจึงตกลงกับโจทก์ทั้งสองว่า เมื่อกรมที่ดินอนุมัติแล้วโจทก์ต้องชำระราคาที่ดินทั้งหมดให้แก่จำเลยไปครึ่งเดียวในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ส่วนค่าที่ดินเพิ่ม 202,000 บาท โจทก์ต้องชำระให้จำเลยที่ 2 ก่อนวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อกรมที่ดินอนุมัติให้จดทะเบียนซื้อขายที่ดินรายพิพาทได้แล้วจำเลยติดต่อให้โจทก์ชำระค่าที่ดินส่วนเพิ่มจำนวน 202,000 บาทและให้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินรายพิพาท โจทก์กลับขอผัดผ่อน ครั้นถึงวันนัด จำเลยให้โจทก์ชำระราคาที่ดินทั้งหมดพร้อมค่าเสียหายเท่าอัตราดอกเบี้ยในต้นเงิน 5,286,320 บาท กับให้ชำระค่าที่ดินส่วนเพิ่มอีก 202,000 บาท แต่โจทก์ขอชำระเพียง 2,358,820 บาท ซึ่งยังไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของราคาที่ดินที่ตกลงกันและจะขอชำระอีก 2,828,000 บาท ในอีก 8 เดือนข้างหน้า โดยไม่ยอมชำระค่าเสียหายและไม่ยอมชำระค่าที่ดินส่วนเพิ่ม 202,000 บาท จึงตกลงกันไม่ได้ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยได้บอกเลิกสัญญากับโจทก์ในวันนั้น จำเลยขอคิดค่าเสียหายเท่าอัตราดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีเป็นเงิน 809,527 บาท และในวันที่ 16 มิถุนายน 2519 โจทก์ได้ทำการอายัดที่ดินรายพิพาทไว้มีกำหนด 60 วัน จำเลยขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 137,208 บาทขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน946,735 บาทแก่จำเลยทั้งสาม

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งยืนยันตามคำฟ้อง และว่านายเตียวเปาไม่เคยตกลงชำระค่าที่ดินเพิ่มให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลย

โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินมัดจำ 100,000 บาทแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา และวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงมีสิทธิเลิกสัญญาและริบมัดจำเสียได้

ศาลฎีกาเชื่อว่า โจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสามได้ตกลงกันเกี่ยวกับเงื่อนไขการชำระเงินไว้แล้วว่า โจทก์จะต้องชำระราคาซื้อขายทั้งหมดให้แก่จำเลยในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ มิใช่ชำระเป็น2 งวด ตามสัญญาจะซื้อขายเดิม ที่นายเตียวเปา แซ่โค้ว ทำไว้กับจำเลยทั้งสาม อนึ่ง ข้อเท็จจริงยังได้ความด้วยว่า ก่อนที่จะนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยได้มอบให้ทนายความมีหนังสือถึงทนายโจทก์แจ้งให้ทราบว่า โจทก์จะต้องชำระราคาซื้อขายทั้งหมดในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ มิฉะนั้นจำเลยขอบอกเลิกสัญญา ดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.13 อันเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ชำระหนี้ไว้แล้วดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญาในวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ โดยยืนยันจะชำระราคาซื้อขายให้แก่จำเลยทั้งสามเป็น 2 งวด ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยจึงมีสิทธิเลิกสัญญาและริบมัดจำเสียได้

เมื่อจำเลยใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้วโดยชอบ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิขอให้บังคับจำเลยทั้งสามจดทะเบียนโอนขายที่ดินรายพิพาทพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ และโดยเหตุที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสาม ฎีกาของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นอันตกไปทั้งหมด คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า จำเลยมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์เพียงใดหรือไม่

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ตามฟ้องแย้งของจำเลยกล่าวอ้างว่าการที่โจทก์ผิดสัญญาทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เพราะถ้าโจทก์ปฏิบัติตามสัญญาจำเลยจะได้รับชำระค่าที่ดินและค่าที่ดินส่วนเพิ่มรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,488.320 บาท ซึ่งอาจเอาออกหาผลประโยชน์ได้ จำเลยจึงขอคิดค่าเสียหายเท่าอัตราดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2518 ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินอนุมัติให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2519 ซึ่งเป็นวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ แต่ตกลงกันไม่ได้จนจำเลยบอกเลิกสัญญาและในวันที่ 16 มิถุนายน 2519 หลังจากจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ได้ขออายัดที่ดินรายพิพาทไว้โดยไม่มีสิทธิที่จะทำได้ ทำให้จำเลยไม่อาจโอนขายแก่บุคคลภายนอกได้เป็นเวลา 60 วัน จำเลยขอคิดค่าเสียหายเท่าอัตราดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีในต้นเงินดังกล่าวอีกส่วนหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เพิ่งผิดสัญญาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2519 ก่อนหน้านั้นโจทก์ยังไม่ผิดสัญญา จำเลยจะเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาก่อนวันที่โจทก์ผิดสัญญาหาได้ไม่ ทั้งเมื่อจำเลยใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว จำเลยก็ไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระค่าที่ดินเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาอีก ดอกเบี้ยจึงไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น ส่วนการที่โจทก์ขออายัดที่ดินรายพิพาทไว้มีกำหนดเวลา 60 วันนั้นจำเลยมิได้นำสืบว่า โจทก์จงใจกลั่นแกล้งจำเลยอันเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น และข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดมาติดต่อขอซื้อที่ดินรายพิพาทจากจำเลยจำเลยจึงไม่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของโจทก์ เมื่อจำเลยนำสืบไม่ได้ว่าได้รับความเสียหายยิ่งกว่ามัดจำที่ริบแล้ว ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมจากโจทก์อีก

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share