แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้เอกสารที่โจทก์ทำจะมิใช่เอกสารสละมรดกตามความหมายของมาตรา 1612 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะได้ความว่าทรัพย์มรดกที่โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในฐานะทายาทนอกจากที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นแล้ว ยังมีทรัพย์อื่นอีกและการสละมรดกจะทำแต่เพียงบางส่วนไม่ได้ตามมาตรา 1613แต่เอกสารดังกล่าวก็เป็นหลักฐานแห่งสัญญาแบ่งปันมรดกซึ่งโจทก์ลงลายพิมพ์นิ้วมือให้ไว้กับจำเลยว่า โจทก์เป็นทายาทของเจ้ามรดก มีสิทธิได้รับมรดกแต่โจทก์ไม่พึงปรารถนาที่จะรับโอนมรดก โดยตกลงยินยอมให้จำเลยซึ่งเป็นบุตรของเจ้ามรดกเป็นผู้รับโอนย่อมมีผลบังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850,852 และ 1750โจทก์เรียกร้องทรัพย์มรดกส่วนนี้ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นทายาทมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกของ ช. คนละเท่า ๆ กัน แต่จำเลยไม่ยอมแบ่งให้โจทก์ตามส่วนจึงขอให้บังคับจำเลย
จำเลยให้การต่อสู้คดีหลายประการ รวมทั้งต่อสู้ว่าโจทก์ได้ทำหนังสือสละมรดกแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์สละมรดกบางส่วนแล้ว แต่ยังมีทรัพย์มรดกที่โจทก์มีสิทธิได้รับอยู่ พิพากษาให้จำเลยแบ่งให้แก่โจทก์ตามส่วน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้โจทก์ได้รับทรัพย์มากขึ้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ปัญหาข้อต่อไปที่ว่าโจทก์ได้ทำหลักฐานสละมรดกตามเอกสารหมาย ล.1 หรือไม่ เห็นว่า เอกสารดังกล่าวได้ทำต่อหน้าปลัดอำเภอซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ นายสง่า วัฒนาชีรานนท์ ปลัดอำเภอผู้ทำบันทึกเอกสารดังกล่าวเบิกความประกอบคำจำเลยยืนยันว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาสละมรดกของนางชุ่มซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับในฐานะเป็นทายาท ซึ่งมีที่ดินกับเงินสดในธนาคารตามเอกสารหมาย ล.1 โดยจำเลยที่ 1 และนายทองแหวน บุญบุตรกำนันพาโจทก์มาพบพยาน ณ ที่ว่าการอำเภอลำลูกกา และพยานได้สอบถามความสมัครใจของโจทก์แล้ว จึงเชื่อว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของนางชุ่มตามเอกสารหมาย ล.1 จริง แม้เอกสารหมาย ล.1 จะมิใช่เอกสารสละมรดกตามความหมายของมาตรา 1612 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะได้ความว่าทรัพย์มรดกของนางชุ่มที่โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในฐานะทายาทนอกจากที่ระบุไว้ในเอกสารหมาย ล.1 แล้ว ยังมีทรัพย์อื่นอีก และการสละมรดกจะทำแต่เพียงบางส่วนไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1613 ก็ตาม แต่เอกสารหมาย ล.1 เป็นหลักฐานแห่งสัญญาแบ่งปันมรดกซึ่งโจทก์ลงลายพิมพ์นิ้วมือให้ไว้กับจำเลยว่าโจทก์เป็นทายาทของเจ้ามรดก มีสิทธิได้รับที่ดินแปลงที่ตั้งอยู่อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก และเงินสดในธนาคาร แต่โจทก์ไม่พึงปรารถนาที่จะรับโอนมรดกต่อไป โจทก์ตกลงยินยอมให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5ซึ่งเป็นบุตรของเจ้ามรดกเป็นผู้รับโอน ย่อมมีผลบังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850, 852 และ 1750 โจทก์เรียกร้องทรัพย์มรดกส่วนนี้ไม่ได้ ฎีกาโจทก์จำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน