คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1497/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทจำเลยมีลูกจ้างถึง 2000 กว่าคน ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานมีการทำงานตามปกติในวันจันทร์ถึงวันเสาร์และมีการทำงานล่วงเวลาทุกวัน สำหรับวันเสาร์เลิกงาน 13 นาฬิกา หลังจากนั้นเป็นการทำงานล่วงเวลาวันอาทิตย์เป็นวันหยุดแต่มีการทำงานในวันหยุดมีกำหนดไม่เกิน 8 ชั่วโมง ลูกจ้างที่มาทำงานมีสิทธิได้รับค่าจ้างทำงานวันหยุดไม่เกิน 8 ชั่วโมง การเบิกค่าจ้างจะตรวจสอบเวลาทำงานตามใบเบิกกับบัตรตอกเวลาทำงานของลูกจ้าง เมื่อเห็นว่าใบเบิกมีเวลาทำงานไม่เกินไปกว่าเวลาทำงานในบัตรตอกเวลาทำงานก็จ่ายค่าจ้างให้ตามใบเบิกเงินนั้นข้อบังคับการทำงานดังกล่าวเกี่ยวกับตอกบัตรเวลาทำงานนอกจากจะเป็นหลักฐานแสดงถึงระยะเวลาที่ลูกจ้างของจำเลยแต่ละคนปฏิบัติงานในแต่ละวันแล้ว ยังเป็นหลักฐานในการเบิกจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานล่วงเวลา ในกรณีมีการทำงานล่วงเวลาด้วย บริษัทจำเลยเคยมีปัญหาเรื่องการตอกบัตรเวลาทำงานไม่ตรงตามความจริงมาแล้ว จึงได้ประกาศเตือนลูกจ้างว่าหากมีการทุจริตเกี่ยวกับการตอกบัตรเวลาบริษัทจำเป็นจะต้องเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย โจทก์ตอกบัตรเวลาทำงานฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลย โดยกลับจากทำงาน 12 นาฬิกาแต่ตอกบัตรเวลากลับ 21 นาฬิกาในวันเสาร์และได้ออกไปจากที่ทำงานตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกา แต่ตอกบัตรเวลากลับจากทำงาน 19.02 นาฬิกา จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าวเป็นกรณีร้ายแรงจำเลยเลิกจ้างโจทก์เสียได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งออกใบสำคัญผ่านงานให้แก่โจทก์โดยระบุว่า “ไล่ออก” ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างเนื่องจากมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า 15,800 บาท ค่าชดเชย 79,200 บาท และออกใบสำคัญ (ใบผ่านงาน)ให้แก่โจทก์ใหม่

จำเลยให้การว่า โจทก์กระทำผิดอย่างร้ายแรงโดยตอกบัตรเวลาทำงานไม่ตรงกับความจริง เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของจำเลยเป็นกรณีละเมิดอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใบรับรองการผ่านงานมิได้ระบุว่าโจทก์ถูกไล่ออก

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ตอกบัตรเวลาทำงานฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยออกใบรับรองการผ่านงานให้แก่โจทก์โดยระบุว่าโจทก์ถูกไล่ออกนับว่าเป็นคุณแก่โจทก์อยู่แล้ว พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยมีการทำงานตามปกติในวันจันทร์ถึงวันเสาร์ และมีการทำงานล่วงเวลาทุกวัน สำหรับวันเสาร์เลิกงานเวลา 13 นาฬิกา หลังจากนั้นเป็นการทำงานล่วงเวลา วันอาทิตย์เป็นวันหยุด แต่มีการทำงานวันหยุดไม่เกิน 8 ชั่วโมง ลูกจ้างที่มาทำงานมีสิทธิได้รับค่าทำงานวันหยุดไม่เกิน 8 ชั่วโมง การเบิกค่าจ้างเป็นผู้ทำใบเบิกกันเองพนักงานบัญชีจะตรวจสอบเวลาทำงานตามใบเบิกเงินกับบัตรตอกเวลาทำงานของลูกจ้าง ถ้าไม่เกินเวลาทำงานในบัตรตอกเวลาก็จะจ่ายค่าจ้างไปตามใบเบิกนั้น ปรากฏว่าวันที่ 24มกราคม 2524 โจทก์ไปทำงานตามปกติออกไปทำธุระส่วนตัวตั้งแต่12 นาฬิกา โดยไม่ตอกเวลากลับจนเวลา 21 นาฬิกา โจทก์กลับมาจึงตอกเวลากลับเป็น 21 นาฬิกา และในวันอาทิตย์ที่ 25 มกราคม2524 โจทก์มาทำงานแล้วออกไปจากที่ทำงานตั้งแต่เวลาประมาณ9 นาฬิกา อ้างว่านำรถไปปะยางจนถึงเวลา 19.02 นาฬิกา โจทก์กลับมาแล้วตอกบัตรเวลาทำงานว่ากลับจากทำงานเมื่อ 19.02 นาฬิกาโจทก์อุทธรณ์ยอมรับว่าการตอกบัตรเวลาทำงานเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลย แต่ไม่ใช่เป็นกรณีฝ่าฝืนที่ร้ายแรงเห็นว่าระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยเวลาทำงาน และตอกบัตรเวลาทำงานและตอกบัตรเวลาทำงานนั้นนอกจากจะเป็นหลักฐานแสดงถึงระยะเวลาที่ลูกจ้างของจำเลยแต่ละคนปฏิบัติงานในแต่ละวันแล้วยังเป็นหลักฐานการเบิกจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานล่วงเวลาในกรณีที่มีการทำงานล่วงเวลาด้วย ทั้งจำเลยเคยประสบปัญหาการตอกบัตรเวลาทำงานไม่ตรงความจริงมาแล้วจึงได้ออกประกาศเตือนลูกจ้างเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2522 ใจความว่า หากมีการทุจริตเกี่ยวกับการตอกบัตรเวลา บริษัทจำเป็นจะต้องเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยแต่อย่างใดทั้งสิ้น เห็นได้ว่าระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและการตอกบัตรเวลาทำงานมีความสำคัญที่จำเลยยึดถือเป็นหลักปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อให้การปกครองและระเบียบการทำงานเป็นไปโดยเรียบร้อย และเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยมีลูกจ้างทั้งสิ้นถึง 2,000 กว่าคน หากไม่เคร่งครัดในเรื่องการตอกบัตรเวลาทำงานของลูกจ้าง ย่อมจะเกิดความยุ่งยากในการปกครองและก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยอย่างมากมายในกรณีมีการเบิกค่าจ้างและค่าล่วงเวลาเกินความจริงทำให้จำเลยต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างจำนวนมาก โดยไม่ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการทำงาน อาจเป็นผลกระทบกระเทือนฐานะของจำเลยและขาดทุนจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แม้โจทก์จะยังมิได้นำบัตรตอกเวลาทำงานไปเบิกเงินค่าทำงานล่วงเวลาเพราะถูกเลิกจ้างในวันรุ่งขึ้น 26 มกราคม 2524 ก็ตาม แต่การกระทำของโจทก์ส่อไปในทางทุจริตและเป็นผลให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค่าทำงานล่วงเวลาให้แก่โจทก์ตามบัตรตอกเวลาทำงานนั้นถือได้ว่าการกระทำของโจทก์ เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าวเป็นกรณีร้ายแรงจำเลยเลิกจ้างโจทก์เสียได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share