แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญาจ้างเหมาโจทก์ทำการก่อสร้างโดยมีข้อสัญญาว่า ถ้าทำไม่เสร็จภายในกำหนดหรือทำไม่ถูกต้องตามแบบจำเลยมีสิทธิเลิกสัญญาได้ เมื่อโจทก์ทำถนนไม่ถูกต้องตามแบบในสัญญา ถึงแม้จะยังไม่ครบกำหนดในสัญญา แต่เป็นที่เห็นได้ว่างานที่ยังค้างอยู่นั้นไม่อาจจะทำให้เสร็จได้ตามกำหนดในสัญญาแล้ว จำเลยก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตามข้อสัญญา โดยไม่ต้องบอกให้แก้ไขการงานที่ไม่ถูกต้องนั้นเสียก่อน หรือรอให้ครบกำหนดตามสัญญาส่วนค่าจ้างสำหรับการงานที่ทำไปแล้วนั้น เมื่อการงานที่ทำไปแล้วนั้นไม่ได้เกิดประโยชน์แก่จำเลย และจำเลยมิได้รับมอบการงานนั้นไว้ จำเลยก็ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างส่วนนี้ให้
การที่จำเลยจ้างโจทก์ที่ 1 ทำการก่อสร้างโดยมีโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ควบคุมดูแลแทนจำเลย และเป็นผู้รายงานผลงานในการที่จำเลยจะต้องจ่ายค่าจ้างตามสัญญา เมื่อโจทก์ที่ 2 รู้อยู่แล้วว่า การงานที่ทำนั้นไม่ถูกต้องตามสัญญาและ มีข้อชำรุดบกพร่องมาก แต่ได้รายงานจำเลยว่างานถูกต้องตามสัญญา จนจำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ 1ไปตามงวดในสัญญาเช่นนี้ โจทก์ที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับโจทก์ที่ 1 ในความเสียหายที่จำเลยจะต้องใช้จ่ายในการแก้ไขข้อบกพร่องสำหรับการงานที่จำเลยรับมอบไปโดยหลงผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาจ้างเหมาโจทก์ก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ในที่ดินจัดสรรเป็นเงินค่าจ้าง 4,715,500 บาท โดยจำเลยที่ 1เป็นผู้ติดต่อว่าจ้าง จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงชื่อในสัญญา กับจำเลยทั้งสองได้ว่าจ้างเพิ่มเติมอีกเป็นเงิน 1,045,000 บาท ตามสัญญาจ้างเพิ่มเติมและได้จ้างเพิ่มเติมด้วยวาจาอีก 102,423 บาท โจทก์ทำงานเสร็จและส่งมอบให้จำเลยเป็นระยะถูกต้องตามสัญญาแล้วเรียกเก็บค่าจ้างจำเลยกลับปฏิเสธไม่ชำระหนี้และมีหนังสือบอกเลิกสัญญากับโจทก์ จำเลยค้างชำระค่าจ้างโจทก์ทั้งหมด 1,160,990 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2523 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เป็นสามีจำเลยที่ 2 แต่มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจ้างโจทก์ตามฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 ผู้เดียวทำสัญญาจ้างโจทก์ โจทก์ทำงานไม่ถูกต้องตามสัญญา ทำถนนไม่มั่นคงถาวร แตกร้าวและหลุดร่วน โจทก์ไม่สามารถแก้ไขให้สำเร็จได้ภายในกำหนดสัญญา จำเลยจึงบอกเลิกสัญญา การที่โจทก์ทำงานไม่ถูกต้องตามสัญญาทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแก้ไขให้ถูกต้องตามสัญญาเป็นเงิน 3,853,293 บาท การว่าจ้างโจทก์ทำงานจำเลยได้ว่าจ้างนายวิชัย ให้มีหน้าที่ควบคุมดูแลการก่อสร้างให้เป็นไปตามสัญญา แต่นายวิชัยไม่ทำการตามหน้าที่สมคบกับโจทก์ร่วมกันปิดบังจำเลยและรายงานการก่อสร้างอันเป็นเท็จว่าโจทก์ทำงานครบถ้วนตามสัญญา จำเลยที่ 2 หลงเชื่อจึงได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ไปนายวิชัยต้องร่วมรับผิดในความเสียหายร่วมกับโจทก์
จำเลยที่ 2 ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกนายวิชัยเข้ามาเป็นจำเลยฟ้องแย้งร่วมกับโจทก์ ศาลอนุญาต
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทำงานครบถ้วนตามสัญญา หากจะมีบางรายการบกพร่องบ้างก็เป็นธรรมดาของการก่อสร้าง ต้องเสียค่าซ่อมแซมไม่เกิน 10,000 บาท จำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญาโดยมิชอบ
นายวิชัยให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เป็นเพียงผู้ออกแบบให้จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้าง งานที่โจทก์ทำไปนั้นถูกต้องตามสัญญา
ศาลชั้นต้นให้เรียกโจทก์ว่าโจทก์ที่ 1 และให้เรียกนายวิชัยว่าโจทก์ที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันชำระเงิน1,500,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จและให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย เฉพาะค่าขึ้นศาลให้เสียเท่าที่จำเลยที่ 2 ชนะคดี และกำหนดค่าทนายความ40,000 บาท
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินค่าจ้างรวม609,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ60,000 บาท ส่วนค่าขึ้นศาลให้ใช้เท่าที่โจทก์ที่ 1 ชนะคดี ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ที่ 1 ตามหนังสือสัญญาหมาย จ.57 เป็นเงินค่าจ้าง 4,715,500 บาท และทำสัญญาเพิ่มเติมอีกเป็นเงินค่าจ้าง 1,045,000 บาท และได้ทำสัญญาจ้างกันด้วยวาจาอีก จำเลยที่ 2 มอบให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ตรวจดูแลงานที่จ้าง โจทก์ที่ 2 รับรองว่างานสำเร็จถูกต้องและลงนามรับรองในใบแจ้งหนี้จำเลยที่ 2 ได้ชำระเงินให้โจทก์ตามใบแจ้งหนี้แล้ว 5,177,777 บาท ครั้งสุดท้ายโจทก์ที่ 1 ได้ส่งใบแจ้งหนี้จำนวนเงิน 529,200 บาท ซึ่งโจทก์ที่ 2 ลงนามรับรองแล้วเพื่อเรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ชำระ แต่บอกเลิกสัญญากับโจทก์ที่ 1 ก่อนที่จะครบกำหนดตามสัญญาถนนที่โจทก์ที่ 1 ส่งมอบให้จำเลยที่ 1 และได้รับเงินไปแล้วนั้นชำรุดบกพร่องมากต้องซ่อมแซมเป็นเงินจำนวน 1,500,000 บาท ถนนที่ส่งมอบงวดสุดท้ายใช้การไม่ได้เลย งานที่ค้างอยู่นั้นไม่อาจจะทำให้เสร็จทันตามสัญญาได้ โจทก์ที่ 2 เป็นผู้รับจ้างควบคุมงานให้จำเลยที่ 2 คงมีปัญหาว่า จำเลยที่ 2 ต้องชำระค่าจ้างให้โจทก์เพียงใดหรือไม่และโจทก์ทั้งสองจะต้องชำระค่าเสียหายตามฟ้องแย้งให้จำเลยที่ 2 เพียงใดหรือไม่
ปัญหาข้อแรกวินิจฉัยว่า โดยเหตุที่โจทก์ที่ 1 ทำงานไม่สำเร็จภายในกำหนดและทำไม่ถูกต้องตามแบบเป็นการผิดสัญญา จำเลยที่ 2 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตามข้อ 5 แห่งสัญญาหมาย จ.57 กรณีดังกล่าวนี้เห็นว่าไม่ใช่เป็นกรณีที่งานสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าโจทก์ที่ 1 หรือผู้รับจ้างรายใหม่เป็นผู้กระทำดังที่ระบุไว้ในข้อ 7 แห่งสัญญาหมาย จ.57 เพราะในกรณีนั้นเป็นเรื่องที่งานทำสำเร็จแล้วเกิดชำรุดเสียหาย มิใช่เป็นเรื่องการทำไม่สำเร็จภายในกำหนดหรือกระทำไม่ถูกต้องตามสัญญาเช่นกรณีนี้ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ไม่ต้องบอกโจทก์ที่ 2 ให้แก้ไขเสียก่อนดังที่กำหนดไว้ในข้อ 7 การบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการชอบและเมื่อจำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องชำระค่าจ้างตามฟ้องให้โจทก์ที่ 1 เพราะเป็นค่าจ้างของงานที่จำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญา และมิได้รับมอบไว้ ส่วนงานที่รับไว้ก่อนนั้นจำเลยที่ 2 ได้ชำระค่าจ้างไปแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการบอกเลิกสัญญาไม่ชอบ เพราะมิได้บอกให้แก้ไขก่อน จำเลยที่ 2 ต้องชำระค่าจ้างให้โจทก์ที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาว่าโจทก์ที่ 1 ต้องชำระค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 2 เพียงใดหรือไม่นั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาส่งมอบถนนไม่ถูกต้องตามสัญญา จำเลยที่ 2 ต้องซ่อมแซมแก้ไขถนนนั้นให้ถูกต้องตามสัญญา โจทก์ที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 1,500,000 บาท เป็นการสมควรแล้ว
ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์ที่ 2 จะต้องร่วมกับโจทก์ที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลยที่ 2 หรือไม่นั้น เมื่อคดีฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 รับจ้างจำเลยที่ 2 ควบคุมงาน การส่งมอบงานและการขอรับค่าจ้างของ
โจทก์ที่ 1 จะต้องได้รับการรับรองจากโจทก์ที่ 2 การที่โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ควบคุมงาน และโจทก์ที่ 1 ทำงานไม่ถูกต้องตามสัญญาเป็นอันมาก แต่โจทก์ที่ 2 รับรองว่างานถูกต้องตามสัญญาโดยไม่เป็นความจริงนั้น โจทก์ที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับโจทก์ที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำผิดสัญญาให้จำเลยที่ 2
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น