คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 859/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อมีว่า ในกรณีที่สัญญานี้ต้องสิ้นสุดลงผู้เช่าซื้อจะต้องชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างอยู่ทั้งหมดให้ผู้ให้เช่าซื้อจนครบ คำว่าค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระคือค่าเช่าซื้อซึ่งถึงกำหนดชำระแล้วก่อนวันที่สัญญาเช่าซื้อนั้นต้องสิ้นสุดลงและผู้เช่าซื้อยังไม่ได้ชำระเท่านั้นหาหมายถึงค่าเช่าซื้อทั้งหมดทุกงวด รวมทั้งค่าเช่าซื้องวดที่ล่วงเลยกำหนดชำระแล้วแต่ผู้เช่าซื้อยังมิได้ชำระและค่าเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระไม่ เพราะเมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงแล้วผู้เช่าซื้อก็ไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อสำหรับงวดต่อไปอีก
การที่ศาลพิพากษาให้ผู้เช่าซื้อจ่ายค่าเช่าซื้อถึงวันที่ผู้ให้เช่าซื้อยึดรถยนต์คืนมามีผลเท่ากับว่าได้พิพากษาให้ผู้เช่าซื้อจ่ายค่าเสียหายในการที่ผู้ให้เช่าซื้อขาดประโยชน์ไม่ได้ใช้รถยนต์นับจากวันเลิกสัญญาถึงวันที่ยึดรถยนต์คืนมาแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อย่อมไม่มีสิทธิเรียกให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเสียหายในส่วนนี้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์เป็นเงินค่าเช่าซื้อ 144,792 บาท โดยจะชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวด งวดละเดือนละ 4,022 บาทรวม 36 งวด จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 รับรถไปแล้วชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เพียง 2 งวดแล้วไม่ชำระอีก โจทก์บอกเลิกสัญญาและเรียกรถคืนก็ปรากฏว่ารถชำรุดมาก ขายได้ในราคา 52,613 บาท แต่เงินงวดซึ่งยังค้างชำระโดยคิดดอกเบี้ยถึงวันโจทก์รับรถคืนมาเป็นเงิน 127,613 บาท เมื่อหักทอนแล้วผิดกันอยู่ 75,000 บาท จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ และโจทก์ขาดประโยชน์นับตั้งแต่วันผิดนัดถึงวันที่โจทก์รับรถคืน คิดเป็นค่าเช่า 90,600 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 165,600 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธความรับผิดหลายประการรวมทั้งต่อสู้ว่าค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเกินความจริง และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้ชำระ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามฟ้อง โจทก์เสียหายขาดประโยชน์จากการให้เช่าซื้ออยู่อีก 75,000 บาท ค่าเสียหายที่เกิดจากการที่จำเลยครอบครองรถโดยไม่ส่งคืนโจทก์เป็นเงิน 15,000 บาทพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 90,000 บาทแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระค่าเช่าซื้อถึงวันเลิกสัญญาเป็นเงิน 44,242 บาท โจทก์ได้รับรถคืนมาในวันเดียวกันกับวันที่โจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญา ความเสียหายเกี่ยวกับการที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการส่งมอบรถยนต์ล่าช้าจึงไม่เกิดขึ้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ และให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ด้วย พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 44,242 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระได้เพียงใดนั้น โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 จะต้องชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดตามสัญญาแก่โจทก์ โดยหักค่าเช่าซื้อที่จำเลยชำระแล้วและมูลค่าของรถยนต์ที่โจทก์รับคืนมาออก ศาลฎีกาเห็นว่าสิทธิในการเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระแก่โจทก์นั้น โจทก์มีสิทธิเรียกได้ตามสัญญาเช่าซื้อที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อกัน (เอกสารหมาย จ.3)ข้อที่ 7 ซึ่งมีว่า ในกรณีที่สัญญานี้สิ้นสุดลง ผู้เช่าซื้อจะต้องชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างอยู่ทั้งหมดให้เจ้าของจนครบถ้วน ซึ่งมีความหมายชัดเจนว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีเหตุต้องเลิกกัน จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระอยู่แก่โจทก์จนครบ คำว่าค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ คือค่าเช่าซื้อซึ่งถึงกำหนดชำระแล้วก่อนวันที่สัญญาเช่าซื้อนั้นต้องสิ้นสุดลงและจำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระเท่านั้น หาหมายถึงค่าเช่าซื้อทั้งหมดทุกงวดที่เขียนระบุไว้ในสัญญารวมทั้งค่าเช่าซื้องวดที่ล่วงเลยกำหนดชำระแล้วแต่จำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระและค่าเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระดังที่โจทก์เข้าใจไม่ เพราะเมื่อสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีหน้าที่จะต้องชำระค่าเช่าซื้อสำหรับงวดต่อไปแก่โจทก์ โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่าซื้อมาตั้งแต่งวดเดือนมกราคม 2520 โจทก์ยึดรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อมาจากจำเลยที่ 1 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2520 จำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นจึงต้องฟังว่าความจริงเป็นดังที่โจทก์นำสืบ ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่าซื้ออยู่กี่งวดซึ่งขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่าสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกันเมื่อใดนั้นไม่ปรากฏในการนำสืบว่าโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 เมื่อใดแน่ ถ้าจะถือเอาว่าการที่โจทก์ยึดรถยนต์กลับมาเป็นการเลิกสัญญา ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่าซื้ออยู่ตั้งแต่งวดเดือนมกราคมถึงงวดเดือนพฤศจิกายน 2520 รวม 11 งวด งวดละ 4,022 บาท จำเลยที่ 1 นำสืบว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อก่อนวันโจทก์ไปรับรถยนต์คืนจากจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 3 เดือน ถ้าฟังตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบ ก็ต้องฟังว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 เมื่อประมาณเดือนกันยายน และต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่าซื้ออยู่เพียง 9 งวด คิดเป็นเงิน 36,198 บาท ศาลอุทธรณ์ฟังตามที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1ค้างชำระค่าเช่าอยู่ 11 งวด พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระแก่โจทก์เป็นเงิน 44,242 บาท จำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาคัดค้านขึ้นมานับว่าเป็นผลดีแก่โจทก์อยู่แล้ว สำหรับปัญหาที่ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าเสียหายเพราะจำเลยส่งมอบการครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อล่าช้าเพียงใดหรือไม่นั้น โจทก์ฎีกาความว่า ปรากฏในคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์บอกกล่าวเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 แล้วสามเดือน จำเลยจึงมอบรถยนต์ให้โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในความเสียหายในการที่โจทก์ขาดประโยชน์ในการที่ไม่ได้ใช้รถยนต์ในระยะเวลาดังกล่าวซึ่งโจทก์เป็นเงินวันละ 300 บาท เท่ากับค่าเช่าที่โจทก์ควรจะได้รับถ้านำรถยนต์คันนี้ให้เช่าตามที่โจทก์นำสืบ เห็นว่าค่าเสียหายส่วนนี้ถ้าหากมีก็ควรจะเป็นจำนวนไม่เกินค่าเช่าซื้อที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันไว้เท่านั้น และเห็นว่าการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเช่าซื้อให้โจทก์ถึงวันที่โจทก์ยึดรถยนต์คืนมาดังกล่าวมามีผลเท่ากับว่าได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเสียหายส่วนนี้นับจากวันโจทก์บอกเลิกสัญญาถึงวันที่โจทก์ยึดรถยนต์กลับคืนมาแก่โจทก์แล้วโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์อีก จึงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ตามที่โจทก์ฎีกาไม่ได้

พิพากษายืน

Share