แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การขุดลอกหรือดูดดินและทรายในแม่น้ำลำคลองเป็นการทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพที่ดินและที่ทราย เพราะทำให้สภาพของที่ดินและที่ทรายที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปและการนำเอาดินและทรายที่ดูดขึ้นมาแล้วไปไว้ในที่ดินของเอกชนก็เป็นอันตรายแก่ทรัพยากรในที่ดิน เพราะทำให้ดินและทรายที่เคยมีอยู่ลดน้อยไป เมื่อจำเลยทำการดูดทรายในแม่น้ำ ในบริเวณที่ตนมิได้มีสิทธิครอบครองและโดยมิได้รับอนุญาต จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกับพวกอีก 1 คน ได้ร่วมกันขุดลอกดูดดินและทรายทำลาย และทำให้เสื่อมสภาพที่ดิน ที่ทราย โดยใช้เรือดูดทราย1 ลำเป็นเครื่องมือดูดดินทรายในที่ดินท้องน้ำเจ้าพระยา แล้วสูบพ่นดินทรายซึ่งดูดขึ้นมานั้นไปถมที่ดินของผู้มีชื่อริมฝั่งแม้น้ำเจ้าพระยาเป็นปริมาตรดินและทรายรวมกัน 578 ลูกบาศก์เมตร บริเวณที่ดินที่จำเลยทั้งสามกับพวกทำการดูดดินและทรายดังกล่าวเป็นแม่น้ำ ซึ่งปลัดกระทรวงมหาดไทยผู้ใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ออกประกาศกำหนดเป็นเขตหวงห้ามตามความในมาตรา 9(2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดินห้ามบุคคลทำด้วยประการใด ให้เป็นการทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพที่ดินที่หิน ที่กรวด หรือที่ทราย เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งบริเวณที่ดินดังกล่าวเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน จำเลยทั้งสามกับพวกมิได้มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ การกระทำของจำเลยทั้งสามกับพวกเป็นการทำอันตรายแก่ทรัพยากรในที่ดิน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9, 108 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 11 และริบของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ฯลฯ จำคุกคนละ 3 เดือนและปรับคนละ 9,000 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับสารภาพในชั้นสอบสวนลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ2 เดือน และปรับคนละ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 1 ปีให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 และริบของกลางทั้งหมด
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การขุดลอกหรือดูดดินและทรายในแม้น้ำลำคลองเป็นการทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพที่ดินและที่ทราย เพราะทำให้สภาพของที่ดินและที่ทรายที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป และการนำเอาดินและทรายที่ดูดขึ้นมาแล้วไปไว้ในที่ดินของเอกชน ก็เป็นอันตรายแก่ทรัพยากรในที่ดิน เพราะทำให้ดินและทรายที่เคยมีอยู่ลดน้อยไป เมื่อจำเลยทั้งสองทำการดูดดินและทรายในแม่น้ำในบริเวณที่ตนมิได้มีสิทธิครอบครอง และโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยทั้งสองจึงต้องมีความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษายืน