คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4064/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

มีผู้โดยสารแอบขึ้นรถทางด้าน หลังคันที่โจทก์ขับรับส่งผู้โดยสารและมีเงินค่าโดยสารไม่พอ โจทก์จึงเรียกเก็บเพียงครึ่งราคา โดยที่ผู้โดยสารเป็นหญิงอายุยังน้อยและมาเพียงคนเดียว ในฐานะที่โจทก์เป็นพนักงานขับรถและเป็นผู้ใหญ่ย่อมมีความเมตตาสงสาร จึงให้ความช่วยเหลือด้วยมนุษยธรรม โจทก์ไม่เจตนาทุจริตหรือกระทำผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลย การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 นั้น จะต้องพิจารณาถึงสาเหตุอันเป็นมูลเลิกจ้างว่าเป็นเหตุที่สมควรหรือไม่เพียงไรมิได้อยู่ที่นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างหรือไม่ เพราะการจ่ายค่าชดเชยเป็นผลตามมาภายหลังการเลิกจ้าง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยให้โจทก์ออกจากงานโดยกล่าวหาว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ ทำผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลย โดยโจทก์ไม่มีความผิดตามที่จำเลยกล่าวอ้างเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานและชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า โจทก์ปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง โดยรับผู้โดยสารที่ไม่มีค่าโดยสารไปกับรถจำเลย และได้เรียกเก็บเงินค่าโดยสารจากผู้โดยสาร แต่นำเงินไปซื้อตั๋วไม่ครบตามจำนวนที่เรียกเก็บ โดยมีเจตนาทุจริต การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงาน จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่อัตราค่าจ้างเดิม และให้ใช้ค่าเสียหายตั้งแต่วันสั่งพักงานจนกว่าจะรับเข้าทำงาน และให้โจทก์คืนเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เนื่องจากการเลิกจ้างแก่จำเลยด้วย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์มีหน้าที่ขับรถจากจังหวัดน่านถึงจังหวัดกำแพงเพชร ส่วนนายจำลอง ศรไชย พนักงานขับรถอีกคนหนึ่งมีหน้าที่ขับรถจากจังหวัดกำแพงเพชรถึงกรุงเทพมหานคร ขณะที่โจทก์ขับรถออกจากจังหวัดสุโขทัยถึงสามแยกที่จะไปจังหวัดกำแพงเพชรไดมีนางสาวอมรรัตน์ ส้มแก้ว แอบกระโดดขึ้นรถทางด้านหลัง จนกระทั่งรถโดยสารถึงจังหวัดกำแพงเพชร โจทก์จึงสอบถาม นางสาวอมรรัตน์แจ้งว่าเป็นนักเรียนจะไปหาพี่สาวที่กรุงเทพฯ และขึ้นรถที่กำแพงเพชรมีเงินเพียง 50 บาท ได้มอยเงินดังกล่าวให้โจทก์ไปซื้อตั๋วครึ่งราคาจากจังหวัดกำแพงเพชรถึงกรุงเทพมหานคร เป็นเงิน 35 บาท โจทก์ให้รอเงินทอน 15 บาท เมื่อรถถึงจังหวัดนครสวรรค์ นายตรวจขึ้นมาตรวจตั๋วแล้วให้นางสาวอมรรัตน์ซื้อตั๋วเพิ่มอีก 49 บาท โดยขอเงินจำนวน34 บาทจากนางสาวอมรรัตน์ รวมกับเงินทอนที่โจทก์อีก 15 บาท เพื่อซื้อตั๋วเพิ่มจากจังหวัดสุโขทัยถึงกรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นนายตรวจได้รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อนายสถานีนครสวรรค์ ต่อมาวันที่ 14สิงหาคม 2528 จำเลยได้มีคำสั่งพักงานโจทก์และนายจำลอง ศรชัยโดยกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตเรียกเก็บค่าโดยสารแล้วนำไปซื้อตั๋วไม่ครบตามจำนวนที่เรียกเก็บ ส่วนเงินเดือนหรือสิทธิอื่นใดในระหว่างพักงานให้งดจ่ายทั้งสิ้นตามคำสั่งบริษัทขนส่ง จำกัดที่ 603/2528 เรื่องพักงานและแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนคณะกรรมการสอบสวนแล้วสรุปผลการสอบสวนว่าโจทก์กระทำผิดตามข้อกล่าวหามีเจตนาทุจริต จึงให้โจทก์ออกจากงานฐานกระทำผิดวินัยตามระเบียบพนักงานฯ ข้อ 37 วรรคสาม เป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบเพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์ที่มิควรได้เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2528 เป็นต้นไป ส่วนนายจำลอง ศรไชย สอบสวนแล้วพบว่าไม่มีส่วนร่วมในการกระทำผิดครั้งนี้ด้วย จึงให้ยกข้อกล่าวหาเสีย ให้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่เดิมเงินเดือนและสิทธิอื่น ๆ ที่ได้งดจ่ายไว้ในระหว่างพักงานให้ได้รับเต็มจำนวน ตามคำสั่งบริษัทขนส่ง จำกัด ที่ 707/2528 เรื่องให้ออกลงวันที่ 25 กันยายน 2528 โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลย แต่คณะกรรมการอุทธรณ์มีความเห็นยืนตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยเป็นธรรมหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ทราบถึงระเบียบปฏิบัติของจำเลยแล้วว่า ในการซื้อตั๋วโดยสารครึ่งราคาให้ผู้โดยสารนั้น พนักงานขับรถหรือโจทก์เองไม่มีอำนาจให้ผู้โดยสารเสียค่าโดยสารครึ่งราคา และทราบดีว่าเงินจำนวน 50 บาทของนางสาวอมรรัตน์ผู้โดยสารไม่ครบราคาตามระยะทางที่จะเดินทางจากจังหวัดกำแพงเพชรถึงกรุงเทพมหานคร แต่โจทก์กลับนำเงินเพียง 35 บาทไปซื้อตั๋วโดยสารครึ่งราคาให้ผู้โดยสาร โดยโจทก์ไม่มีอำนาจกระทำเช่นนั้น ทั้งนางสาวอมรรัตน์ซึ่งเป็นผู้โดยสารก็ไม่มีสิทธิในการเสียค่าโดยสารครึ่งราคา ถึงแม้จะไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์มีเจตนาทุจริตแต่การกระทำของโจทก์ก็ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรงแล้ว ซึ่งตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) นายจ้างจึงสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย จำเลยจึงสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 นั้นศาลจะต้องพิจารณาถึงสาเหตุอันเป็นมูลให้มีการเลิกจ้าง ว่าเป็นสาเหตุที่สมควรหรือไม่ การไม่จ่ายค่าชดเชยมิใช่เป็นสาเหตุแห่งการเลิกจ้างการเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่ ไม่ได้อยู่ด้วยเหตุที่ว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง เพราะการไม่จ่ายค่าชดเชยนั้นเป็นผลที่ตามมาภายหลังการเลิกจ้างแล้วเท่านั้น สำหรับคดีนี้ เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยว่าการที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างเดิม กับให้จ่ายค่าเสียหายตั้งแต่วันสั่งพักงานจนกว่าจะได้รับโจทก์เข้าทำงานตามเดิมนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share