คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1193/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาประนีประนอมยอมความต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นจึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ ดังนั้น การตั้งตัวแทนเพื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 วรรคสองจึงจะมีผลผูกพันตัวการ
บิดาของผู้เยาว์ถูกทำละเมิดถึงแก่ความตาย ผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรต้องเสียค่าทำศพไป จึงมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิด ถือว่าผู้เยาว์ได้มาซึ่งทรัพย์สินอย่างหนึ่ง หากมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องทำสัญญาแทนผู้เยาว์ผู้ใช้อำนาจปกครองก็จะต้องขออนุญาตศาลก่อน เพราะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินของเด็ก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546(4)

ย่อยาว

คดีทั้งห้าสำนวนศาลล่างรวมพิจารณาพิพากษา ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งห้าสำนวน จำเลยที่ 2 ฎีกา ระหว่างฎีกา โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์เพื่อบังคับชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา ศาลฎีกาสั่งอนุญาต ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดี อ้างว่าโจทก์ได้รับค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ครบถ้วนเป็นที่พอใจ โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพัน อ. โจทก์ในสำนวนที่ 1 เพราะ ห. ลงลายพิมพ์นิ้วมือแทนนั้น สัญญาประนีประนอมยอมความต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้น จึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798วรรคสอง บัญญัติว่า กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือการตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย ดังนั้น การที่ห. พิมพ์ลายนิ้วมือในสัญญาประนีประนอมยอมความแทน อ. โดย อ. มิได้เป็นคู่สัญญา หรือมอบให้ ห. เป็นตัวแทนโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ สัญญาดังกล่าวย่อมไม่ผูกพัน อ.

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ซ.มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ในสำนวนที่ 5 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 ย่อมผูกพันโจทก์เพราะมิใช่นิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สิน จึงไม่ต้องขออนุญาตต่อศาล นั้น คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ กรณีเป็นเรื่องที่บิดาของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ถูกทำละเมิดถึงแก่ความตายผู้เยาว์ต้องเสียค่าทำศพบิดาไป ย่อมมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิดถือว่าผู้เยาว์ได้มาซึ่งทรัพย์สินอย่างหนึ่ง หากมีการประนีประนอมยอมความกันโดยผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องทำสัญญาแทนผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองนั้นก็จะต้องขออนุญาตศาลก่อน เพราะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินของเด็ก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546(4) เมื่อปรากฏว่า ซ. มารดาของโจทก์ในสำนวนที่ 5 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 โดยมิได้รับอนุญาตจากศาล จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์

พิพากษายืน

Share