คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495 ได้บัญญัติถึงฐานะของพนักงานสุขาภิบาลไว้ในมาตรา 20 ว่า ให้สุขาภิบาลมีพนักงานสุขาภิบาลซึ่งประกอบด้วยปลัดสุขาภิบาลสมุหบัญชีสุขาภิบาล และพนักงานสุขาภิบาลอื่นตามความจำเป็นและมาตรา 21 ให้กระทรวงมหาดไทยวางระเบียบพนักงานสุขาภิบาลขึ้นไว้ มาตรา 22 ในการปฏิบัติหน้าที่ให้ถือว่ากรรมการสุขาภิบาลและพนักงานสุขาภิบาลมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา (กระทรวงมหาดไทยจะวางระเบียบเกี่ยวกับพนักงานสุขาภิบาลไว้อย่างไรโจทก์ไม่ได้นำสืบ)
จำเลยเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราวของสุขาภิบาล จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นพนักงานสุขาภิบาลไม่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างชั่วคราวของสุขาภิบาลประชาธิปัตย์เป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495 มีหน้าที่เก็บเงินค่ากระแสไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าของสุขาภิบาลประชาธิปัตย์ นำส่งเป็นรายได้ของสุขาภิบาลประชาธิปัตย์ จำเลยจะต้องจัดการเก็บและรักษาเงินที่เก็บมาได้แล้วนั้นไว้ และนำส่งสุขาภิบาลให้ถูกต้องครบถ้วน เมื่อระหว่างวันที่ 1ตุลาคม 2514 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2516 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนจำเลยบังอาจเบียดบังยักยอกเงินค่ากระแสไฟฟ้าของสุขาภิบาลประชาธิปัตย์เป็นประโยชน์ของตนเองโดยทุจริตหลายครั้งหลายหนด้วยกัน รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 200,438.64 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 151, 352, 353, 354 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 185,913.65บาทแก่สุขาภิบาลประชาธิปัตย์

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จำเลยเบียดบังเอาเงินค่าไฟฟ้าสุขาภิบาลประชาธิปัตย์ไปเป็นรายเดือน รวมทั้งสิ้น 27 เดือน ถือว่าจำลยได้กระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกันรวม 27 ครั้ง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 27 กระทงจำคุก 135 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 90 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 185,913.65 บาทแก่สุขาภิบาลประชาธิปัตย์ด้วย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยเบียดบังเงินค่ากระแสไฟฟ้าประจำเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ 2516 เพียง 2 เดือน เป็นความผิดสองกรรม พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดสองกรรม จำคุกกระทงละ5 ปี รวมจำคุก 10 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 76.20 บาทแก่สุขาภิบาลประชาธิปัตย์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

โจทก์จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ยักยอกเงินของสุขาภิบาลประชาธิปัตย์ไป 27 ครั้ง แต่มีบางรายการจำเลยได้ส่งมอบเงินที่เก็บได้ให้นายชื่นหรือเจ้าหน้าที่อื่นแล้ว คงเหลือเงินที่จำเลยต้องคืน 180,893.36บาท และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเรื่องจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ว่า พระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495ได้บัญญัติถึงฐานะของพนักงานสุขาภิบาลไว้ดังนี้ มาตรา 20 ให้สุขาภิบาลมีพนักงานสุขาภิบาลซึ่งประกอบด้วยปลัดสุขาภิบาล สมุหบัญชีสุขาภิบาลและพนักงานสุขาภิบาลอื่นตามความจำเป็น มาตรา 21 ให้กระทรวงมหาดไทยวางระเบียบพนักงานสุขาภิบาลขึ้นไว้ มาตรา 22 ในการปฏิบัติหน้าที่ให้ถือว่ากรรมการสุขาภิบาลและพนักงานสุขาภิบาลมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา กระทรวงมหาดไทยจะวางระเบียบเกี่ยวกับพนักงานสุขาภิบาลไว้อย่างไร โจทก์ไม่ได้นำสืบ พิเคราะห์บทบัญญัติเกี่ยวกับฐานะของพนักงานสุขาภิบาลดังกล่าวแล้ว เห็นว่า จำเลยเป็นแต่เพียงลูกจ้างชั่วคราวของสุขาภิบาลเท่านั้น จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นพนักงานสุขาภิบาล ไม่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา การกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352เท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 จำเลยกระทำความผิด 27 กรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทุกกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 กระทงละ6 เดือน รวมเป็นโทษจำคุก 13 ปี 6 เดือน คำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์ในการพิจารณา ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงเหลือโทษจำคุก 9 ปี ข้อหาอื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกฟ้องให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 180,893 บาท 36 สตางค์แก่สุขาภิบาลประชาธิปัตย์ด้วย

Share