แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยได้ไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสกับนางสาว ด. บุคคลสัญชาติญวนซึ่งเกิดในประเทศไทย บิดามารดาของนางสาว ด. อพยพเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายอำเภอเห็นว่านางสาว ด. มีเชื้อชาติสัญชาติญวน ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนมีแต่บัตรคนญวนอพยพ จึงไม่รับจดทะเบียนสมรสให้ โดยถือปฏิบัติตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย แต่คำสั่งของกระทรวงมหาดไทยก็มิได้อาศัยอำนาจตามกฎหมายฉบับใดอันจะใช้บังคับเป็นกฎหมายแก่บุคคลทั่วไป นายอำเภอซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายให้รับจดทะเบียนสมรสแก่ผู้ร้องและนางสาว ด. จะอ้างคำสั่งดังกล่าวเพื่อไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่ตนมีอยู่หาได้ไม่ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 720/2505)
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องกับนางสาวดาวได้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสต่อนายอำเภอเมืองอุบลราชธานี แล้วได้รับการปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า นางสาวดาวเป็นคนต่างด้าวจึงขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งให้นายอำเภอเมืองอุบลราชธานีทำการจดทะเบียนสมรสระหว่างผู้ร้องกับนางสาวดาว ต่อไป
นายอำเภอเมืองอุบลราชธานียื่นคำคัดค้านว่า นางสาวดาวเป็นบุคคลสัญชาติญวนและไม่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ผู้คัดค้านจึงไม่สามารถจดทะเบียนสมรสให้ได้ ทั้งนี้เพราะกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้นายทะเบียนอำเภอถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด ในเรื่องการจดทะเบียนสมรสของหญิงต่างด้าวกับคนไทยโดยสั่งว่า ในกรณีที่หญิงต่างด้าวยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสกับคนไทย ฝ่ายหญิงต้องมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเรียบร้อยเสียก่อน ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้นายทะเบียนครอบครัวประจำสำนักทะเบียนอำเภอเมืองอุบลราชธานีรับจดทะเบียนสมรสระหว่างผู้ร้องกับนางสาวดาว
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า อำนาจและหน้าที่ของนายทะเบียนในการรับจดทะเบียนสมรสนั้น พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 มาตรา 10 วรรคแรกบัญญัติว่า “เมื่อมีการร้องขอให้จดทะเบียนสมรสแล้ว ให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนสมรสให้”
มาตรา 13 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้นายทะเบียนจดทะเบียนสมรส เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าการมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งมาตรา 1445, 1446 และ 1447 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปัจจุบัน มาตรา 1448 ถึง มาตรา 1454)
และมาตรา 15 บัญญัติว่า “ถ้านายทะเบียนไม่ยอมรับจดทะเบียนสมรสผู้มีส่วนได้เสียจะยื่นคำร้องต่อศาลก็ได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล
เมื่อศาลไต่สวนได้ความว่า การได้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายครบถ้วนแล้ว ก็ให้ศาลมีคำสั่งไปให้รับจดทะเบียน”
ส่วนคำสั่งตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ 649/2496 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2496 มีความว่า ในกรณีหญิงต่างด้าวมาร้องขอจดทะเบียนสมรสกับคนไทยให้นายทะเบียนตรวจสอบใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและสำมะโนครัวของหญิงต่างด้าวทุกรายนั้น แต่ถ้าแสดงหลักฐานไม่ได้ ก็ให้นายทะเบียนยับยั้งการจดทะเบียนไว้พลางก่อนฯ และคำสั่งตามหนังสือของกระทรวงมหาดไทยที่ 20695/2501 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2501 มีความว่า ในกรณีหญิงต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราวโดยยังไม่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสกับคนไทย ให้นายทะเบียนบอกปัดไม่ยอมรับจดทะเบียนให้โดยไม่ต้องหารือไปยังกระทรวงมหาดไทยนั้น คำสั่งดังกล่าวนี้มิได้อาศัยอำนาจตามกฎหมายฉบับใด จึงเป็นเพียงระเบียบภายในระหว่างเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยด้วยกันเท่านั้น จะใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไปเช่นกฎหมายหาได้ไม่ ถึงแม้ผู้คัดค้านอยู่ในฐานะต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว แต่เมื่อคำสั่งนั้นขัดต่อกฎหมาย ศาลก็จำต้องให้บังคับคดีไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสั่งตามหนังสือของกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวนี้เคยเป็นปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาครั้งหนึ่งแล้ว ศาลฎีกาวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้ว่า คำสั่งตามหนังสือของกระทรวงมหาดไทยนี้ใช้บังคับเช่นกฎหมายไม่ได้ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 720/2505 นายเป้งเฮียง ทวีโภคา กับพวก โจทก์ นายสอาด ศิริพัฒน์ จำเลย ดังนั้น ที่ผู้คัดค้านยกเหตุความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติขึ้นมาอ้างในฎีกาจึงฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน