แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ยื่นใบลากิจขอลาหยุด 2 วัน แต่หัวหน้าหน่วยอนุญาตให้ลาได้เพียง 1 วันนั้น เป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ลามิใช่เป็นการสั่งให้โจทก์กระทำการหรือมิให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามหน้าที่ของลูกจ้าง ฉะนั้นการที่โจทก์หยุดงานเกินกว่าที่ได้รับอนุญาตให้ลาจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้าง
การที่ลูกจ้างแสดงกิริยากระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาไม่เป็นข้อยกเว้นที่จะให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยมิต้องจ่ายค่าชดเชย
กรณีลูกจ้างละทิ้งหน้าที่อันเป็นเหตุให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างนั้นจะต้องเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์จงใจฝ่าฝืนระเบียบและข้อบังคับการทำงาน ฝ่าฝืนคำสั่งผู้บังคับบัญชาอันชอบด้วยกฎหมาย แสดงกิริยากระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา และจงใจละทิ้งหน้าที่การงานทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์หยุดงานทั้ง ๆ ที่ขอลาหยุดและจำเลยไม่อนุญาตย่อมได้ชื่อว่าฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย แต่ถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรง จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่โจทก์ขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย ทั้งเป็นการละทิ้งการงานจำเลยย่อมมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ยื่นใบลากิจขอลาหยุด 2 วัน และหัวหน้าหน่วยงานอนุญาตให้ลาหยุดได้เพียง 1 วันนั้น เป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจในการจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ลาตามอำนาจของหัวหน้าหน่วยงาน มิใช่เป็นการสั่งให้โจทก์กระทำการหรือมิให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามหน้าที่ของลูกจ้าง ฉะนั้น การที่โจทก์หยุดงานเกินไปกว่าที่ได้รับอนุญาตให้ลาจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง
การที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ลาได้เพียง 1 วัน แต่หยุดงานไป 2 วันหาใช่เป็นการแสดงกิริยาไม่อ่อนน้อมต่อผู้บังคับบัญชาอันจะถือว่าเป็นการแสดงกิริยากระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาไม่ และเหตุนี้ก็มิใช่เป็นข้อยกเว้นที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างโจทก์แต่อย่างใด
กรณีลูกจ้างละทิ้งหน้าที่อันจะเป็นเหตุให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 47(4) นั้นจะต้องเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรโจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปเพียง 1 วันเท่านั้น จำเลยจึงจะอ้างสิทธิไม่จ่ายค่าชดเชยหาได้ไม่ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลของคำพิพากษาที่ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
พิพากษายืน