แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินไป 700,000 บาทจำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 นำ เช็คของลูกค้า 6 ฉบับเป็นเงิน 242,239 บาท มาชำระหนี้ โจทก์นำไปชำระหนี้แก่ ธ.ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ธ. นำเช็คมาคืน โจทก์ได้ชำระเงินตามเช็คทั้ง 6 ฉบับไปแล้ว จำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์อยู่ 242,239 บาท ดังนี้ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ ดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องโดยอาศัยมูลหนี้ ตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน ส่วนที่โจทก์บรรยายถึง เช็ค 6 ฉบับมาด้วย ก็เพื่อแสดงให้เห็นพฤติการณ์ที่จำเลย ที่ 1 นำเช็คมาชำระหนี้เงินกู้ยืมแล้วโจทก์ยังไม่ได้รับเงินเท่านั้น ฉะนั้นการวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ จึงต้องวินิจฉัยตามมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้อง คือสัญญากู้ยืม และค้ำประกันจะนำอายุความเรื่องเช็คมาวินิจฉัยว่าคดีของ โจทก์ขาดอายุความไม่ได้ เพราะเป็นการนอกประเด็นตามคำฟ้อง
สัญญาค้ำประกันที่ค้ำประกันรวมถึงหนี้ในอนาคตด้วยนั้น มีผลบังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยโดยมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ เป็นการผิดพลาดเล็กน้อย ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้กู้เงินโจทก์ไป700,000 บาท มีจำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 นำเช็คลูกค้าของจำเลยที่ 1 รวม 6 ฉบับชำระหนี้เงินที่กู้ยืมไปให้แก่โจทก์รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 242,239 บาท เมื่อเช็คถึงกำหนด โจทก์นำไปชำระหนี้ให้บริษัทธีรชัยอุตสาหกรรม จำกัด แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้ง 6 ฉบับ บริษัทธีรชัยอุตสาหกรรม จำกัดได้นำเช็มาคืนโจทก์ และโจทก์ได้ชำระเงินตามเช็คทั้ง 2 ฉบับให้ไปและขอรับเช็คและใบคืนเช็คไว้ จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์ จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยที่ 1,2 และ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้กับโจทก์โดยมีเจตนาที่จะนำเช็คไปแลกเงินหรือขายลดเช็คกับโจทก์ในวงเงินเจ็ดแสนบาท สัญญากู้ดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางการแลกเปลี่ยนเช็ค จำเลยที่ 1 ไม่เคยรับเงินตามสัญญากู้ไปจากโจทก์จึงไม่มีมูลหนี้ที่จะต้องชำระให้โจทก์ จำเลยที่ 3 ได้บอกเลิกสัญญาค้ำประกันตามฟ้องก่อนที่จำเลยที่ 1 จะทำสัญญากู้กับโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินให้โจทก์
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เช็คตามฟ้องเป็นเช็คที่จำเลยที่ 1 นำไปแลกเงินสดจากโจทก์หรือขายลดไว้กับโจทก์ ไม่ใช่เช็คที่นำไปชำระหนี้เงินกู้โจทก์ชอบที่จะฟ้องผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลัง โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินหนึ่งปี คดีขาดอายุความ จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 3
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้กู้เงินโจทก์ไป 700,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี มีจำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 นำเช็คลูกค้าของจำเลยที่ 1 รวม 6 ฉบับ รวมเป็นเงิน 242,239 บาท มาชำระให้โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเช็คทั้ง 6 ฉบับไปชำระหนี้ให้แก่บริษัทธีรชัยอุตสาหกรรม จำกัด ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน บริษัทธีรชัยอุตสาหกรรม จำกัด จึงนำเช็คมาคืนให้โจทก์และโจทก์ได้ชำระเงินตามเช็คทั้ง 6 ฉบับไปแล้ว จำเลยที่ 1 จึงยังเป็นหนี้โจทก์อยู่ 242,239 บาท จำเลยทั้งสี่ต้องร่วมรับผิด โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้ง 4 ชำระหนี้ดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่าข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ข้างต้นเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน การที่โจทก์บรรยายถึงเช็ค 6 ฉบับ มาด้วย ก็เพื่อแสดงให้เห็นพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ได้นำเช็คทั้ง 6 ฉบับมาชำระหนี้เงินที่กู้ยืมให้แก่โจทก์ และโจทก์ยังไม่ได้รับชำระ ซึ่งจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิด แม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามเช็คทั้ง 6 ฉบับจะขาดอายุความกรณีก็ต้องวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกัน ที่ทำไว้แก่โจทก์อันเป็นประเด็นโดยตรงแห่งคดี ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีนี้โดยอาศัยมูลหนี้ตามเช็คให้จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 โดยอ้างว่าเช็คทั้ง 6 ฉบับขาดอายุความโดยมิได้วินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันอันเป็นประเด็นโดยตรงแห่งคดี จึงเป็นการไม่ถูกต้องและวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้ไว้แก่โจทก์โดยข้อความในสัญญาระบุว่าเป็นการค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 อันเกิดจากการกู้ยืมเงิน การขายลดเช็ค ตั๋วสัญญาใช้เงินหรือหนี้ในลักษณะอื่น ๆ ทั้งที่เป็นหนี้อยู่แล้วในขณะนี้และหนี้ที่เกิดขึ้นในภายหน้าจะเป็นครั้งเดียวหรือหลายครั้งก็ตามรวมวงเงินไม่เกิน 700,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี สัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นการค้ำประกันรวมถึงหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 1 ด้วย จึงมีผลบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681
ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่จะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามสัญญาในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ โดยมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ เป็นการผิดพลาดเล็กน้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่าให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น