แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บริษัทโจทก์และบริษัทจำเลยที่ 1 ต่างรู้เห็นร่วมกันให้บริษัทจำเลยที่ 1ซึ่งประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ มีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทโจทก์เป็นจำนวนเกินกว่าที่พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์บัญญัติไว้ อันเป็นความผิดทางอาญา ย่อมได้ชื่อว่าต่างไม่สุจริตด้วยกัน เพราะร่วมกันก่อให้เกิดความผิดทางอาญาขึ้น บริษัทโจทก์จะยกสิทธิอันไม่สุจริตซึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำความผิดทางอาญาด้วยกันมาเรียกร้องเงินค่าหุ้นของบริษัทโจทก์ซึ่งยังไม่ได้รับชำระจากบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ไม่สุจริตด้วยกันหาได้ไม่เมื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมซึ่งกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องรับผิดด้วย กรณีดังกล่าวแล้วเป็นเรื่องเรียกเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระอันเกิดจากการร่วมกันใช้สิทธิโดยไม่สุจริตจำเลยร่วมในฐานะผู้จัดการผู้ทำแทนบริษัทจำเลยที่ 1 จึงมิได้ทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัทโจทก์ จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 มาใช้หาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทโจทก์5,500 หุ้น และขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าหุ้นที่ค้างกับดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่านายสัญญา ยมะสมิต กรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ทำนิติกรรมรับโอนหุ้นบริษัทโจทก์ไว้โดยปราศจากอำนาจตามกฎหมาย เป็นการสมยอมระหว่างโจทก์กับนายสัญญา ยมะสมิตการกระทำของนายสัญญา ยมะสมิต ไม่มีผลตามกฎหมายที่จะให้จำเลยที่ 1ต้องมีนิติสัมพันธ์ในฐานะผู้ถือหุ้นของโจทก์และตัดฟ้องว่า นิติกรรมซื้อและรับโอนหุ้นเป็นโมฆะเพราะเป็นการฝ่าฝืนและต้องห้ามโดยชัดแจ้งต่อกฎหมาย
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธความรับผิดและตัดฟ้องว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ
เมื่อศาลได้กำหนดหน้าที่นำสืบแล้ว โจทก์ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลายและศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงเข้าดำเนินคดีแทนโจทก์และได้เรียกนายสัญญา เข้ามาเป็นจำเลยร่วม
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพิ่มเติมฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 76 หากการโอนหุ้นไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ก็ให้นายสัญญาจำเลยร่วมรับผิดใช้แทน
นายสัญญาจำเลยร่วมและจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธความรับผิดและต่อสู้ว่าฟ้องเพิ่มเติมขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยร่วมนำสืบว่า การที่ได้รับโอนหุ้นพิพาทมานั้น ก็เพราะที่ประชุมกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 เห็นสมควรและมอบให้จำเลยร่วมเป็นผู้จัดการรับโอนให้แก่บริษัทจำเลยที่ 1
ปัญหาที่ว่า บริษัทจำเลยที่ 1 มีหน้าที่จะต้องชำระเงินค่าหุ้นอีก 75% ของจำนวน 5,500 หุ้น เป็นจำนวนเงิน 4,125,000 บาท แก่บริษัทโจทก์หรือไม่นั้น ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เหตุที่บริษัทจำเลยที่ 1 รับโอนหุ้นจากบริษัทมหาคุณจำกัด 2,900 หุ้น และจากนายจิ้นฮั้ว แซ่ก๊วย 2,600 หุ้น รวมมูลค่าหุ้น 5,500,000 บาทนั้น เพราะฐานะการเงินของบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่ค่อยดีและเงินหมุนเวียนของบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่พอประกอบกับพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ บอกให้จอมพลสฤษดิ์ในฐานะประธานกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 รับโอนหุ้นดังกล่าวไว้เป็นหุ้นให้เปล่าไม่ต้องออกเงินซื้อและบอกว่าผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทโจทก์มีคดีถ้าคงให้ถือหุ้นต่อไปบริษัทโจทก์จะล้ม เมื่อบริษัทจำเลยที่ 1 รับโอนหุ้นและบริษัทโจทก์ยินยอมจดแจ้งการโอนหุ้นไว้ในทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว การบริหารงานของบริษัทโจทก์ก็ตกอยู่กับจอมพลสฤษดิ์และบริษัทจำเลยที่ 1 โดยให้บริษัทโจทก์นำเงินสดมาฝากกับบริษัทจำเลยที่ 1 ประมาณ 20 ล้านบาทโดยไม่ให้ดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องของบริษัทจำเลยที่ 1 มีเงินทุนหมุนเวียนพอเพียง ทั้งยังได้มีการแต่งตั้งนายจรูญ วิมลศิริ สมุหบัญชีใหญ่ของบริษัทจำเลยที่ 1 เข้าไปเป็นสมุหบัญชีใหญ่บริษัทโจทก์ ต่อมาบริษัทจำเลยที่ 1 ส่งจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 1 ไปเป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการบริษัทโจทก์อีกตำแหน่งหนึ่ง เหตุที่บริษัทโจทก์ล้มละลายเพราะการบริหารของบริษัทจำเลยที่ 1 ผู้ถือหุ้นใหญ่บกพร่อง ศาลฎีกาเห็นว่า พฤติการณ์ที่เป็นมาเห็นได้ชัดแจ้งว่า การที่บริษัทจำเลยที่ 1 รับโอนหุ้นของบริษัทโจทก์มาจำนวน 5,500 หุ้น เป็นหุ้นได้มาเปล่า ๆ และเป็นหุ้นที่ทำให้มีเสียงส่วนใหญ่ในบริษัทโจทก์ก็โดยมีแผนการเข้ามาบริหารบริษัทโจทก์เพื่อถ่ายเทเงินจากบริษัทโจทก์เข้าช่วยประคับประคองบริษัทจำเลยที่ 1 ให้มีฐานะการเงินดีขึ้นและให้มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอแสดงให้เห็นว่า บริษัทจำเลยที่ 1 มีเจตนาไม่สุจริตในการรับโอนมีหุ้นของบริษัทโจทก์ ทั้งการที่บริษัทจำเลยที่ 1 รับโอนมีหุ้นของบริษัทโจทก์จำนวน 5,500 หุ้น ๆ ละ 1,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 55 ของทุนบริษัทโจทก์ และเกินร้อยละสิบของเงินทุนจดทะเบียนและเงินทุนสำรอง 2,200,000 บาทของบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายและเป็นความผิดทางอาญาดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2488 มาตรา 11 ว่า ห้ามมิให้ธนาคารกระทำการต่อไปนี้”…(ฉ) ซื้อหรือมีไว้ซึ่งหุ้นหรือหุ้นกู้เป็นจำนวนเกินกว่าร้อยละยี่สิบของเงินทุนในบริษัทนั้น หรือเกินกว่าร้อยละสิบของเงินซึ่งชำระแล้วและเงินทุนสำรองตามมาตรา 9…” และมาตรา 31 บัญญัติว่า “ธนาคารใดฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา…มาตรา 11 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และในกรณีที่เป็นความผิดต่อเนื่องกัน ให้ปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งพันบาท ตลอดเวลาที่ยังทำการฝ่าฝืนอยู่” ดังนั้นที่บริษัทจำเลยที่ 1 รับโอนมีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทโจทก์ จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้กระทำความผิดทางอาญา
ศาลฎีกาเห็นต่อไปว่า ขณะที่บริษัทโจทก์ยินยอมให้บริษัทจำเลยที่ 1 รับโอนมีหุ้นของบริษัทโจทก์และจดแจ้งการโอนนั้น บริษัทโจทก์รู้ดีว่าตนเองมีทุนจดทะเบียนอยู่เพียง 10,000,000 บาท และรู้ดีว่าการที่บริษัทจำเลยที่ 1 มีหุ้นของบริษัทโจทก์ไว้ในขณะนั้นถึง 55% ของทุนบริษัทโจทก์ เป็นความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2488 มาตรา 11 (ฉ) และมาตรา 31 และบริษัทโจทก์ย่อมจะคาดคิดได้ว่าการยินยอมจดทะเบียนให้บริษัทจำเลยที่ 1 มีหุ้นของบริษัทโจทก์ไว้โดยเป็นความผิดทางอาญา เพื่อให้ผูกพันกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 นั้น จะต้องเป็นเหตุให้บริษัทจำเลยที่ 1 เข้ามาบริหารในบริษัทโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ตามความพอใจ ซึ่งก็เป็นความจริง แสดงให้เห็นได้ว่าบริษัทโจทก์รู้เห็นสมยอมให้บริษัทจำเลยที่ 1 เข้ามาใช้สิทธิโดยไม่สุจริตด้วยวิธียินยอมให้บริษัทจำเลยที่ 1 เข้ามามีหุ้นของโจทก์ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นความผิดทางอาญา
ข้อที่บริษัทโจทก์รู้หรือไม่ว่าทุนของบริษัทจำเลยที่ 1 มีอยู่เพียง 2,200,000 บาท ศาลฎีกาเห็นว่า บริษัทจำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัดจดทะเบียนไว้ ณ หอทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง กรมทะเบียนการค้า กระทรวงเศรษฐการ ทุนที่จดทะเบียนของบริษัทจำเลยที่ 1 มีปรากฏอยู่ในหนังสือบริคณห์สนธิที่ได้นำไปจดทะเบียนไว้ เป็นเอกสารมหาชนที่เปิดเผยรู้ทั่วไป และทุนที่จดทะเบียนและทุนสำรองตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2488 มาตรา 9 ของบริษัทจำเลยที่ 1 มีอยู่ในงบดุลประจำปีของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1197 บังคับให้มีเปิดเผยไว้ที่บริษัทจำเลยที่ 1 และให้ส่งสำเนาไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1199 ทั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจอันมีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกับวัตถุประสงค์ของบริษัทโจทก์ส่วนหนึ่ง ฉะนั้น ขณะบริษัทโจทก์ยินยอมและจดแจ้งการโอนหุ้นรายพิพาทเพื่อให้มีผลผูกพันกันนั้น บริษัทโจทก์มีเหตุที่ควรรู้ได้ว่า บริษัทจำเลยที่ 1 มีทุนจดทะเบียนและทุนสำรองเพียง 2,200,000 บาท
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริษัทโจทก์และบริษัทจำเลยที่ 1 ต่างรู้เห็นร่วมกันให้บริษัทจำเลยที่ 1 มีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทโจทก์อันเป็นความผิดทางอาญา จึงได้ชื่อว่าต่างฝ่ายต่างไม่สุจริตด้วยกัน เพราะร่วมกันก่อให้เกิดความผิดทางอาญาขึ้น บริษัทโจทก์จะยกสิทธิอันไม่สุจริตซึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำทางอาญาด้วยกันมาเรียกร้องเงินค่าหุ้นของบริษัทโจทก์ที่ยังไม่ได้รับชำระจากบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ไม่สุจริตด้วยกันหาได้ไม่ ส่วนจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเช่นกัน เมื่อบริษัทโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าหุ้นดังกล่าวแล้ว ปัญหาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 135 ย่อมไม่มี
ปัญหาที่ว่าบริษัทจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้บริษัทโจทก์ตามมาตรา 76 หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีเรื่องนี้เป็นเรื่องเรียกเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระอันเกิดจากการร่วมกันใช้สิทธิโดยไม่สุจริตด้วยกัน ดังนั้น จำเลยร่วมในฐานะผู้จัดการผู้ทำแทนบริษัทจำเลยที่ 1 จึงมิได้ทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัทโจทก์ จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 มาใช้ไม่ได้
พิพากษายืน