แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่บิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ได้ตกลงให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทของโจทก์ในขณะที่โจทก์ทั้งสี่ยังเป็นผู้เยาว์ โดยมิได้รับอนุญาตจากศาลนั้น ย่อมให้เช่าได้เพียงไม่เกิน 3 ปีเท่านั้นคดีได้ความว่าจำเลยเช่ามาเกิน 3 ปีแล้ว ฉะนั้น การให้เช่าอาคารพิพาทต่อไปเกินจาก 3 ปี จึงกระทำมิได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546(2) ถึงแม้บิดาโจทก์จะได้ตกลงให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทไปจนตลอดชีวิตจำเลยก็ตามก็ไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ จึงไม่จำเป็นต้องสืบพยานดังที่จำเลยฎีกามา
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ได้บรรลุนิติภาวะแล้วโจทก์ทั้งสองได้แสดงเจตนายินยอมให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทต่อไปการกระทำของโจทก์ทั้งสองจึงผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1550 นั้น เห็นว่า ปัญหาข้อนี้จำเลยมิได้ยกเป็นประเด็นขึ้นว่ามาในศาลชั้นต้น และมิใช่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย จึงเป็นฎีกาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว จำเลยได้เช่าอาคารของโจทก์โดยเช่าด้วยวาจาเพื่อทำการค้า ค่าเช่าเดือนละ 60 บาท ตลอดมาจนบัดนี้ จำเลยค้างชำระค่าเช่าติดต่อกัน 5 เดือน โจทก์ไม่ประสงค์จะให้เช่าจึงได้บอกเลิกการเช่าและให้จำเลยออกจากอาคารที่เช่า จำเลยไม่ยอมออก ขอให้พิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากอาคารของโจทก์ ให้ชำระค่าเช่าที่ค้างพร้อมทั้งค่าเสียหายด้วย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเข้าอยู่ในอาคารพิพาทตามสัญญาต่างตอบแทนโดยนายสงวน นิลดำ บิดาโจทก์ให้จำเลยออกเงิน4,800 บาท เพื่อสร้างห้องแถวอาคารพิพาท แล้วจะให้จำเลยเช่าอยู่จนตลอดชีวิต จำเลยตกลง ได้สร้างอาคารพิพาทขึ้นแล้วจำเลยเข้าอยู่โดยยอมเสียค่าเช่ารายเดือนให้แก่นายสงวนผู้แทนโจทก์ ต่อมาโจทก์ไม่มาเก็บค่าเช่าตามปกติและไม่ยอมรับค่าเช่าที่จำเลยส่งให้ ก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยบอกเลิกการเช่า โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้อง ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ให้จดทะเบียนการเช่าอาคารพิพาทให้จำเลยเช่าตลอดชีวิต ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 60 บาท ถ้าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นผู้ก่อสร้างอาคารพิพาทโดยจำเลยยอมเสียเงินกินเปล่าให้โจทก์ 4,800 บาท โดยตกลงกันว่าหากโจทก์ให้จำเลยออกก่อน 10 ปี นับแต่วันเช่าโจทก์จะคืนเงิน 4,800 บาทให้จำเลย โจทก์ไม่เคยตกลงให้จำเลยเช่าไปตลอดชีวิต และต่อสู้ว่าการที่นายสงวน นิลดำ บิดาโจทก์ได้ตกลงให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทตลอดชีวิต ไม่มีผลบังคับเพราะขณะนั้นโจทก์ยังเป็นผู้เยาว์ นายสงวนจะทำนิติกรรมให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์เกิน 3 ปี จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่มีผลบังคับ
ศาลชั้นต้นให้จำเลยนำสืบก่อน แต่ในวันนัดสืบพยานจำเลยศาลเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ดังจำเลยอ้าง แต่เป็นการทำนิติกรรมให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินกว่า 3 ปี และขณะทำนิติกรรมนั้น โจทก์ยังเป็นผู้เยาว์ เมื่อนายสงวนมิได้รับอนุญาตจากศาลต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 จึงตกเป็นโมฆะการเช่าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยได้ โดยมิต้องบอกกล่าวก่อน แต่โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระ จำเลยคงรับผิดเฉพาะค่าเสียหายเดือนละ 60 บาท พิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากอาคารพิพาท ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 60 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกไปจากอาคารค่าเช่าที่ค้างชำระให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ 50 บาทแทนโจทก์ และให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่านายสงวน นิลดำ บิดาผู้แทนโดยชอบธรรมโจทก์ได้ตกลงให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทของโจทก์ในขณะที่โจทก์ทั้งสี่เป็นผู้เยาว์โดยมิได้รับอนุญาตจากศาล นายสงวนจึงให้เช่าได้เพียงไม่เกิน 3 ปีเท่านั้น และข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าจำเลยเช่ามาเกิน 3 ปีแล้ว ฉะนั้น การให้เช่าอาคารพิพาทต่อไป เกินจากระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาแล้ว ย่อมกระทำมิได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546(2) ฉะนั้น ถึงแม้นายสงวนจะได้ตกลงให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทไปจนตลอดชีวิตจำเลยก็ดี ก็ไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ เหตุนี้จึงไม่จำเป็นต้องสืบพยานดังที่จำเลยฎีกามา ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าเมื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้บรรลุนิติภาวะแล้ว โจทก์ทั้งสองได้แสดงเจตนายินยอมให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทต่อไป โดยเก็บค่าเช่าตามปกติ เป็นการแสดงว่าโจทก์ทั้งสองได้รับมอบทรัพย์สิน บัญชี และเอกสาร เกี่ยวกับเรื่องจัดการทรัพย์สินจากนายสงวน นิลดำ ผู้ใช้อำนาจปกครองมาเรียบร้อยแล้ว การกระทำของโจทก์ทั้งสองย่อมผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1550 แต่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อกฎหมายดังกล่าวนี้ ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย ขอศาลฎีกาได้วินิจฉัยให้ด้วยนั้น เห็นว่าปัญหาข้อนี้จำเลยมิได้ยกเป็นประเด็นขึ้นว่ามาแต่ในศาลชั้นต้น และไม่เป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นข้อฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว
พิพากษายืน