คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2550/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยโดยรับมรดกมาจาก ม. ถ.ล.และมล. ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลย แม้ว่าจำเลยจะให้การยอมรับว่า ม. ถ. ล.และ มล. เคยมีสิทธิในที่ดินพิพาทมาก่อน แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยไม่มีฝ่ายใดโต้เถียงว่าขณะฟ้องคดีนี้จำเลยเป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียว จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายเป็นคุณว่าจำเลยยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1369 เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลย โจทก์ย่อมมีภาระการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย
โจทก์และจำเลยต่างอ้างข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการครอบครองและการสละสิทธิครอบครองอันอยู่ในความรู้เห็นของ ม. ถ.ล.และมล. ซึ่งถึงแก่กรรมมาหลายสิบปีแล้ว ทั้งเป็นเรื่องภายในหมู่ญาติซึ่งบุคคลภายนอกอาจไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย ดังนั้น การวินิจฉัยปัญหาว่าโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยหรือไม่จำต้องอาศัยพฤติการณ์แห่งคดีตลอดจนลักษณะแห่งการครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทและพยานแวดล้อมเป็นสำคัญ เมื่อคำเบิกความของพยานโจทก์ขัดแย้งกันเอง มีพิรุธไม่น่ารับฟัง ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ทั้งสี่ยังครอบครองที่ดินพิพาทจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนจำเลยมี พ.ซึ่งเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านในท้องที่พิพาทและว. ซึ่งเคยเป็นกำนันท้องที่พิพาท และต่างมีภูมิลำเนาอยู่ใกล้เคียงกับที่ดินพิพาท ตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่าพยานมีโอกาสรู้เห็นถึงความเป็นมาของที่ดินพิพาทได้ดี ประกอบกับพยานมีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีอยู่ในฐานะคนกลางมีน้ำหนักน่ารับฟัง พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักดีกว่า และเชื่อว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย โดยโจทก์มีสิทธิครอบครอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายเหมือน ยุติธรรม นายมะลิ ยุติธรรม นายเถื่อน ยุติธรรม และนางเลื่อน ไตลังคะ ต่อมาบุคคลทั้งสี่ถึงแก่กรรมสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวจึงตกทอดแก่ทายาทของแต่ละคนโดยโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นทายาทของนายเถื่อน โจทก์ที่ 3 เป็นทายาทของนายเหมือน ส่วนโจทก์ที่ 4 เป็นทายาทของนางมะลิร่วมกับจำเลยแต่ยังมิได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดเจ้าของรวมทุกคนยังคงครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกันและแทนกันตลอดมาจนถึงปัจจุบันต่อมาจำเลยยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินดังกล่าว โดยอ้างว่าที่ดินทั้งแปลงเป็นของนายมะลิแต่เพียงผู้เดียว โจทก์กับพวกรวมทั้งพลโทสมิง ไตลังคะ กับนางสมจิตต์ ชมชัยยาไปยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดิน โดยโจทก์ประสงค์จะขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าวร่วมกับจำเลย ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลย โดยโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวคนละหนึ่งในแปดส่วน โจทก์ที่ 3 มีหนึ่งในสี่ส่วน ให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดออกโฉนดที่ดินโดยใส่ชื่อโจทก์ทั้งสี่ถือกรรมสิทธิ์ตามส่วนดังกล่าว ห้ามจำเลยคัดค้านห้ามจำเลยคัดค้าน หากจำเลยไม่ยินยอมให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา โดยให้โจทก์จำเลยออกค่าธรรมเนียมตามส่วน

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่เพียง 6 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวาเท่านั้น มิใช่ 13 ไร่ ตามฟ้อง ที่ดินดังกล่าวนายเหมือน นายเถื่อน และนางเลื่อนได้สละการครอบครองและไม่ยึดถือที่ดินนานแล้วตั้งแต่ครั้งที่บุคคลทั้งสามยังมีชีวิตอยู่นายมะลิได้ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนโดยทำประโยชน์และปลูกบ้านอยู่อาศัยตลอดมาจนถึงแก่กรรม หลังจากนั้นจำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์และปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทและที่ดินส่วนที่เกินอีก 6 ไร่โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 20 กว่าปีแล้ว ที่ดินทั้งหมดเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว นางแอ๊ดมิได้ยกสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 โจทก์ที่ 2 มิใช่ทายาทโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเฟื่องบุตรของนายเถื่อนโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 กับทายาทของนางเลื่อนและทายาทของนายเถื่อนไม่เคยทำประโยชน์หรือยึดถือหรือครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนแต่อย่างใด ส่วนโจทก์ที่ 4 เคยอาศัยอยู่บ้านของนายมะลิเมื่อครั้งที่นายมะลิยังมีชีวิตอยู่ แต่ต่อมานายมะลิไล่โจทก์ที่ 4 ออกจากบ้านและที่ดินพิพาทโจทก์ที่ 4 จึงสละการครอบครองและไม่ยึดถือที่ดินพิพาท ทั้งมิได้เข้าทำประโยชน์หรือยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทเมื่อหักส่วนที่เป็นสาธารณะออกแล้วคงเหลือเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ เท่านั้น มิใช่ 8 ไร่ โจทก์ทั้งสี่ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองจากจำเลยเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง เพราะล่วงเวลานาน 20 ปีเศษแล้ว โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 สำหรับโจทก์ที่ 4 ฟ้องคดีมรดกของนายมะลิซึ่งเป็นบิดาเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่นายมะลิถึงแก่กรรมทั้งเป็นการฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่นายมะลิถึงแก่กรรม คดีโจทก์ที่ 4 จึงขาดอายุความ โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ทั้งสี่เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยการรับมรดกและโดยการยกให้ตั้งแต่เมื่อใด จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัด ซึ่งสภาพแห่งข้อหา ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุมจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและที่ดินส่วนเกินอีกประมาณ 6 ไร่ ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน แต่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำคัดค้านและโจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีนี้เป็นการขัดขวางการรังวัดของจำเลยโดยที่โจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นการละเมิดสิทธิของจำเลย ทำให้จำเลยเสียหายไม่อาจดำเนินการออกโฉนดที่ดินได้ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ทั้งสี่ถอนคำคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของจำเลยและห้ามโจทก์ทั้งสี่ขัดขวางหรือคัดค้านหรือยุ่งเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินของจำเลย หากโจทก์ทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

โจทก์ทั้งสี่ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามคำฟ้องการที่จำเลยยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเพื่อจะเอาที่ดินพิพาทเป็นของตนแต่เพียงผู้เดียว เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสี่ การที่โจทก์ทั้งสี่แยกย้ายไปประกอบอาชีพที่อื่นเนื่องจากที่ดินพิพาทและในละแวกเดียวกันกับที่ดินพิพาทไม่สามารถทำประโยชน์ได้จำเป็นต้องเปลี่ยนอาชีพโดยไปหากินที่อื่น มิได้มีเจตนาสละการครอบครองที่ดินพิพาท โดยสมัครใจ แต่ยังคงยึดถือที่ดินพิพาทอยู่ โดยต่างครอบครองแทนกันและกัน โจทก์ทั้งสี่ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้โดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ที่ 3 หนึ่งในสี่ส่วน เป็นของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 คนละหนึ่งในแปดส่วน คำฟ้องของโจทก์ที่ 4 ให้ยกและให้ยกคำขอส่วนอื่นของโจทก์ทั้งสี่

โจทก์ที่ 4 และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ห้ามโจทก์ทั้งสี่เข้าไปเกี่ยวข้อง ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ทั้งสี่ฎีกา โดยโจทก์ที่ 4 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีประเด็นข้อพิพาทมาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ในข้อแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสี่มีภาระการพิสูจน์ว่าโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทถูกต้องหรือไม่ โดยโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาว่าเมื่อจำเลยให้การยอมรับว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายเหมือน นายมะลิ นายเถื่อนและนางเลื่อน ดังนั้น ในเบื้องต้นจึงรับฟังได้ว่าบุคคลทั้งสี่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกัน การที่จำเลยยกข้อเท็จจริงใหม่ขึ้นกล่าวอ้างในคำให้การว่านายเหมือนนายเถื่อนและนางเลื่อนสละสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยย่อมมีภาระการพิสูจน์ให้ได้ความตามที่ตนกล่าวอ้างมิฉะนั้นจำเลยต้องตกเป็นฝ่ายแพ้คดีแก่โจทก์หาใช่โจทก์ทั้งสี่มีหน้าที่นำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดังที่ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 บัญญัติว่า”ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างข้อจริงอย่างใดเพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตน ให้หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้นตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้าง

แต่ว่า (2) ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดคู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์แต่เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว” บทบัญญัติดังกล่าววางหลักเกณฑ์ในเรื่องภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีแพ่งว่า คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนข้ออ้างข้อเถียงของตนมีหน้าที่เสนอพยานหลักฐานต่อศาลเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าความจริงเป็นดังที่ตนกล่าวอ้าง เว้นแต่มีบทบัญญัติของกฎหมายสันนิษฐานข้อเท็จจริงให้เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายหนึ่งย่อมมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาพิสูจน์เพื่อหักล้างว่าความจริงมิได้เป็นไปตามข้อสันนิษฐานนั้น สำหรับคดีนี้แม้ตามคำให้การของจำเลยในตอนต้นมีข้อความว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายเหมือน นายมะลิ นายเถื่อนและนางเลื่อน แล้วต่อมานายเหมือนกับนายเถื่อนและนางเลื่อนต่างสละสิทธิครอบครองส่วนของตนให้แก่นายมะลิเป็นทำนองยอมรับว่านายเหมือนกับนายเถื่อนและนางเลื่อนเคยมีสิทธิในที่ดินพิพาทมาก่อน แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้เถียงว่าในขณะฟ้องคดีนี้จำเลยเป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นจำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายเป็นคุณแก่จำเลยว่าจำเลยยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1369 ที่บัญญัติว่า “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน” เมื่อโจทก์ทั้งสี่กล่าวอ้างว่า โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลย โจทก์ทั้งสี่ย่อมมีภาระการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสี่มีหน้าที่นำสืบเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อย่างไรก็ตามการที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยนำสืบก่อนเมื่อไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ ศาลฎีกาจึงไม่เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ แต่จะได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีไปอย่างที่โจทก์ทั้งสี่มีภาระการพิสูจน์ ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ประเด็นข้อต่อไปมีว่า โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยหรือไม่ในปัญหาดังกล่าวโจทก์ทั้งสี่นำสืบว่า แม้นายเหมือน นายมะลิ นายเถื่อนและนางเลื่อนผู้เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินพิพาทจะถึงแก่กรรมไปแล้ว แต่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของนายเหมือน นายมะลิและนายเถื่อนยังคงถือสิทธิในที่ดินพิพาท ทั้งจำเลยไม่เคยแสดงเจตนาต่อโจทก์ทั้งสี่ว่าจะยึดถือที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว ดังนั้น สิทธิครอบครองอันมีอยู่เหนือที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสี่จึงยังมีอยู่อย่างบริบูรณ์ ส่วนจำเลยนำสืบว่านายเหมือนกับนายเถื่อนและนางเลื่อนต่างยอมสละสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทให้แก่นายมะลิ เนื่องจากนายมะลิซื้อบ้านและที่ดินที่กรุงเทพมหานครให้นางเลื่อนซื้ออาวุธปืน 1 กระบอก ให้แก่นายเหมือน และซื้อเรือบรรทุกข้าว 1 ลำ ให้แก่นายเถื่อนเป็นการตอบแทน หลังจากนั้นนายมะลิเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ก่อนนายมะลิถึงแก่กรรมนายมะลิได้ยกเรือที่ใช้บรรทุกข้าวไปขายกับทองคำจำนวนหนึ่งให้แก่โจทก์ที่ 4เพื่อเป็นทุนค้าขาย และยกที่ดินพิพาทให้จำเลยแต่เพียงผู้เดียว เห็นว่า ที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่านายเหมือนกับนายเถื่อนและนางเลื่อนต่างยอมสละสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่นายมะลินั้น ข้อเท็จจริงดังกล่าวล้วนแต่อยู่ในความรู้เห็นของนายเหมือน นายเถื่อน นายเลื่อนและนายมะลิ แต่เนื่องจากบุคคลทั้งสี่ถึงแก่กรรมมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว อีกทั้งเรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องภายในหมู่ญาติซึ่งบุคคลภายนอกอาจไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย ดังนั้น การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจำต้องอาศัยพฤติการณ์แห่งคดี ตลอดจนลักษณะแห่งการครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทและพยานแวดล้อมกรณีเป็นสำคัญ ที่โจทก์ทั้งสี่ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยโดยจำเลยยึดถือที่ดินส่วนของโจทก์ทั้งสี่ไว้แทนโจทก์ทั้งสี่นั้น ตามพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสี่ปรากฏว่า นางเลื่อนกับโจทก์ทั้งสี่ออกจากที่ดินพิพาทไปอยู่ที่อื่นเป็นเวลาช้านานแล้ว อีกทั้งก่อนที่นายเหมือนกับนายเถื่อนถึงแก่กรรม บุคคลทั้งสองก็มิได้แสดงให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายว่าตนมีสิทธิในที่ดินพิพาทโดยโจทก์ที่ 3 เบิกความว่า ขณะที่พยานยังเล็กอยู่ได้อาศัยอยู่กับนายป๊อกและนางเปี๊ยก ยุติธรรม ซึ่งเป็นปู่และย่าในที่ดินพิพาทส่วนนายเหมือนบิดาของพยานไปค้าขายที่อื่นไม่ได้พักอาศัยอยู่ด้วย เมื่อพยานอายุได้ 7 ปี นายเหมือนก็ถึงแก่กรรมขณะที่โจทก์ที่ 3 เบิกความต่อศาลโจทก์ที่ 3 มีอายุ 85 ปี หากข้อเท็จจริงเป็นดังคำเบิกความของโจทก์ที่ 3 ย่อมแสดงว่านายเหมือนถึงแก่กรรมมาไม่น้อยกว่า 78 ปี แล้ว ทั้งนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายเหมือนเคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทแต่อย่างใดเลย โจทก์ที่ 3 ยังเบิกความด้วยว่า เมื่อโจทก์ที่ 3 อายุ 18 ปี ได้แต่งงานกับนายจอม สุวรรณทรัพย์ แล้วออกเรือนไปอยู่กินกับนายจอมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อคิดคำนวณเทียบเคียงกับอายุของโจทก์ที่ 3 แล้วเห็นได้ว่าโจทก์ที่ 3 ออกจากที่ดินพิพาทไปอยู่กินกับนายจอมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 67 ปีแล้ว แม้โจทก์ที่ 3 จะเบิกความว่าหลักจากไปอยู่กินกับนายจอมได้ 10 ปี โจทก์ที่ 3 กับนายจอมได้กลับไปพักอยู่ที่บ้านของนายป๊อกและนางเปี๊ยกในที่ดินพิพาทอีก เป็นทำนองว่าโจทก์ที่ 3 ยังหวงแหนที่ดินพิพาทอยู่ก็ตาม แต่โจทก์ที่ 3 ก็เบิกความรับว่า ในขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่นายป๊อกกับนางเปี๊ยกถึงแก่กรรมลง หลังจากนั้นนายมะลิได้รื้อบ้านหลังที่นายป๊อกกับนางเปี๊ยกพักอาศัยไปถวายวัดท้ายเกาะ โจทก์ที่ 3 กับนายจอมจึงต้องออกจากที่ดินพิพาทกลับไปอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาตามเดิม คำเบิกความของโจทก์ที่ 3 ในข้อเหล่านี้นอกจากไม่เป็นเหตุผลสนับสนุนให้เชื่อว่าโจทก์ที่ 3เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว กลับทำให้สมกับข้ออ้างข้างฝ่ายจำเลยว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายมะลิแต่เพียงผู้เดียว มิฉะนั้นแล้วโจทก์ที่ 3 คงไม่ยอมให้นายมะลิรื้อบ้านที่โจทก์ที่ 3 เคยพักอาศัยไปถวายวัดและคงไม่ยอมออกจากที่ดินพิพาทเป็นแน่ นอกจากนี้โจทก์ที่ 3 ยังเบิกความว่า นางเลื่อนแต่งงานออกเรือนไปอยู่กับสามีที่กรุงเทพมหานครก่อนที่โจทก์ที่ 3 จะแต่งงานกับนายจอมนับแต่นั้นมานางเลื่อนเพียงแต่กลับไปเยี่ยมนายป๊อกกับนางเปี๊ยกซึ่งเป็นบิดามารดาเป็นครั้งคราวเท่านั้น ตามคำเบิกความของโจทก์ที่ 3 รับฟังได้ว่า นางเลื่อนแต่งงานแยกครอบครัวไปอยู่ที่กรุงเทพมหานครก่อนที่โจทก์ที่ 3 แต่งงานกับนายจอมหลังจากนั้นนางเลื่อนไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกเลยจนกระทั่งนางเลื่อนถึงแก่กรรม ส่วนโจทก์ที่ 4 เบิกความว่า พยานเป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกับจำเลยโดยเป็นบุตรของนายมะลิกับนางชมพู ยุติธรรม และรู้เห็นถึงความเป็นมาเกี่ยวกับที่ดินพิพาทว่านายเหมือน นายเถื่อนและนางเลื่อนร่วมกับนายมะลิครอบครองที่ดินพิพาท และว่าพยานกับนายเถื่อนเคยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของตนเองนั้น โจทก์ที่ 4 เบิกความรับว่าหลังจากที่พยานกับนายเถื่อนเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทแล้ว เมื่อนายเถื่อนถึงแก่กรรมจำเลยได้ขับไล่พยานกับนางแอ๊ดมารดาของโจทก์ที่ 1 และนายเฟื่องบิดาของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของนายเถื่อนให้รื้อบ้านออกจากที่ดินพิพาท โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยพยานกับนางแอ๊ดและนายเฟื่องต่างยอมรื้อบ้านออกไปโดยมิได้อิดเอื้อนคำเบิกความของโจทก์ที่ 4 ในข้อนี้ขัดแย้งกับข้ออ้างของโจทก์ที่ 4 ที่ว่าตนเองกับนายเถื่อนเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทอยู่ในตัว เพราะหากโจทก์ที่ 4 กับนายเถื่อนมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจริงเหตุใดโจทก์ที่ 4 กับทายาทของนายเถื่อนจึงยอมออกจากที่ดินดังกล่าว เหตุผลต้นปลายในคำเบิกความของโจทก์ที่ 4 ขัดต่อเหตุผลไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้โจทก์ที่ 4 ยังยอมรับด้วยว่านายมะลิเคยแบ่งปันทรัพย์สินให้แก่พยานแล้ว โดยยกเรือบรรทุกข้าวให้ 1 ลำกับทองหนัก 4 บาท เพื่อเป็นทุนค้าขาย ซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ว่า นายมะลิแบ่งทรัพย์สินอื่นให้แก่โจทก์ที่ 4 แล้ว และยกที่ดินพิพาทให้เป็นสิทธิแก่จำเลยแต่เพียงผู้เดียว คำเบิกความของโจทก์ที่ 4 ที่อ้างว่าโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ไม่ประกอบด้วยเหตุผลอันควรรับฟัง นอกจากพยานเหล่านี้โจทก์ทั้งสี่คงมีตัวโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับนางอุไรศรี ยุติธรรมบุตรของโจทก์ที่ 4 เป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับนางอุไรศรียังคงไปดูแลและเก็บพืชผลในที่ดินพิพาทอยู่เสมอ และมีนางถุงเงิน ธรรมพิทักษ์ ซึ่งมีที่ดินอยู่ติดกับที่ดินพิพาทเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2กับนางอุไรศรียังคงไปดูแลที่ดินพิพาทโดยมิได้ทอดทิ้ง แต่คำเบิกความของพยานโจทก์เหล่านี้ขัดแย้งกันเองมีพิรุธไม่น่ารับฟัง เพราะนางถุงเงินเบิกความว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เพียงแต่ไปพักอาศัยที่บ้านของพยานเป็นครั้งคราวเท่านั้นแต่ไม่ได้เข้าไปในที่ดินพิพาท เมื่อเป็นเช่นนี้ที่โจทก์ทั้งสี่ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสี่ยังคงครอบครองที่ดินพิพาทจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังส่วนจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวเมื่อปี 2514 ที่ทางราชการต้องการที่ดินพิพาททางด้านทิศใต้เพื่อทำถนนชลประทาน จำเลยได้บริจาคที่ดินให้แก่ทางราชการบางส่วนหลังจากนั้นจำเลยได้ขายที่ดินทางทิศใต้เนื้อที่ประมาณ 140 ตารางวา ให้แก่นายสุวิทย์ ธรรมาภานนท์ และขายที่ดินพิพาทบางส่วนให้แก่นางใย อาชีวประดิษฐ์ เพื่อทำถนนเข้าสู่ที่ดินของนางใย โดยจำเลยมีสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยกับนายสุวิทย์เอกสารหมาย ล.34 และสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยกับนางใย เอกสารหมาย ล.36กับคำเบิกความของนางใยเป็นพยานสนับสนุนถ้อยคำของจำเลย นอกจากนี้จำเลยยังมีนายพวง แก้วทองเกลอ ซึ่งเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลท้ายเกาะอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ระหว่างปี 2522 ถึง 2538 กับนายหวั่น ลำพัชวา ซึ่งเคยเป็นกำนันตำบลท้ายเกาะ ระหว่างปี 2516 ถึง 2531 เป็นพยานเบิกความประกอบคำเบิกความของจำเลยว่า นายมะลิบิดาของจำเลยเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียว นายมะลิเคยอนุญาตให้นายเถื่อนปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาท แต่หลังกจากที่นายเถื่อนถึงแก่กรรมแล้ว บ้านของนายเถื่อนถูกรื้อออกไปจากที่ดินดังกล่าว ก่อนนายมะลิถึงแก่กรรมนายมะลิยกเรือให้โจทก์ที่ 4 จำนวน 1 ลำ และให้เงินทองไปลงทุนค้าขายด้วย ส่วนที่ดินพิพาทนั้นนายมะลิยกให้เป็นสิทธิแก่จำเลยพยานจำเลยทั้งสองปากนี้เคยเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองท้องถิ่นและมีภูมิลำเนาอยู่ใกล้เคียงกับที่ดินพิพาทตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่าพยานมีโอกาสรู้เห็นถึงความเป็นมาของที่ดินพิพาทได้ดี ประกอบกับพยานไม่มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดี นับได้ว่าอยู่ในฐานะคนกลางอย่างแท้จริง จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะปรุงแต่เรื่องราวอันเป็นเท็จขึ้นเพื่อช่วยเหลือจำเลย คำเบิกความของนายพวงกับนายหวั่นมีน้ำหนักน่ารับฟังและช่วยสนับสนุนพยานหลักฐานของจำเลยให้หนักแน่นมั่นคงยิ่งขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสี่และเชื่อว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว โดยโจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิครอบครองด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share