คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2223/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้หากศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปจนเสร็จสำนวนจะต้องพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไม่ถูกต้องก็ตาม แต่การพิพากษายกฟ้องโดยอาศัยเหตุดังกล่าว ไม่เกี่ยวกับประเด็นในเนื้อหาแห่งคดี จึงไม่เป็นการต้องห้ามมิให้คู่ความรื้อร้องฟ้องกันอีก ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จึงหามีผลทำให้จำเลยเสียเปรียบในเชิงคดีไม่และเมื่อการอนุญาตให้ถอนฟ้องมีเหตุอันสมควร ฟ้องแย้งย่อมตกไป.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินราชพัสดุโฉนดตรวจจองที่ 28 ทะเบียนราชพัสดุที่ 35864 และอาคารราชพัสดุบนที่ดินแปลงดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2521 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินและอาคารราชพัสดุดังกล่าวจากโจทก์เพื่ออยู่อาศัยและประกอบการค้า เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว โจทก์ไม่ต่อสัญญาให้เพียงแต่ยินยอมให้จำเลยอยู่อาศัยใช้ประโยชน์ในที่ดินและอาคารเป็นการชั่วคราวจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2528 เท่านั้น ต่อมาปี2529-2530 จำเลยขอต่อสัญญาเช่าอีก แต่โจทก์ปฏิเสธ จำเลยจึงนำเงินค่าเช่าที่ดินและอาคารจำนวนปีละ 4,444 บาท ไปวางที่สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 2 เพื่อให้โจทก์ไปรับชำระ แต่โจทก์ปฏิเสธให้ส่งคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลย และมีหนังสือแจ้งให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและอาคารภายในวันที่ 12ธันวาคม 2531 จำเลยทราบแล้วแต่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและอาคารราชพัสดุดังกล่าว
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุกับกรมธนารักษ์ เมื่อปี 2521 แต่ได้อยู่อาศัยมาตั้งแต่ปี 2500โจทก์ตกลงจะให้จำเลยเช่าที่พิพาทนาน 30 ปี แต่ให้ทำสัญญาเช่ากันครั้งและ 1 ปี ไปจนกว่าจะครบ 30 ปี และให้อาคารสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยปลูกลงในที่พิพาทตกเป็นของโจทก์ โดยจำเลยจะเป็นผู้ออกค่าก่อสร้างอาคารเองทั้งสิ้น สัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา จำเลยมีสิทธิอยู่ในที่พิพาทจนกว่าจะครบ 30 ปี คือ 2551 ขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์ไปจดทะเบียนสิทธิการเช่าที่พิพาทให้จำเลยจนถึงปี 2551 หรือครบกำหนด 30 ปี หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยตกลงจะให้จำเลยเช่าที่พิพาทได้นาน 30 ปี การที่จำเลยถมดินที่พิพาท ก่อสร้างอาคารต่อเติมอาคารทำประตูเหล็ก นั้น จำเลยกระทำไปโดยพลการ โดยไม่มีสิทธิ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ก่อนวันชี้สองสถาน โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง
จำเลยคัดค้านว่า โจทก์ขอถอนฟ้องภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้ว ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบเพราะมูลเหตุในการถอนฟ้องเนื่องจากหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไม่ถูกต้อง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่งจำเลยให้การต่อสู้ไว้แล้วว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง เนื่องจากจำเลยยังมิได้เสียค่าขึ้นศาลในการฟ้องแย้ง คำสั่งรับฟ้องแย้งแต่แรกเป็นการสั่งโดยผิดหลงจึงแก้ไขคำสั่งเป็นไม่รับฟ้องแย้ง จำหน่ายคดี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว จำเลยฎีกาว่าหากศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ตลอดไปจนเสร็จสำนวนต้องพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง มีผลให้ คดียุติโดยโจทก์ฟ้องจำเลยอีกไม่ได้เพราะเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่โจทก์ขอถอนฟ้องก็เพื่อตั้งรูปคดีมาฟ้องใหม่ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจึงทำให้จำเลยเสียเปรียบในเชิงคดี พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลชั้นต้นจะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ต่อไปจนเสร็จสำนวนและพิพากษายกฟ้องโดยอาศัยเหตุโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ดังที่จำเลยฎีกาก็ตามแต่การพิพากษายกฟ้องโดยอาศัยเหตุดังกล่าว ไม่เกี่ยวกับประเด็นในเนื้อหาแห่งคดี จึงไม่เป็นการต้องห้ามมิให้คู่ความรื้อร้องฟ้องกันอีกตามบทบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจึงชอบแล้วหามีผลทำให้จำเลยเสียเปรียบในเชิงคดีใหม่ ส่วนฎีกาจำเลยที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งนั้น เมื่อการอนุญาตให้ถอนฟ้อง มีเหตุอันสมควรดังได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น ฟ้องแย้งย่อมตกไป ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
พิพากษายืน.

Share