คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1096/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นพระภิกษุในวัดที่จำเลยเป็นเจ้าอาวาส โจทก์ถูกกล่าวหาว่าได้เสพเมถุนธรรมกับหญิง จำเลยได้ตั้งกรรมการทำการสอบสวนโดยจำเลยเป็นประธานกรรมการ แม้ในการสอบสวนจำเลยจะทำการสอบสวนผู้กล่าวหาซึ่งเป็นพระภิกษุสามเณรพร้อม ๆ กัน ลับหลังโจทก์ โดยอนุญาตให้พระภิกษุบางองค์ตอบแทนกัน และไม่เรียกพยานของโจทก์มาทำการสอบสวน อันเป็นการไม่ต้องด้วยพระธรรมวินัย ระเบียบบังคับ และกฎของมหาเถรสมาคม และในที่สุดจำเลยได้มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากวัดโดยที่การสอบสวนไม่ได้ความชัดว่าโจทก์ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นเรื่องผิดระเบียบการสอบสวนเท่านั้น และการที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากวัด โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ก็เพื่อให้มีความสงบสุขในวัด มิใช่จำเลยกลั่นแกล้งโจทก์ จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าอาวาสและเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จำเลยได้มีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนอธิกรณ์ระหว่างพระภิกษุ วัดอินทรวิหารผู้กล่าวหา โจทก์เป็นผู้ต้องหาในข้อหาว่าโจทก์ต้องปฐมปราชิกแห่งพระวินัย จำเลยเป็นประธานกรรมการ โดยจำเลยนำพระภิกษุสามเณรผู้กล่าวหามาให้กรรมการสอบสวนซักถามพร้อม ๆ กัน ยอมให้ตอบแทนกัน ปรึกษากันก่อนตอบ ทั้งไม่เรียกโจทก์ไปร่วมสอบสวนซักค้านของกรรมการ ทำให้โจทก์เสียหาย ต่อมาจำเลยได้มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากวัดภายใน ๑๕ วัน โดยที่มิได้ดำเนินการสอบสวนคำกล่าวหาให้ถึงที่สุด จึงเป็นการปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๗, ๑๓ และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๔๕
ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดอาญา คดีของโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยทำการสอบสวนผู้กล่าวหารวมกันต่อหน้ากัน ตอบแทนกันนั้น แม้จะเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องด้วยพระวินัยดังที่โจทก์กล่าวอ้างจริง ก็เป็นเรื่องทำผิดระเบียบการสอบสวนเท่านั้น หาเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ไม่ อนึ่งที่โจทก์ฎีกาว่า การสอบสวนไม่ปรากฏว่ามีพระภิกษุสามเณรรูปใดที่รู้เห็นจริงดังที่โจทก์ถูกกล่าวหา จำเลยจึงมีหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๗ (๒) แต่จำเลยละเว้นไม่ปฏิบัติกลับใช้อำนาจตามมาตรา ๓๘ สั่งให้โจทก์ออกจากวัด เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นผิดทางอาญานั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยจะมิได้มีคำสั่งในเรื่องโจทก์ถูกกล่าวหาโดยตรงเพราะการสอบสวนไม่ได้ความชัดลงไปว่า โจทก์ได้กระทำผิดดังข้อกล่าวหาหรือไม่ก็ตาม จำเลยก็มีอำนาจสั่งให้โจทก์ออกจากวัดได้ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๘ และการกระทำของจำเลยก็เพื่อให้มีความสงบสุขในวัด หาใช่เพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
พิพากษายืน

Share