คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3541/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินทดแทนที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์เมื่อเลิกจ้างมีหลักเกณฑ์แตกต่างจากค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นเงินประเภทอื่นที่นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง แม้จำเลยจะแก้ไขระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายเงินนั้นจาก “เงินทดแทน” เป็น “ค่าชดเชย” แต่หลักเกณฑ์การจ่ายและการได้มาซึ่งสิทธิก็ยังเป็นไปตามเดิม จึงหาทำให้เงินดังกล่าวกลายเป็นค่าชดเชยไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าหมดความจำเป็น ไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือตามระเบียบของจำเลย สุดแต่ทางใดจะให้ประโยชน์แก่พนักงานมากกว่ากันโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยซ้ำอีก ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เอกสารที่จำเลยกล่าวอ้างว่าได้จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ระบุว่า ได้จ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานและตามระเบียบของบริษัทจำเลย ระเบียบของบริษัทจำเลยกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินทดแทนแก่พนักงานซึ่งลาออกให้ออกเพราะหย่อนความสามารถ ตาย และเลิกจ้างเพราะยุบเลิกกิจการหรือหมดความจำเป็นกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะได้มาซึ่งสิทธิรับเงินทดแทนไว้อีกด้วย ล้วนแตกต่างจากาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จัดเป็นเงินประเภทอื่นที่นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง แม้ภายหลังจำเลยจะได้มีคำสั่งให้แก้ไขคำว่า “เงินทดแทน” เรียกใหม่เป็น “ค่าชดเชย” แต่หลักเกณฑ์การจ่ายเงินและหลักเกณฑ์การได้มาซึ่งสิทธิก็ยังเป็นไปตามเดิม ถือว่าเงินดังกล่าวมิใช่ค่าชดเชย จำเลยยังต้องมีหน้าที่จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์

พิพากษายืน

Share