แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ก่อนอ่านคำพิพากษา ทนายโจทก์ที่ 4 แถลงว่าโจทก์ที่ 4 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 2,730 บาท ขอแก้ไขให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตแล้ว ซึ่งโจทก์ที่ 4ชอบที่จะได้รับค่าชดเชยจำนวน 16,380 บาท แต่ศาลแรงงานกลางกลับพิพากษาให้เพียง 13,380 บาท จึงเป็นการผิดพลาดไป ศาลฎีกาแก้ไขเสียให้ถูกต้องโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 143 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งหกฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย จำเลยให้การว่าจ่ายค่าชดเชยให้แล้ว ระหว่างพิจารณา ก่อนอ่านคำพิพากษา ทนายโจทก์ที่ 4 แถลงว่าโจทก์ที่ 4 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ2,730 บาท ขอแก้ไขให้ถูกต้อง ศาลแรงงานกลางอนุญาต และพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่ทั้งหก โดยเฉพาะโจทก์ที่ 4 ได้รับค่าชดเชย 13,380 บาท จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีเฉพาะตัวโจทก์ที่ 4ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 28 เมษายน 2531 โจทก์ที่ 4 แถลงว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่แท้จริงของตนคือ 2,730 บาท จึงขอแก้ไขให้ถูกต้องตามความเป็นจริง และศาลแรงงานกลางก็อนุญาตแล้ว ซึ่งโจทก์ที่ 4 ชอบที่จะได้รับค่าชดเชยจำนวน 16,380 บาท ครั้นศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 4 กลับพิพากษาให้เพียง 13,380 บาท เมื่อคำนวณแล้วเท่ากับโจทก์ที่ 4ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเพียงเดือนละ 2,230 บาทเท่านั้น จึงเป็นการผิดพลาดไป เห็นควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 16,380 บาท