แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฐานมีและพกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตเมื่อลดโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกตลอดชีวิต จำคุก 8 เดือน และจำคุก 4 เดือนตามลำดับ เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 50 ปีตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมจำคุก 51 ปี แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ออกใช้บังคับ อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดและเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด จึงลงโทษจำคุกจำเลย 50 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ที่แก้ไขใหม่หมายเหตุ โปรดดูฎีกาที่ 3703/2526 ซึ่งวินิจฉัยแตกต่างกับฎีกาฉบับนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนพกไม่มีหมายเลขทะเบียนและกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาติดตัวไปในหมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ และจำเลยกับพวกได้ร่วมกันยิงนายสมบุญถึงแก่ความตายโดยเจตนาฆ่าและไตร่ตรองไว้ก่อน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4) พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72,72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม2519 ข้อ 3, 6, 7 วางโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ประหารชีวิตฐานมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนโดยไม่รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกตลอดชีวิตและเปลี่ยนเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 52 และมาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนจำคุก 8 เดือน ฐานพาอาวุธปืน โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 51 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องและวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ออกใช้บังคับเกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดและเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิด ให้ลงโทษและลดโทษทุกกระทงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ให้จำคุกจำเลยไว้ 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ซึ่งได้แก้ไข เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4