แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายอาญาทหาร ม.4 + 30 ถึง 33 แสดงให้เห็นว่า ” ผู้ซื่งบังคับบัญชาทหาร ” ย่อมออกคำสั่งหรือข้อบังคับให้ใช้บังคับทหาร เช่นกฎหมายของเขาเหล่านั้นได้ ปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่และวิธีการสอบสวนคดีอาญาของฝ่ายทหารศาลต้องพิจารณาแปลความหมายในบรรดาคำสั่งหรือข้อบังคับของฝ่ายทหารประกอบด้วยประมวลวิธีพิจารณาความอาญา
ข้อบังคับทหารที่ 9/10909/2477 ว่าด้วยระเบียบจัดการทางคดี ไม่มีข้อความใดที่บังคับว่าการไต่สวนคดีที่เกิดนอกกรุงเทพ+จะให้ศาลทหารพิจารณา บุคคลอื่นนอกจากอัยการจะกระทำไม่ได้ คำว่า ” ไต่สวน ” ในข้อบังคับนั้น มุ่งหมายเพียงแต่ว่าจะให้ใครไต่สวนได้ เพราะการฟ้องร้องในสมัยก่อนใช้ประมวลก.ม.วิธีพิจารณาความอาญา ไม่จำต้องมีการไต่สวนมาก่อน การดำเนินคดีในกรณีทีทหารเป็นผู้ต้องหาเป็นเรื่องกึ่ง+นัยกึ่งอาญาแผ่นดิน การสอบสวนที่ผู้บังคับทหารมณฑลทหารบกที่ 2 สั่งตั้งกรรมการสอบสวนโดยมิได้สั่งให้อัยการในทหารนอกกรุงเทพเป็นผู้สอบสวนตามข้อบังคับนั้น จึงชอบด้วย ก.ม.เพื่อฟ้องคดีต่อศาลทหารแล้ว
ป.วิ.อาญาม.134 หมายความเพียงว่า ก.ม.ต้องการให้ผู้ต้องหารู้ตัวก่อนว่าตนต้องถูกสอบสวนในคดีอาญา เรื่องใดอันเปนประธานมิได้หมายความความว่าต้องแจ้งกะทงความผิดทุกกะทง เช่นแจ้งข้อหาฐานลักทรัพย์ ปรากฎว่าผู้ต้องหาทำลายตราและไม่ทำตามข้อบังคับด้วยในการลักทรัพย์นั้น โจทก์ย่อมฟ้องฐานรวมไปได้ทุกฐาน ฎีกา 99/81 เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องฐานอื่นเพิ่มเติมโดยปรากฎขึ้นในการพิจารณาของศาล หาได้อาศัยจากการสอบสวนไม่ จึงฟ้องไม่ได้เพราะไม่มีการสอบสวน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยไม่ทำตามข้อบังคับทหารบกและทหารอากาศปลอมดวงตรา ทำลายดวงตราและลักทรัพย์ในบริเวณค่ายทหาร ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ก.ม.อาญา ม.๖๓,๖๕,๗๑,๑๒๑,๑๓๐,๒๑๑,๒๘๘,๒๙๓,๒๙๔ ประมวล ก.ม.อาญาทหาร ม.๓๒,๕๐ กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๑๙๘,๑๘๑ บาท ๗๕ สตางค์แก่มณฑลทหารบกที่ ๒ กองทับบก จำเลยที่ ๑ และ ๕ ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ ๒,๓,๔ รับสารภาพ
ศาลทหารกลางพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ ตามประมวลก.ม.อาญาทหาร ม.๓๒ (๓) รวม ๒ กะทง ๔ ปี จำคุกจำเลยที่ ๒-๓-๔ และ ๕ ตาม ก.ม.ลักษณะอาญา ม.๑๒๑,๒๙๔ คนละ ๕ ปี เพิ่มและลดโทษแล้วคงจำคุก จำเลยที่ ๒ ห้าปี จำเลยที่ ๓,๔ คนละ ๓ ปี ๔ เดือน จำเลยที่ ๕ ห้าปี ให้จำเลยที่ ๒-๓-๔-๕ คืนหรือใช้ทรัพย์ ๑๙๘,๑๘๑ บาท ๗๕ สตางค์แก่กองทัพบก
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลทหารกลางโดยตุลาการฝ่ายข้างมากเห็นว่าคดีฟังไม่ได้ว่า พ.อ.ไสว ดวงมณีเจ้าหน้าที่ธรรมนูญกองทัพบกมีอำนาจสอบสวนในฐานะพนักงานสอบสวนและผู้บังคับบัญชาตั้งกรรมการสอบสวนก็ไม่ชอบเพราะไม่ได้เป็นไปตามข้อบังคับทหารว่าด้วยระเบียบจัดการทางคดีที่ ๙/๑๐๙๐๙/๒๔๗๗ การสอบสวนจึงไม่ชอบด้วย ก.ม.อัยการโจทก์จะฟ้องจำเลยไม่ได้ ข้อหาฐานลักทรัพย์เท่ากับไม่มีการสอบสวน ข้อหาฐานไม่ทำตามข้อบังคับ ทำลายดวงตรา ผู้สอบสวนก็ไม่ได้แจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหา ถือว่าไม่มีการสอบสวน อัยการทหารไม่มีอำนาจฟ้องตามนัยฎีกาที่ ๙๙/๒๔๘๑ จึงพิพากษายกฟ้อง
ตุลาการศาลทหารกลางฝ่ายข้างน้อยเห็นว่าคดีได้มีการสอบสวนแล้วและการสอบสวนก็ชอบด้วย ก.ม.
อัยการโจทก์ ผู้มีอำนาจตั้งกรรมการ เจ้ากรมการเงินทหารบก ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๒ ผู้มีอำนาจสั่งลงโทษฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาว่า ปัญหาที่คดีนี้มีการสอบสวนโดยชอบด้วยก.ม.ก่อนฟ้องคดีหรือไม่นั้น ตามพระธรรมนูญศาลทหาร ม.๙ และ ป.ม.อาญาทหาร ม.๔,๓๐ ถึง๓๓ แสดงให้เห็นว่า ” ผู้ซึ่งบังคับบัญชาทหาร ” ออกคำสั่งหรือข้อบังคับให้ใช้บังคับทหารได้เช่น ก.ม.ของเขาเหล่านั้น ศาลต้องพิจารณาแปลความหมายในบรรดาคำสั่งหรือข้อบังคับของฝ่ายทหารประกอบกับประมวลวิธีพิจารณาความอาญา
ปรากฎว่าเมื่อเกิดเรื่องเงินของมณฑลทหารบกที่ ๒ หายไป ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๒ ได้ตั้งนายทหารพร้อมด้วย ร.อ.ณรงค์อัยการมณฑลทหารบกที่ ๒ เป็นกรรมการสอบสวน ต่อมากองทัพบกตั้งนายทหาร พ.อ.ไสว ดวงมณี เจ้าหน้าที่ธรรมนูญกองทัพบกไปเป็นกรรมการร่วม ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๒ จึงตั้งกรรมการใหม่ ถอน ร.อ.ณรงค์กับนายทหาร ๑ นายออก คณะกรรมการได้สอบสวนได้ความว่าจำเลยทำผิด จึงเสนอความเห็นต่อผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๒ ๆ สั่งให้ฟ้อง
ตามข้อบังคับทหารที่ ๙/๑๐๙๐๙/๒๔๗๗ ไม่ได้บังคับว่าการไต่สวนคดีที่เกิด+บุคคลอื่นนอกจากอัยการจะกระทำมิได้ เป็นแต่บังคับว่าเมื่อมีคดีเกิดขึ้น ผู้บังคับบัญชาสอบสวนพิจารณาเห็นว่าเป็นเรื่องซึ่งจะขอให้ศาลพิจารณาก็ให้เสนอเรื่องไปยังผู้บังคับการมณฑลทหาร ฯ ข้อความที่ว่า ” เพื่อสั่งให้อัยการทำการไต่สวน ” ก็ไม่ใช่บทบังคับผู้บังคับการให้ทำเช่นนั้นโดยตรงเวลาออกข้อบังคับนั้นยังไม่มีระบบการตาม ป.วิอาญาม.๑๒๐ ซึ่งห้ามมิให้อัยการฟ้องคดีโดยมิได้มีการสอบสวน ตามข้อบังคับนั้น ม.๓ ข้อ ๔ แสดงว่าสำนวนการไต่สวนอาจมีมาก่อนที่อัยการลงมือปฏิบัติราชการ แสดงว่าผู้อื่นอาจไต่สวนได้
ตามระเบียบแบบแผนฝ่ายทหาร การลงโทษทางวินัยและการลงโทษทาง ก.ม.ปะปนกันอยู่ ผู้บังคับบัญชาอาจลงโทษทางวินัยโดยไม่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล จึงอาจไม่ต้องทำการสอบสวนก็ได้ การสอบสวนที่ทำขึ้นอาจใช้ในการลงทัณฑ์ทางวินัย หรือฟ้องคดีทางศาลทหารก็ได้ การสอบสวนของคณะกรรมการในเรื่องนี้จึงชอบด้วย ก.ม.เพื่อฟ้องร้องคดีต่อศาลทหารแล้ว
ส่วนที่มิได้แจ้งข้อหาฐานไม่ทำตามข้อบังคับแลทำลายดวงตราแก่ผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนนั้น ตามป.วิ.อาญาม.๑๓๔ ไม่หมายความว่าต้องแจ้งข้อหาทุกกะทงความผิด หมายความว่าแจ้งให้ผู้ต้องหารู้ตัวก่อนสอบสวนว่าถูกสอบสวนในเรื่องใดก็พอไม่ตรงกับฎีกาที่ ๙๙/๘๑ ซึ่งโจทก์ฟ้องคดีเพิ่มเติมขึ้นจากคำพยานที่ปรากฎขึ้นในศาลมิได้ฟ้องโดยอาศัยการสอบสวน
จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลทหารกลาง ให้ศาลทหารกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ตามนัยแห่งข้อกฎหมายข้างต้น จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๒ ที่ส่งสำเนาฎีกาไม่ได้