คำวินิจฉัยที่ 11/2552

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑/๒๕๕๒

วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๒

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดี เห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๐ ห้างหุ้นส่วนจำกัด รวมสินธนวัฒน์ ที่ ๑ นายทวิชชัย ฐิตวิริยะ ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้องบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ที่ ๑ นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ที่ ๒ นางสุดารัตน์ คล่องขยัน ที่ ๓ นางบัวชร ลัทธินานนท์ ที่ ๔ นายวิชิต ชุมชัยเวทย์ ที่ ๕ นายไพโรจน์ เรืองปราชญ์ ที่ ๖ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๔๕๘/๒๕๕๐ ความว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ และมีจำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ เป็นเจ้าหน้าที่สังกัดจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๓๘ โจทก์ที่ ๑ จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๖๗ ตำบลคลองสี่ อำเภอแสนแสบ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๒๑ ไร่ ๒ งาน เป็นประกันหนี้ของโจทก์ที่ ๑ ต่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในวงเงิน ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท และได้จดทะเบียนขึ้นวงเงินจำนองรวมเป็นวงเงินจำนองทั้งสิ้น ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมาธนาคารดังกล่าวโอนสิทธิเรียกร้องในภาระหนี้พร้อมหลักประกันและโอนสิทธิการรับจำนองบางส่วนให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด เป็นผู้รับจำนอง และเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๔ จำเลยที่ ๑ รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและสิทธิเหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันจากบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ หลังจากนั้นโจทก์ทั้งสองติดต่อกับจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ เพื่อเสนอแนวทางและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยโจทก์ทั้งสองว่าจ้างบริษัทไนท์แฟรงค์ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ประเมินราคาที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๖๗ ปรากฏว่า ที่ดินมีมูลค่าไม่น้อยกว่า ๔๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ทั้งสองได้เสนอเอกสารการประเมินราคาต่อจำเลยที่ ๑ เพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ กลับร่วมกับจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ กระทำการโดยทุจริตเบียดบังโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๖๗ ไปเป็นของจำเลยที่ ๑ ตั้งแต่วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๔๘ ในราคาเพียง ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมาวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๙ จำเลยที่ ๑ ขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๖๗ ให้แก่บุคคลภายนอกในราคา ๔๕,๖๐๐,๐๐๐ บาท ทั้งที่ที่ดินแปลงดังกล่าวมีราคาซื้อขายตามท้องตลาดไม่น้อยกว่า ๑๒๕,๘๐๐,๐๐๐ บาท การกระทำดังกล่าว ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย เนื่องจากจำเลยที่ ๑ มิได้ดำเนินการโดยสุจริต ฉ้อฉลปกปิดการดำเนินการ ไม่บอกกล่าวการล้มเลิกการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การบอกกล่าวชำระหนี้และการบังคับจำนอง การเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ที่ ๑ มาเป็นของจำเลยที่ ๑ รวมทั้งการขายทรัพย์มิได้เป็นไปตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๗๔ ถึงมาตรา ๗๗ การกระทำของจำเลยทั้งหกจึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๖๗ ตำบลคลองสี่ อำเภอแสนแสบ กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ ๑ และการจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวแก่บุคคลภายนอก โดยให้จำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ที่ ๑ และให้จำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าธรรมเนียมการโอนและค่าใช้จ่ายทั้งปวง หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน ๑๒๕,๘๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งหกให้การว่า โจทก์ที่ ๑ ไม่ให้ความร่วมมือในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ทั้งไม่สามารถชำระหนี้และดำเนินกิจการต่อไปได้ จำเลยที่ ๑ ดำเนินการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของโจทก์ที่ ๑ ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งหกไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ทั้งสองอ้างในคำฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานของรัฐ มีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้แทนจำเลยที่ ๑ โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ กระทำการโอนที่ดินอันเป็นหลักประกันหนี้ของโจทก์ที่ ๑ ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ ในราคาต่ำ ทั้งที่อยู่ระหว่างโจทก์ทั้งสองยื่นหนังสือและเอกสารการประเมินราคาที่ดินดังกล่าวต่อจำเลยที่ ๑ เพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จากนั้นจำเลยที่ ๑ โอนขายที่ดินดังกล่าวแก่บุคคลภายนอกโดยไม่ได้บอกกล่าวบังคับจำนองให้โจทก์ทั้งสองทราบ ทั้งมิได้ประกาศหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลาย จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ การกระทำของจำเลยทั้งหกจึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งหกให้การว่า จำเลยที่ ๑ บริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของโจทก์ที่ ๑ ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนี้ ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๕ วรรคสอง บัญญัติให้จำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นหน่วยงานของราชการหรือรัฐวิสาหกิจ จำเลยที่ ๑ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือ โดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยจัดตั้งขึ้นตามมาตรา ๕ แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยมีวัตถุประสงค์ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ ปรับโครงสร้างหนี้ และปรับโครงสร้างกิจการ โดยการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์รวมตลอดทั้งสิทธิอื่นใดเหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันการชำระหนี้สำหรับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนั้น หรือโดยการใช้มาตรการอื่นใด เพื่อประโยชน์แก่การฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศ ด้วยการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์แห่งชาติขึ้น เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่จะทำหน้าที่แก้ไขปัญหาการค้างชำระหนี้ของลูกหนี้ของสถาบันการเงินของรัฐและเอกชนให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ด้วยการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาจากสถาบันการเงินของรัฐและบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อนำมาบริหารจัดการตามวิธีการที่กำหนด สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนั้น มาตรา ๑๑ แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ บัญญัติว่า ไม่ให้นำกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองมาใช้บังคับแก่การดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยตามพระราชกำหนดนี้ และการออกระเบียบหรือข้อบังคับ คำสั่ง คำวินิจฉัย การอนุญาตและการกระทำอื่นใดของคณะกรรมการและคณะกรรมการบริหาร อันเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามพระราชกำหนดนี้ ซึ่งบทบัญญัติ หมวด ๔ ส่วนที่ ๓ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ได้กำหนดเกี่ยวกับการดำเนินการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยถือเป็นกระบวนการส่วนหนึ่งของการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพด้วย ดังนั้นข้อพิพาทอันสืบเนื่องจากการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพดังกล่าว ย่อมไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว กรณีที่โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า ในระหว่างการประสานงานเพื่อเสนอแนวทางและแผนปรับปรุงโครงหนี้ จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานให้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ได้ร่วมกันทุจริตเบียดบังโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๖๗ ของโจทก์ที่ ๑ ไปเป็นของจำเลยที่ ๑ และต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอก โดยไม่บอกกล่าวบังคับจำนองให้โจทก์ทั้งสองทราบและเห็นว่าจำเลยทั้งหกไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด เห็นว่า จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และการปฏิบัติหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์หลักประกันของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๑ นั้น เป็นการดำเนินการอันสืบเนื่องจากการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ดังนั้นข้อพิพาทคดีนี้จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ทั้งนี้ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๑/๒๕๕๐

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้แทน จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ เป็นเจ้าหน้าที่สังกัดจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๓๘ โจทก์ที่ ๑ จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๖๗ ตำบลคลองสี่ อำเภอแสนแสบ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๒๑ ไร่ ๒ งาน เป็นประกันหนี้ของโจทก์ที่ ๑ ต่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และได้จดทะเบียนขึ้นวงเงินจำนองในเวลาต่อมารวมเป็นวงเงินจำนอง ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมาธนาคารดังกล่าวโอนสิทธิเรียกร้องในภาระหนี้พร้อมหลักประกันและโอนสิทธิการรับจำนองบางส่วนให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด เป็นผู้รับจำนอง และเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๔ จำเลยที่ ๑ รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและสิทธิเหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ดังกล่าวตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ โจทก์ทั้งสองติดต่อกับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกับจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ กระทำการโดยทุจริตเบียดบังโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๖๗ ไปเป็นของจำเลยที่ ๑ ในราคา ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และจำเลยที่ ๑ ขายให้แก่บุคคลภายนอกในราคา ๔๕,๖๐๐,๐๐๐ บาท ทั้งที่ราคาซื้อขายตามท้องตลาดไม่น้อยกว่า ๑๒๕,๘๐๐,๐๐๐ บาท การกระทำดังกล่าวทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย เนื่องจากจำเลยที่ ๑ มิได้ดำเนินการโดยสุจริต ฉ้อฉลปกปิดการดำเนินการ ไม่บอกกล่าวการล้มเลิกการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การบอกกล่าวชำระหนี้และการบังคับจำนอง การเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ที่ ๑ มาเป็นของจำเลยที่ ๑ รวมทั้งการขายทรัพย์มิได้เป็นไปตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๗๔ ถึงมาตรา ๗๗ การกระทำของจำเลยทั้งหกจึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๖๗ มาเป็นของจำเลยที่ ๑ และเพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายแก่บุคคลภายนอก โดยให้จำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ที่ ๑ และให้จำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าธรรมเนียมการโอนและค่าใช้จ่ายทั้งปวง หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน ๑๒๕,๘๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งหกให้การว่า โจทก์ที่ ๑ ไม่ให้ความร่วมมือในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ทั้งไม่สามารถชำระหนี้และดำเนินกิจการต่อไปได้ จำเลยที่ ๑ ดำเนินการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของโจทก์ที่ ๑ ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายการกระทำของจำเลยทั้งหกไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า จำเลยที่ ๑ จัดตั้งขึ้นตามมาตรา ๕ แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น จำเลยที่ ๑ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีวัตถุประสงค์ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ ปรับโครงสร้างหนี้ และปรับโครงสร้างกิจการ โดยการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์รวมตลอดทั้งสิทธิอื่นใดเหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันการชำระหนี้สำหรับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนั้น หรือโดยการใช้มาตรการ อื่นใด เพื่อประโยชน์แก่การฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศ อันเป็นการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์แห่งชาติขึ้น เพื่อให้เป็นหน่วยงานของรัฐที่จะทำหน้าที่แก้ไขปัญหาการค้างชำระหนี้ของลูกหนี้ของสถาบันการเงินของรัฐและเอกชนให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ด้วยการรับโอนสินทรัพย์ที่จัดเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาจากสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อนำมาบริหารจัดการตามวิธีการที่กำหนดไว้ และในการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนั้น พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๑๑ บัญญัติว่าไม่ให้นำกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองมาใช้บังคับแก่การดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์ ด้อยคุณภาพ ทั้งพระราชกำหนดฉบับนี้ก็กำหนดให้การดำเนินการเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ถือเป็นกระบวนการส่วนหนึ่งของการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพด้วย ดังที่บัญญัติไว้ในหมวด ๔ ส่วนที่ ๑ และส่วนที่ ๓ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ ๑ รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายนี้มาจากสถาบันการเงิน แล้วดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพดังกล่าวโดยการนำออกขายทอดตลาดแต่ไม่มีผู้ใดประมูลเข้าสู้ราคา จำเลยที่ ๑ จึงพิจารณารับโอนกรรมสิทธิ์หลักประกันดังกล่าวไว้เอง อันเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๑ ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ หมวด ๔ ส่วนที่ ๑ และส่วนที่ ๓ เมื่อโจทก์ทั้งสองอ้างว่า ในระหว่างปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกับจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ กระทำการโดยทุจริตเบียดบังโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๖๗ ไปเป็นของจำเลยที่ ๑ ในราคา ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และจำเลยที่ ๑ ขายให้แก่บุคคลภายนอกในราคา ๔๕,๖๐๐,๐๐๐ บาท ทั้งที่ราคาซื้อขายตามท้องตลาดไม่น้อยกว่า ๑๒๕,๘๐๐,๐๐๐ บาท ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย เนื่องจากจำเลยที่ ๑ มิได้ดำเนินการโดยสุจริต ฉ้อฉลปกปิดการดำเนินการ ไม่บอกกล่าวการล้มเลิกการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การบอกกล่าวชำระหนี้และการบังคับจำนอง การเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ที่ ๑ มาเป็นของจำเลยที่ ๑ รวมทั้งการขายทรัพย์มิได้เป็นไปตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๗๔ ถึงมาตรา ๗๗ ซึ่งเป็นขั้นตอนและกระบวนการในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของจำเลยที่ ๑ กรณีจึงเป็นข้อพิพาทที่สืบเนื่องมาจากการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอันไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด รวมสินธนวัฒน์ ที่ ๑ นายทวิชชัย ฐิตวิริยะ ที่ ๒ โจทก์ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ที่ ๑ นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ที่ ๒ นางสุดารัตน์ คล่องขยัน ที่ ๓ นางบัวชร ลัทธินานนท์ ที่ ๔ นายวิชิต ชุมชัยเวทย์ ที่ ๕ นายไพโรจน์ เรืองปราชญ์ ที่ ๖ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน
??

??

??

??

Share