แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ภารจำยอมเหนือที่ดินแปลงหนึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินแปลงอื่นเท่านั้น เมื่อที่ดินที่โจทก์ใช้เป็นทางเข้าออกและที่ดินที่โจทก์เช่าอยู่เดิมเป็นของเจ้าของเดียวกัน และเจ้าของที่ดินดังกล่าวใช้อำนาจกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนอนุญาตให้โจทก์ใช้เป็นทางเข้าออกได้ แม้โจทก์จะใช้ทางดังกล่าวมาเกิน 10 ปีก็ไม่ก่อให้เกิดภารจำยอมเหนือที่ดิน โจทก์เพิ่งซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่โจทก์เคยเช่ามายังไม่ครบ 10 ปี จึงไม่ได้ภารจำยอมในการใช้ทางเดินโดยอายุความ
(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1194/2508 และ 1049/2513)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมบิดามารดาโจทก์เช่าที่ดินและอาคารของนายสุขตั้งแต่ พ.ศ. 2511 ที่ดินและตึกแถวด้านข้างติดซอยตลาดสุขใจ มีประตูออกสู่ซอยนี้ 2 ประตู โจทก์ใช้เป็นทางเข้าออกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2511 ต่อมา พ.ศ. 2520โจทก์ซื้อที่ดินและอาคารที่เคยเช่าทั้งหมดจากนายสุข และจำเลยซื้อที่ดินบริเวณซอยตลาดสุขใจแล้วสร้างกำแพงคอนกรีตลงในที่ดินส่วนที่เป็นซอยตลาดสุขใจ ซึ่งเป็นทางสาธารณะใช้สอยกันมานานเกิน 10 ปีแล้วกั้นขวางประตูอาคารด้านข้างของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ใช้ทางเข้าออกสู่ซอยดังกล่าวไม่ได้ขอให้สั่งว่าซอยตลาดสุขใจเป็นทางสาธารณะหรือทางภารจำยอม ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป
จำเลยให้การว่า ที่ดินซอยตลาดสุขใจเป็นที่ดินของจำเลยไม่ใช่ทางสาธารณะ จำเลยสร้างกำแพงในที่ดินของจำเลยโดยชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ซอยตลาดสุขใจไม่ใช่ทางภารจำยอมหรือทางสาธารณะ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1ต่างซื้อที่ดินมาจากนายสุข พุกยาภรณ์ เจ้าของเดียวกัน โจทก์ซื้อที่ดินส่วนที่เป็นตึกแถวเลขที่ 2196, 2198 และที่ดินหลังตึกแถวนี้ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 ส่วนจำเลยซื้อที่ดินด้านข้างที่ติดต่อกับตึกแถวของโจทก์ รวมทั้งที่ดินส่วนที่เป็นซอยตลาดสุขใจหรือซอยพหลโยธิน 36 ด้วย เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2522 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 ก่อนโจทก์ซื้อที่ดิน บิดามารดาโจทก์ได้เช่าที่ดินและตึกแถวนี้จากนายสุข พุกยาภรณ์ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2511 พ.ศ. 2512 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 จ.5 และต่ออายุสัญญาเช่าตลอดมา แม้นายสุข พุกยาภรณ์ จะอนุญาตให้ผู้เช่ากับบริวารใช้ประตูด้านข้างทั้งสองประตูเป็นทางเข้าออกไปซอยตลาดสุขใจหรือซอยพหลโยธิน 36 ซึ่งก็เป็นที่ดินของนายสุขพุกยาภรณ์ เอง เป็นเรื่องที่ นายสุข พุกยาภรณ์ ใช้อำนาจกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนเอง แม้ผู้เช่ากับบริวารจะใช้ทางดังกล่าวมาเกิน 10 ปีก็ไม่ก่อให้เกิดภารจำยอมเหนือที่ดิน เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 ภารจำยอมเหนือที่ดินแปลงหนึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินแปลงอื่นเท่านั้น เมื่อที่ดินทั้งของโจทก์จำเลย ขณะบิดามารดาโจทก์เช่ามายังเป็นของเจ้าของเดียวกัน จึงเกิดภารจำยอมเหนือที่ดินอื่นไม่ได้ดังนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1194/2508 ระหว่าง นายเหยบ บิลอิดริส โจทก์นางสาวนิภาวัลย์ แซ่ตั้ง กับพวก จำเลย โจทก์เพิ่งซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของโจทก์มาจากนายสุข พุกยาภรณ์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2523ยังไม่ครบ 10 ปี อันจะได้ภารจำยอมในการใช้ทางเดินโดยอายุความ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1049/2513 ระหว่างนางสาวกัญญา นำสินวิเชษฐชัยหรือใต้ขวั่น แซ่หล่ำ กับพวก โจทก์ นายไพรัชหรือไพรัชสาร สารเศรษฐศิริ กับพวก จำเลย การที่จำเลยทั้งสามปิดกั้นทางในที่ดินที่ตนซื้อมา จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน