แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่และรักษาการในตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ของชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 การที่ปุ๋ยในคลังสินค้าของจำเลยที่ 1 หายไปโจทก์ให้คนไปสืบได้เพียง 7 วัน จึงยังมิได้รายงานให้คณะกรรมการดำเนินการของจำเลยที่ 1 ทราบ เป็นการใช้ดุลพินิจปฏิบัติหน้าที่ตามที่เห็นสมควรในพฤติการณ์เช่นนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นการไม่รับผิดชอบในหน้าที่หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบแบบแผนข้อบังคับและคำสั่งของจำเลยที่ 1 หรือมิได้กระทำการโดยซื่อสัตย์สุจริตตามความในสัญญาจ้าง และหาใช่เป็นเรื่องไม่ดูแลรักษาทรัพย์สินตามระเบียบของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับเรื่องวินัยไม่ จึงไม่ผิดวินัยหรือเงื่อนไขในสัญญาจ้างการที่โจทก์แถลงขอเรียกเงินตามฟ้องเพียง 230,000 บาทเห็นได้ว่าโจทก์ติดใจเรียกเงินทุกประเภทรวมทั้งค่าชดเชยด้วยทั้งไม่ติดใจเรียกดอกเบี้ยจากเงินที่กล่าวนี้อีกเมื่อศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจลดเงินที่โจทก์ติดใจเรียกร้องลงมาเหลือเพียง 159,64246 บาท เงินจำนวนนี้จึงรวมค่าชดเชยไว้แล้วนั่นเอง เมื่อเงินจำนวนนี้สูงกว่าค่าชดเชยที่โจทก์อ้างว่ามีสิทธิได้รับตามกฎหมายแล้วโจทก์จึงไม่อาจอ้างว่าศาลใช้ดุลพินิจลดค่าชดเชยลงให้โจทก์ได้รับต่ำกว่าที่กฎหมายบังคับไว้
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 159,642.46 บาท ให้โจทก์ โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เป็นรองผู้จัดการ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2516 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2519 ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 มีข้อตกลงในข้อ 5 ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาจ้างก่อนครบอายุสัญญาจ้างโดยการบอกเลิกสัญญานั้นมิได้อยู่ในเงื่อนไขสัญญาข้อ 6 จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ปรับเพื่อชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินสองเท่าของสินจ้างเงินบำเหน็จและเงินอื่น ๆ ที่โจทก์พึงได้รับตามสัญญา ตลอดอายุสัญญาจ้าง ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้จ้างโจทก์ต่อไปอีก 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2519 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2524 ตามเอกสารหมาย จ.2 และตามเงื่อนไขข้อตกลงในสัญญาจ้างเดิม ปุ๋ยของจำเลยที่ 1 จำนวน 2,811.96 เมตริกตัน ราคา 6,579,986 บาท 40 สตางค์ เก็บไว้ที่คลังสินค้าอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ถูกนายสัญญา ทองสว่าง ผู้รับจ้างเฝ้ากับพวกลักลอบนำออกไปจำหน่ายเมื่อระหว่างเดือนมกราคม ถึงกุมภาพันธ์ 2521 ขณะนั้นโจทก์ดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ และรักษาการในตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ของจำเลยที่ 1 นายดำรง อิงคนันท์ ได้บอกเรื่องปุ๋ยหายนี้ให้โจทก์ทราบก่อนจำเลยที่ 1 ทราบประมาณ 7 วันแต่โจทก์ยังไม่ทราบว่าปุ๋ยหายไปเท่าใด โจทก์คิดว่าหายไม่มาก จำเลยที่ 1 คงไม่เสียหาย เพราะนายสัญญามีทรัพย์จำนองเป็นประกันจำนวน 100,000 บาท โจทก์จึงได้ให้นายดำรงไปสืบจำนวนปุ๋ยที่หายก่อน ยังไม่ได้รายงานให้คณะกรรมการดำเนินการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ทราบ ต่อมาจำเลยที่ 1 ทราบเรื่องนี้และได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แต่ไม่สามารถติดตามปุ๋ยคืนได้ มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า การกระทำของโจทก์เป็นการผิดสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 6 และผิดวินัยตามระเบียบของจำเลยที่ 1 หรือไม่ และมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ศาลแรงงานกลางไม่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยดอกเบี้ยของเงินค่าปรับและดอกเบี้ยของค่าชดเชยให้แก่โจทก์เป็นการชอบหรือไม่
พิจารณาแล้ว ในปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 นั้น ปรากฏว่าสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 6 มีข้อความว่า “ลูกจ้างจะต้องรับผิดชอบต่อนายจ้างในปฏิบัติงานในหน้าที่รองผู้จัดการและหรืองานที่ได้รับมอบหมาย ลูกจ้างจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบแบบแผนและข้อบังคับของนายจ้าง ตลอดจนคำสั่งอันเป็นมติโดยชอบของคณะกรรมการดำเนินการของนายจ้างเสมอไป และจะต้องกระทำการโดยซื่อสัตย์สุจริต หากปรากฏว่าลูกจ้างกระทำการทุจริตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือไม่ก็ตาม อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กิจการของนายจ้างอย่างร้ายแรง นายจ้างมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาจ้างได้ทันที แม้จะยังไม่สิ้นสุดอายุสัญญาจ้าง ฯลฯ ” พิเคราะห์แล้ว การที่นายสัญญา ทองสว่าง กับพวกลักลอบนำปุ๋ยของจำเลยที่ 1 ออกไปจำหน่าย ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ร่วมรู้เห็นด้วย แม้ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่และรักษาการในตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ปรากฏว่าเหตุที่ปุ๋ยของจำเลยที่ 1 หายเกิดจากโจทก์บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่จำเลยที่ 1อุทธรณ์ว่า โจทก์มีหน้าที่บังคับบัญชาพนักงานของจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผน แต่จำเลยที่ 1 หาได้ยืนยันว่าโจทก์บกพร่องในการบังคับบัญชาพนักงานอย่างไรไม่ ได้ความเพียงว่าโจทก์ทราบจากนายดำรงเรื่องนายสัญญากับพวกลักลอบนำปุ๋ยออกไปจำหน่าย แล้วมิได้รายงานแก่คณะกรรมการดำเนินการของจำเลยที่ 1 แต่ไม่ปรากฏว่ามีระเบียบแบบแผนข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลยที่ 1 ว่ากรณีเช่นนี้รองผู้จัดการใหญ่หรือผู้จัดการใหญ่ต้องรายงานทันที การที่โจทก์ไม่รายงานเรื่องนี้ได้ความว่า มิใช่โจทก์ตั้งใจจะไม่รายงาน แต่โจทก์ยังไม่ทราบจำนวนปุ๋ยที่หาย กำลังให้นายดำรงไปสืบ จึงยังมิได้รายงาน และระยะเวลาที่นายดำรงไปสืบเพิ่งผ่านไปเพียง 7 วัน การกระทำของโจทก์เป็นการใช้ดุลพินิจปฏิบัติหน้าที่ตามที่เห็นสมควรในพฤติการณ์เช่นนั้น ทั้งไม่ได้ความว่าถ้าโจทก์รายงานเรื่องนี้ให้คณะกรรมการดำเนินการของจำเลยที่ 1 ทราบทันที จำเลยที่ 1 ก็จะติดตามปุ๋ยคืนได้ ดังนี้การกระทำของโจทก์จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการไม่รับผิดชอบในหน้าที่ หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบแบบแผนข้อบังคับและคำสั่งของจำเลยที่ 1 หรือมิได้กระทำการโดยซื่อสัตย์สุจริตตามความในสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 6 ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์กระทำผิดวินัยตามระเบียบของจำเลยที่ 1 หรือไม่นั้น จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าโจทก์กระทำผิดวินัยโดยไม่รักษาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ระเบียบที่ 9/2515 เรื่องวินัยพนักงาน เอกสารหมาย จ.5 ข้อ 8 มีข้อความว่า “พนักงานต้องดูแลรักษาและใช้ทรัพย์สินของชุมนุมสหกรณ์ด้วยความระมัดระวัง ไม่ทำลายหรือทำให้เสียหาย ซึ่งเครื่องมือเครื่องใช้ หรือทรัพย์สินของชุมนุมสหกรณ์ด้วยความประมาทเลินเล่อหรือจงใจ” พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่โจทก์ยังไม่รายงานเรื่องปุ๋ยหายให้คณะกรรมการดำเนินการของจำเลยที่ 1 ทราบ หาใช่เป็นเรื่องไม่ดูแลรักษาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตามความหมายในระเบียบข้อนี้ไม่ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์ไม่ผิดวินัยหรือเงื่อนไขในหนังสือสัญญาจ้าง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ในปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ศาลแรงงานกลางไม่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยดอกเบี้ยของเงินค่าปรับและดอกเบี้ยของค่าชดเชยเป็นการไม่ชอบนั้น ปรากฏว่าในวันนัดพิจารณาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2523ศาลแรงงานกลางจดรายงานกระบวนพิจารณาไว้ว่า ศาลไกล่เกลี่ยแล้ว โจทก์เสนอว่าเพื่อเห็นแก่ชุมนุมสหกรณ์ โจทก์จึงขอเรียกเงินตามฟ้องเพียง 230,000 บาทเท่านั้น ทนายจำเลยที่ 1 แถลงว่าได้รับมอบอำนาจให้มาทำความตกลงได้เพียง 100,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ยินดีรับข้อเสนอของโจทก์เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการของจำเลยที่ 1 แล้วจะนำมาเสนอในนัดหน้า ต่อจากนั้นโจทก์กับจำเลยที่ 1 แถลงรับข้อเท็จจริงกันในเรื่องจำนวนเงินเดือน เงินอื่น ๆ ของโจทก์ หน้าที่ของโจทก์และพฤติการณ์เรื่องปุ๋ยของจำเลยที่ 1หาย พร้อมทั้งเหตุที่โจทก์ยังมิได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แล้วศาลแรงงานกลางจึงเลื่อนการพิจารณาไป ครั้นวันนัดพิจารณาต่อมาในวันที่ 17 มิถุนายน 2523 ทนายจำเลยที่ 1 แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการของจำเลยที่ 1 มีมติไม่ตกลงตามที่ศาลไกล่เกลี่ย แล้วโจทก์กับจำเลยที่ 1 แถลงว่า ให้ศาลพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่ศาลจดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 9 มิถุนายน 2523 ประกอบกับข้อเท็จจริงในคำสั่งที่ 20/2522 ว่าโจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 อย่างร้ายแรงจนต้องถูกสั่งให้ออกหรือไม่ ส่วนเงินที่โจทก์เรียกร้องก็ให้เป็นไปตามที่คู่ความแถลงรับกันดังกล่าวด้วย โดยคู่ความแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน และต่างสละข้อหากับข้อต่อสู้อื่นทั้งหมด ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีเสร็จสำนวนและนัดฟังคำพิพากษา ดังนี้ การที่โจทก์แถลงขอเรียกเงินตามฟ้องเพียง 230,000 บาท ต่อมาแถลงอีกว่าเงินที่โจทก์เรียกร้องให้เป็นไปตามที่คู่ความแถลงรับกันดังกล่าวและสละข้อหาอื่นทั้งหมดด้วย เห็นได้ว่าโจทก์ติดใจเรียกเงินทุกประเภทรวมทั้งค่าชดเชยด้วยเพียง 230,000 บาทเท่านั้น ทั้งไม่ติดใจเรียกดอกเบี้ยจากเงินที่กล่าวนี้อีก เมื่อศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจลดเงินที่โจทก์ติดใจเรียกร้องลงมาเหลือเพียง 159,642 บาท 46 สตางค์ เงินจำนวนนี้จึงรวมค่าชดเชยไว้แล้วนั่นเอง แม้คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางกล่าวว่าสมควรให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินค่าปรับแก่โจทก์เป็นเงิน 159,642 บาท 46 สตางค์ แต่ตามพฤติการณ์ที่เป็นมาตามลำดับแสดงว่าค่าชดเชยได้รวมอยู่ในจำนวนเงินดังกล่าวด้วย ทั้งเมื่อเงินจำนวนนี้สูงกว่าค่าชดเชยที่โจทก์อ้างว่ามีสิทธิได้รับตามกฎหมายแล้ว โจทก์จึงไม่อาจอ้างว่าศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจลดค่าชดเชยลงให้โจทก์ได้รับต่ำกว่าที่กฎหมายบังคับไว้ดังที่อุทธรณ์”
พิพากษายืน