คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1479/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่นายตำรวจขู่ให้โจทก์ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ให้จำเลย มิฉะนั้นจะจับโจทก์ไปขังในฐานะเป็นบุคคลซึ่งเป็นภัยต่อสังคมนั้น ไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายหรือตามปกตินิยม
แม้บุคคลภายนอกจะเป็นผู้ข่มขู่ ก็ย่อมทำให้เช็คนั้นเสื่อมเสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 128 และเมื่อได้บอกล้างแล้วจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 138

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองตามโจทก์ไปพบจำเลย แล้วจำเลยกับพวกซึ่งเป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรี ได้ข่มขู่ให้โจทก์ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ให้จำเลยโดยข่มขู่ว่าหากโจทก์ไม่ตกลงจะจับตัวไปขัง โจทก์กลัวจึงยอมเซ็นสั่งจ่ายเช็คให้จำเลยไป ต่อมาโจทก์ได้แจ้งอายัดเช็คนั้นไว้ต่อธนาคารและได้มีหนังสือบอกล้างเช็คไปยังจำเลยและขอให้จำเลยคืนเช็คให้โจทก์ จำเลยไม่ยอมคืน ขอให้จำเลยคืนเช็คให้โจทก์ หากจำเลยไม่สามารถคืนได้ก็ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ที่จะเรียกร้องจากโจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์นำรถยนต์ของผู้อื่นไปขายให้จำเลย ต่อมาเจ้าของรถยนต์ได้มายึดรถยนต์คืนไป จำเลยได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีกับโจทก์ฐานฉ้อโกง โจทก์ทั้งสองจึงตกลงใช้ราคาคืนให้จำเลยโดยออกเช็คให้จำเลยไว้ จำเลยกับพวกไม่ได้ข่มขู่โจทก์

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ออกเช็คให้จำเลยโดยมีมูลหนี้มาจากการซื้อขายรถยนต์ แม้จะฟังว่าฝ่ายจำเลยได้พูดข่มขู่โจทก์ให้ยอมรับใช้หนี้ดังกล่าวถ้าไม่ยอมรับใช้จะถูกขังในข้อหาเป็นภัยต่อสังคม ก็เท่ากับเป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ทำให้นิติกรรมการออกเช็คตกเป็นโมฆียะ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่พันตำรวจสุภาขู่ว่าจะขังโจทก์ในฐานะเป็นบุคคลซึ่งเป็นภัยต่อสังคมนี้ ถือว่าเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 127 หรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างโจทก์จำเลยเกี่ยวกับการซื้อขายรถยนต์รายนี้ หากจำเลยเห็นว่าโจทก์ฉ้อโกงโดยใช้อุบายหลอกลวงขายรถให้จำเลยประการใด จำเลยก็ย่อมมีสิทธิแจ้งความร้องทุกข์ต่อตำรวจให้ดำเนินคดีกับโจทก์ฐานฉ้อโกงได้ ซึ่งเป็นสิทธิของจำเลยที่จะทำได้โดยชอบ อันถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม แต่จำเลยหาได้ใช้สิทธิตามปกตินิยมเช่นนั้นไม่ ปรากฏจากคำเบิกความของพันตำรวจโทสุภาพยานฝ่ายจำเลยเองว่า ไม่ได้มีการลงบันทึกประจำวันการแจ้งความของจำเลยในเรื่องนี้ไว้แต่อย่างใด แต่จำเลยกลับใช้วิธีเรียกตัวโจทก์มาพบที่อู่รถเบญจมิตร แล้วให้พันตำรวจโทสุภาซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของจำเลยขนาดใช้สอยไหว้วานกันได้มาเป็นผู้ใช้อำนาจในตำแหน่งรองผู้กำกับการตำรวจข่มขู่โจทก์ว่าจะจับไปขังในฐานะเป็นบุคคลซึ่งเป็นภัยต่อสังคมหากโจทก์ไม่ยอมเซ็นเช็ค300,000 บาทให้จำเลย ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 22 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2519 ได้ให้อำนาจแก่พนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจที่จะจับกุมบุคคลใดซึ่งมีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อสังคมส่งพนักงานสอบสวนควบคุมตัวไว้เพื่อทำการอบรมเป็นเวลา 30 วันได้หลังจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดก็ยังมีอำนาจควบคุมไว้ต่อไปโดยไม่มีกำหนดยังสถานอบรมและฝึกอาชีพได้อีกจนกว่าคณะกรรมการของกระทรวงมหาดไทยจะเห็นควรปล่อยตัวไป แต่บุคคลซึ่งจะถูกจับมาควบคุมในฐานะเป็นบุคคลซึ่งเป็นภัยต่อสังคมเช่นนั้นจะต้องมีพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ระบุไว้เช่นประพฤติตนกระทำการรังแก ข่มเหง ขู่ขวัญ หรือกระทำการด้วยประการใด ๆโดยมิชอบให้บุคคลอื่นเกรงกลัว ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งกรณีเรื่องซื้อขายรถยนต์เช่นที่โจทก์จำเลยพิพาทกันอยู่ในคดีนี้ก็มีเพียงว่า จำเลยหาว่าโจทก์นำรถมาขายให้แล้วรถถูกเจ้าของมายึดคืนไป จำเลยต้องการให้โจทก์รับผิดชดใช้เงินคืนให้จำเลยเป็นเงิน 300,000 บาท ส่วนโจทก์ก็เถียงว่าตนไม่ใช่ผู้ขาย ตนเป็นเพียงนายหน้าจึงไม่ต้องรับผิด จำเลยชอบที่จะไปเรียกร้องเอาเงินคืนจากนายบุญเกิดผู้ขายโดยตรง เหตุเพียงแค่นี้ยังหาถือได้ว่าโจทก์มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อสังคมแต่อย่างใดไม่ ซึ่งพันตำรวจโทสุภาเองก็รู้อยู่แก่ใจว่ากรณีไม่ใช่เรื่องร้ายแรงถึงขนาดนั้น เพราะถ้าหากเป็นเรื่องร้ายแรงถึงขนาดเป็นภัยต่อสังคมจริงแล้วไฉนพันตำรวจโทสุภาจะระงับเรื่องไม่ดำเนินการต่อไปได้ในเมื่อโจทก์ยอมเซ็นเช็คให้จำเลย การที่พันตำรวจโทสุภาหยิบยกข้อหาฐานเป็นบุคคลซึ่งเป็นภัยต่อสังคมมาใช้กับโจทก์ในกรณีนี้ จึงไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 22 ดังกล่าว แต่เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งรองผู้กำกับการตำรวจข่มขู่โจทก์ให้ยอมออกเช็คให้จำเลยเพื่อจะช่วยเหลือจำเลยซึ่งเป็นพรรคพวกกันเท่านั้น จะถือว่าเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายหาได้ไม่ เพราะคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินไม่ได้ออกกฎหมายนั้นมาเพื่อให้ตำรวจใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองหรือข่มขู่บังคับให้ผู้ใดยอมเซ็นเช็คให้ และจะถือว่าเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยมก็ไม่ได้ เพราะย่อมไม่มีประชาชนคนใดที่จะนิยมการกระทำวิธีนี้ของตำรวจ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

เมื่อเช็คที่โจทก์เซ็นให้จำเลยไปนั้น แม้จะเกิดจากการข่มขู่ของพันตำรวจโทสุภาซึ่งแม้จะเป็นบุคคลภายนอก ก็ย่อมทำให้เช็คนั้นเสื่อมเสียไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 128 และโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งยกเลิกหรือบอกล้างเช็คอันเกิดจากการข่มขู่นั้นแล้ว เช็คจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138

พิพากษากลับ ให้จำเลยคืนเช็คให้โจทก์

Share