คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8587/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้แก่บริษัท ส. และบริษัทในกลุ่มบริษัท ย. ทุกบริษัทซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งจากบริษัทส. ให้ย้ายไปปฏิบัติงาน ดังนี้ สัญญาค้ำประกันดังกล่าวมีความหมายว่าจำเลยที่ 2 จะค้ำประกันจำเลยที่ 1 แก่บริษัท ย. และเฉพาะแก่บริษัทในกลุ่มบริษัท ย. ทุกบริษัท ซึ่งมีสภาพเป็นนิติบุคคลอยู่แล้วในขณะที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในขณะที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 โจทก์ยังไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงไม่ใช่คู่สัญญากับจำเลยที่ 2 โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นลูกจ้างของโจทก์ก็ตามสัญญาค้ำประกันฉบับดังกล่าวก็หาได้ครอบคลุมถึงโจทก์ด้วยไม่จำเลยที่ 2 ไม่จำต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ ตำแหน่งพนักงานขายสินค้าจำเลยที่ 1 ได้สั่งสินค้าแทนลูกค้า 9 ราย โดยลูกค้ามิได้สั่งสินค้า แล้วจำเลยที่ 1นำสินค้าดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวรวมเป็นราคา 3,183,710.85 บาทอันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 3,183,710.85บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เอาสินค้าของโจทก์ไปรวมเป็นเงิน 3,183,710.85 บาท ในขณะที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 โจทก์ยังไม่มีสภาพบุคคล สัญญาค้ำประกันจึงไม่สมบูรณ์โจทก์ไม่สามารถบังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 3,183,710.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2532 โจทก์เป็นบริษัทในเครือของบริษัทสยามกลการ จำกัด โดยโจทก์จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่29 ธันวาคม 2532 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ เห็นว่า สัญญาค้ำประกันมีข้อความว่า “ข้าพเจ้านายศักดิ์ชัย เฉลิมเกียรติกุล (จำเลยที่ 2) อายุ 38 ปี(ภรรยาชื่อ ร.ต.ท. (ญ) จิตรา เฉลิมเกียรติกุล) ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่า “ผู้ค้ำประกัน”ขอทำหนังสือนี้ค้ำประกันนายมารุต บุบผากลิ่น (จำเลยที่ 1)ให้ไว้แก่บริษัทสยามกีกิ จำกัด และบริษัทในกลุ่มบริษัทสยามกลการ จำกัดทุกบริษัทซึ่งนายมารุต บุบผากลิ่น ได้รับคำสั่งจากบริษัทสยามกีกิ จำกัด ให้ย้ายไปปฏิบัติงาน ซึ่งต่อไปในหนังสือนี้เรียกว่า “บริษัท” มีข้อความดังต่อไปนี้…”ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมีความหมายว่าจำเลยที่ 2 จะค้ำประกันจำเลยที่ 1 แก่บริษัทสยามกีกิ จำกัดและเฉพาะแก่บริษัทในกลุ่มบริษัทสยามกลการ จำกัด ทุกบริษัท ซึ่งมีสภาพเป็นนิติบุคคลอยู่แล้วในขณะที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในขณะที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 โจทก์ยังไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงไม่ใช่คู่สัญญากับจำเลยที่ 2 โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องแม้จำเลยที่ 1 จะเป็นลูกจ้างของโจทก์ก็ตาม สัญญาค้ำประกันฉบับดังกล่าวก็หาได้ครอบคลุมถึงโจทก์ด้วยไม่ จำเลยที่ 2 ไม่จำต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ต่อโจทก์คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share