คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 948/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว โจทก์เป็นฝ่ายอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 รับผิดเพิ่มขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาส่วนจำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์คดีแต่อย่างใด ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ตามที่โจทก์อุทธรณ์ขึ้นมาฝ่ายเดียวนั้น ศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 2 รับผิดน้อยลงไปกว่าเดิมด้วยซ้ำดังนี้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกาขอลดจำนวนเงินที่จะต้องรับผิดให้น้อยลงไปอีกได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโดยวิธีเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท จำเลยที่ 1 เบิกไปจากโจทก์แล้ว จำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกัน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินต้นและดอกเบี้ย32,344.16 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยวิธีคิดดอกเบี้ยทบต้นนับแต่วันฟ้อง

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้คดีหลายประการ ในที่สุดจำเลยที่ 1ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ยอมใช้ต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมในวันเดียวกันนั้น ส่วนจำเลยที่ 2 ขอต่อสู้คดีตามเดิม แต่ในวันที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมดังกล่าว โจทก์และจำเลยที่ 2 รับข้อเท็จจริงกันในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างไม่ขอสืบพยาน ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน ในวงเงินที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2507 จำนวนเงิน 20,000 บาท รวมกับเงิน 10,663.68 บาท ตามบันทึกท้ายสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอีกด้วยหรือไม่

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ภายในวงเงิน 20,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยวิธีคิดดอกเบี้ยทบต้นนับแต่วันทำสัญญาค้ำประกันเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์

โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในเงินจำนวน 10,663.68 บาท ตามสำเนาบันทึกท้ายสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีร่วมกับจำเลยที่ 1 อีกด้วย

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า ให้จำเลยที่ 2ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ภายในวงเงิน 20,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยวิธีคิดดอกเบี้ยทบต้นนับแต่วันทำสัญญาค้ำประกันจนถึงวันครบกำหนด 6 เดือนตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ถัดจากวันนั้นไปให้จำเลยที่ 2 เสียดอกเบี้ยในอัตราเพียงร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เมื่อครบกำหนด 6 เดือนตามสำเนาเบิกเงินเกินบัญชีท้ายฟ้อง จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์อยู่เพียง 11,871.77 บาท ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์เป็นเงิน 11,871.77 บาทด้วย ส่วนโจทก์ไม่ฎีกา

มีปัญหาว่า จำเลยที่ 2 จะฎีกาลดจำนวนเงินที่จะต้องรับผิดนั้นลงอีกได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงที่จะยกขึ้นอ้างอิงในฎีกานั้น คู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เว้นแต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว โจทก์เป็นฝ่ายอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 รับผิดเพิ่มขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์คดีแต่อย่างใด ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ตามที่โจทก์อุทธรณ์ขึ้นมาฝ่ายเดียวนั้น ศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 2 รับผิดน้อยลงไปกว่าเดิมด้วยซ้ำ ดังนี้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกาขอลดจำนวนเงินที่จะต้องรับผิดให้น้อยลงไปอีกได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษาให้ยกฎีกาจำเลยที่ 2

Share