คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3034/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ได้รับจดทะเบียนนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ ม. อ. และโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยราชการที่จำเลยที่ 1 รับราชการสังกัดอยู่ได้รับความเสียหาย เมื่อ อ. ฟ้องเรียกค่าเสียหายในการที่จำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อเอาแก่โจทก์ จำเลยที่ 1กับพวก จำเลยที่ 1 ย่อมรู้ดีในขณะนั้นว่าหากโจทก์ต้องเสียค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่ อ. โจทก์ย่อมมีสิทธิจะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นต้นเหตุทำความเสียหายได้ภายหลัง ดังนั้นโจทก์จึงได้ชื่อว่าเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ในความเสียหายที่จำเลยที่1 เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ โจทก์จึงอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ
จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดนอกจากที่ดินพิพาทแปลงเดียว และจำเลยที่ 1 ได้โอนให้แก่จำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรหลังจากที่โจทก์และจำเลยที่1 ถูก อ. ฟ้องให้ร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้น การกระทำดังกล่าวเป็นการโอนเพื่อหลีกเลี่ยงและให้พ้นจากการถูกบังคับคดี จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและเป็นการกระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1ผู้เป็นต้นเหตุทำความเสียหายได้ภายหลังเสียเปรียบ
จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ถึงที่4 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา ต่อมาจำเลยที่ 2 ถึงที่4 โอนใส่ชื่อจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 ให้ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยเสน่หา เพียงแต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์ก็ขอให้เพิกถอนการโอนดังกล่าวได้
การที่ ธ. น้องชายสามีจำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองให้โดยมีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1 จะต้องโอนที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ไม่เป็นการโอนที่มีค่าตอบแทน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่าง พ.ศ. 2504 ถึง พ.ศ. 2507 จำเลยที่ 1 รับราชการเป็นข้าราชการของโจทก์ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2505 จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยยินยอมให้บุคคลที่ใช้ชื่อว่านางสาวมาลีนำใบมอบอำนาจที่มีลายมือชื่อของนางมาลัยปลอมมาใช้ทำนิติกรรมขายที่ดินโฉนดเลขที่ 639 ของนางมาลัยให้แก่นายชูศักดิ์ โดยจำเลยที่ 1 จดทะเบียนนิติกรรมขายให้ ต่อมาวันที่ 3 มกราคม 2506 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนนิติกรรมที่ดินดังกล่าวให้นายชูศักดิ์ขายฝากแก่นางอนงค์และในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2506ก็ได้จดทะเบียนนิติกรรมปลดเงื่อนไขการไถ่เป็นการขายโดยเด็ดขาด ต่อมานางมาลัยได้ฟ้องโจทก์และนางอนงค์ ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนทั้งสามครั้งดังกล่าว ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2506 นางอนงค์ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายในเหตุที่จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเลินเล่อดังกล่าวจากโจทก์ จำเลยที่ 1 นายชูศักดิ์และนายจินดา ศาลพิพากษาให้โจทก์ จำเลยที่ 1 และนายชูศักดิ์รวม 3 คนร่วมกันใช้ค่าเสียหาย โจทก์แต่ผู้เดียวได้ชำระค่าเสียหายดังกล่าวแก่นางอนงค์ ต่อมาวันที่ 11 สิงหาคม 2519 โจทก์จึงฟ้องไล่เบี้ยเรียกเงินที่ได้ชำระดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2521 ให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้เงินจำนวน 750,031.46 บาท โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2511 หลังจากที่โจทก์ จำเลยที่ 1 นายชูศักดิ์ และนายจินดาถูกนางอนงค์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดตราจองที่ 6832 ของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หาจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินใดที่จะสามารถชำระหนี้แก่นางอนงค์ เป็นการโอนทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นทางให้นางอนงค์และโจทก์ผู้เป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ เป็นการฉ้อฉล ต่อมาวันที่ 21 มกราคม 2519 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็ได้โอนที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 มีกรรมสิทธิ์รวมโดยเสน่หาเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 อันเป็นการโอนโดยฉ้อฉลอีก ครั้นต่อมาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ได้เอาที่ดินไปรวมกับที่ดินแปลงอื่นทำการแบ่งแยกเป็นที่ดินแปลงย่อยจำนวน 15 โฉนด โจทก์ทราบการโอนดังกล่าวเมื่อเดือนสิงหาคม 2521 ขอให้พิพากษาว่าการโอนที่ดินโฉนดตราจองที่ 6832 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และระหว่างจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 เป็นโมฆะ ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนและเพิกถอนโฉนดที่แบ่งแยก ให้โฉนดตราจองที่ 6832 คงมีผลและโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามเดิม

จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การว่า การโอนที่ดินโฉนดตราจองที่ 6832ของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กระทำในขณะที่นางอนงค์และโจทก์ยังมิได้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 เป็นการโอนโดยสุจริตไม่รู้ว่าจะทำให้นางอนงค์และโจทก์เสียเปรียบ และเป็นการโอนโดยมีค่าตอบแทน คดีขาดอายุความและฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความนิติกรรมระหว่างจำเลยทั้งหลายได้กระทำก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เหตุแห่งการเพิกถอนการฉ้อฉลจึงไม่เกิด การได้ที่ดินมาได้กระทำต่อเจ้าพนักงานของโจทก์และกระทำโดยสุจริตมีการเสียค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 7 และที่ 9 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดตราจองที่ 6832ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และระหว่างจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กับจำเลยที่ 5ถึงที่ 9 ให้เพิกถอนโฉนดแปลงย่อยที่แบ่งแยกจำนวน 15 โฉนด ให้โฉนดตราจองที่ 6832 คงมีผลตามเดิมและโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินผู้ช่วยโทได้รับจดทะเบียนสิทธินิติกรรมโอนขายที่ดินของนางมาลัยตามใบมอบอำนาจปลอมให้แก่นายชูศักดิ์ต่อมานายชูศักดิ์โอนขายฝากแล้วปลดเงื่อนไขการขายฝากเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดที่ดินนั้นแก่นางอนงค์โดยจำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้รับจดทะเบียนให้การจดทะเบียนนิติกรรมทั้งสามคราวดังกล่าวนางมาลัยได้ฟ้อง และศาลพิพากษาให้เพิกถอน ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2506 นางอนงค์ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายในเหตุที่จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเลินเล่อดังกล่าวจากโจทก์จำเลยที่ 1 นายชูศักดิ์และนายจินดา ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ จำเลยที่ 1 และนายชูศักดิ์ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,500,062.93 บาทแก่นางอนงค์ผู้เสียหาย ต่อมาโจทก์แต่ผู้เดียวได้ชำระค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวให้แก่นางอนงค์ และได้ฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ให้รับผิดใช้เงินตามจำนวนที่โจทก์ได้ชำระไป ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดเป็นเงิน 750,031.46 บาท โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างอุทธรณ์ ในระหว่างอุทธรณ์โจทก์สั่งเจ้าพนักงานที่ดินทั่วราชอาณาจักรตรวจสอบทรัพย์สินจำเลยที่ 1 แล้ว ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดนอกจากที่ดินโฉนดตราจองที่ 6832 เพียงแปลงเดียว แต่จำเลยที่ 1 ได้โอนให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรไปแล้วตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2511 และต่อมาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้โอนใส่ชื่อจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 ให้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมด้วยเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2519 และต่อมาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ได้แบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงย่อยจำนวน 15 โฉนดเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลกรายงานให้โจทก์ทราบถึงการโอนเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2521 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2521

จำเลยฎีกาในข้อแรกว่า โจทก์มิได้อยู่ในฐานะเจ้าหนี้จำเลยอยู่แล้วในขณะที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่อาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้รับจดทะเบียนนิติกรรมด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นางมาลัยนางอนงค์และโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยราชการที่จำเลยที่ 1 รับราชการสังกัดอยู่ได้รับความเสียหาย และเมื่อนางอนงค์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเอาแก่โจทก์จำเลยที่ 1 กับพวก เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2506 จำเลยที่ 1 ย่อมรู้ดีในขณะนั้นว่าหากโจทก์ต้องเสียค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่นางอนงค์ไป โจทก์ย่อมมีสิทธิจะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1ผู้เป็นต้นเหตุทำความเสียหายได้ภายหลัง ดังนั้นโจทก์จึงได้ชื่อว่าเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ โจทก์จึงอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ

จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่าการทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปโดยสุจริต ไม่เป็นการกระทำไปทั้งที่รู้ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดนอกจากที่ดินพิพาทแปลงเดียว และจำเลยที่ 1 ได้โอนให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 เอง เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2511 อันเป็นเวลาภายหลังที่โจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ถูกนางอนงค์ฟ้องเป็นจำเลยให้ร่วมกันรับผิด การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่บุตรของตนไปก็เพื่อหลีกเลี่ยงและให้พ้นจากการถูกบังคับคดี จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและเป็นการกระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นต้นเหตุทำความเสียหายได้ภายหลังเสียเปรียบด้วย

จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า การทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และระหว่างจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 เป็นการกระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน มิใช่การโอนโดยเสน่หา โจทก์ไม่อาจขอให้เพิกถอนได้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2511 นั้น ปรากฏตามรายการแก้ทะเบียนในโฉนดพิพาทระบุว่าเป็นการให้ และปรากฏชัดตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินที่ทำไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าผู้ให้เป็นมารดารับให้และให้โดยเสน่หา กรณีจึงต้องถือว่าเป็นการทำให้โดยเสน่หาส่วนการโอนระหว่างจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2519 นั้น ปรากฏตามรายการแก้ทะเบียนในโฉนดตราจองรายพิพาทระบุว่าเป็นการให้ถือกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนและปรากฏตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมที่ทำไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินระบุว่า เป็นการให้ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน จึงต้องถือว่าสิทธิในกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 นั้นได้มาโดยเสน่หา ที่จำเลยอ้างและนำสืบว่า ก่อนที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่ดินพิพาทติดจำนองธนาคารกรุงไทย จำกัด เป็นเงิน 20,000 บาท นายธนิตน้องชายสามีจำเลยที่ 1 ได้ไถ่ถอนจำนองให้โดยมีข้อตกลงว่า จำเลยที่ 1 จะต้องโอนที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นั้น แม้จะเป็นความจริงก็จะรับฟังว่าการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และระหว่างจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 มีค่าตอบแทนไม่ได้ เมื่อการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นการทำให้โดยเสน่หา และสิทธิในกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 ได้มาโดยเสน่หาดังกล่าวแล้ว เพียงแต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอให้เพิกถอนได้

จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1ได้โอนที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2511 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2521 หาได้พ้นสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมโอนนั้นไม่ ข้อที่ว่าโจทก์ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่เวลาที่โจทก์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนนั้น ปรากฏว่าเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลกได้ตรวจสอบทราบว่าจำเลยที่ 1 ทำการโอนที่ดินพิพาท แล้วรายงานให้โจทก์ทราบถึงการโอนเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2521ฉะนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2521 จึงหาพ้นหนึ่งปีนับแต่เวลาที่โจทก์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนนั้นไม่ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

พิพากษายืน

Share