คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2848/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีอักษรโรมันล้วนๆ ส่วนของจำเลยมีอักษรไทยปนอยู่กับอักษรโรมัน ทั้งคำในเครื่องหมายการค้าทั้งสองก็แตกต่างกันเกือบทั้งหมดมีตรงกันเฉพาะคำว่า “DEOCOLOGNE”เท่านั้น แต่ลักษณะการเขียนและความใหญ่ของตัวอักษรก็แตกต่างกันมากสำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้ตัวพิมพ์เล็ก(DEOCOLOGNE) เขียนตัวอักษรโตมากและเล่นตัวอักษรด้วยแสดงถึงการเน้นตรงคำนี้ ส่วนของจำเลยใช้ตัวพิมพ์ใหญ่(DEOCOLOGNE) และตัวอักษรก็ไม่โต ทั้งยังไม่ได้เล่นตัวอักษรซึ่งแสดงถึงไม่ได้มุ่งที่จะเน้นถึงคำนี้เลย แต่ไปเขียนตัวอักษรโตและเล่นตัวอักษรเน้นตรงคำว่า “ARCHE” คำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันจะชี้ให้เห็นว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์อยู่ตรงคำว่า “DEOCOLOGNE” แต่ของจำเลยอยู่ตรงคำว่า ARCHE’ ทั้งอักษรโรมันและอักษรไทยเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่แสดงสำหรับสินค้าสบู่ก็ระบุว่าทำในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ส่วนของจำเลยหาปรากฏข้อความเช่นนั้นไม่ ไม่อาจทำให้สาธารณชนหลงผิดไปในลักษณะของเครื่องหมายการค้า หรือลวงผู้ซื้อในแหล่งกำเนิด หรือทำให้เกิดสับสนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าโดยคิดคำว่า”4711″ คำว่า “DEOCOLOGNE” คำว่า “4711 DEOCOLOGNE” ประกอบรูปรอยประดิษฐ์เป็นรูปวงกลมรีสามวงซ้อนกัน โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าของโจทก์จำพวกเครื่องหอม น้ำหอม น้ำยาระงับกลิ่นกาย สบู่หอม อันเป็นสินค้าจำพวก 48 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้แล้วจำเลยนำรูปรอยประดิษฐ์ของโจทก์ดังกล่าวและคำว่า “DEOCOLOGNE”มาเพิ่มเติมคำว่า ‘ARCHE’ ลงไป หากแต่ยังคงไว้ซึ่งลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้วนำไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสินค้าจำพวก 48 ได้แก่สบู่เช่นเดียวกับโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการโต้แย้งสิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งโจทก์เป็นผู้คิดประดิษฐ์ใช้มาก่อนและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย การที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าสบู่หอมซึ่งเป็นสินค้าจำพวก 48 เช่นเดียวกับโจทก์ เป็นการลวงขายในแหล่งกำเนิดทำให้ผู้ซื้อเกิดสับสน เข้าใจว่าสินค้าสบู่ของจำเลยเป็นสินค้าสบู่ของโจทก์ เป็นการละเมิดแอบอ้างเกียรติคุณในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลย ให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย ฯลฯ ให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า คำว่า ‘DEOCOLOGNE’ ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้ใด จำเลยและประชาชนทั่วไปต่างเข้าใจว่าเป็นชื่อของกลิ่นชนิดหนึ่งที่เรียกว่ากลิ่นโคโลญ จำเลยค้าขายสบู่ใช้เครื่องหมายการค้าว่า “ARCHE” มาก่อนโจทก์ สบู่จำเลยมีกลิ่นโคโลญ จึงได้นำคำว่า “DEOCOLOGNE” มากำกับอยู่ในฉลากเครื่องหมายการค้า “ARCHE” เพื่อเป็นการบรรยายคุณภาพของสบู่ว่ามีกลิ่นโคโลญ จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยสุจริต มิได้นำเอาเครื่องหมายการค้าของผู้ใดมาขอจดทะเบียน มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยดีกว่าโจทก์ ประชาชนทั่วไปเรียกสบู่ของจำเลยว่าสบู่ “อาร์เช่” เรียกของโจทก์ว่าสบู่ “4711” ทั้งรูปภาพลักษณะเครื่องหมายการค้าแตกต่างกันเห็นได้ชัด ไม่สามารถทำให้ประชาชนหลงผิดไปได้ว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ จึงไม่เป็นการลวงขาย ในการบรรยายคุณภาพของสบู่บนฉลากกำกับสินค้า จำเลยใช้คำว่า “COLOGNE” มิได้ใช้คำว่า “DEOCOLOGNE” โจทก์ไม่เสียหาย จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าก่อนโจทก์โจทก์จึงต้องห้ามมิให้เรียกค่าเสียหายตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนของจำเลย ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าของจำเลย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้พิจารณาเปรียบเทียบรูปและคำของเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับจำเลย ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีอักษรโรมันล้วน ๆ ส่วนของจำเลยมีอักษรไทยปนอยู่กับอักษรโรมัน ทั้งคำในเครื่องหมายการค้าทั้งสองก็แตกต่างกันเกือบทั้งหมด มีตรงกันเฉพาะคำว่า “DEOCOLOGNE” เท่านั้น แต่ลักษณะการเขียนและความใหญ่ของตัวอักษรก็แตกต่างกันมาก สำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้ตัวพิมพ์เล็ก (DEOCOLOGNE) เขียนตัวอักษรโตมากและเล่นตัวอักษร ซึ่งแสดงว่าไม่ได้มุ่งที่จะเน้นถึงคำนี้แต่ไปเขียนตัวอักษรโตและเล่นตัวอักษรเน้นตรงคำว่า ‘ARCHE’ คำอันมีลักษณะบ่งเฉพาะอันจะชี้ให้เห็นว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์อยู่ตรงคำว่า ‘DEOCOLOGNE’ แต่ของจำเลยอยู่ตรงคำว่า ‘ARCHE’ ทั้งอักษรโรมันและอักษรไทยยิ่งกว่านั้นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่แสดงสำหรับสินค้าสบู่ก็ระบุไว้ว่าทำในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ส่วนของจำเลยหาปรากฏข้อความเช่นนั้นไม่ ไม่อาจทำให้สาธารณชนหลงผิดในลักษณะเครื่องหมายการค้า หรือลวงผู้ซื้อในแหล่งกำเนิดหรือทำให้สับสนได้ ไม่พอฟังว่าจำเลยแสวงหาประโยชน์โดยอ้างอิงเอาเครื่องหมายการค้าของมาใช้โดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย

พิพากษากลับ ยกฟ้อง

Share