แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พยานหลักฐานของโจทก์ยังฟังได้ไม่แน่ชัดว่าจำเลยรู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของรัฐซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะหรือไม่ เมื่อจำเลยเข้าครอบครอง ที่ดินพิพาทโดยสุจริต เข้าใจว่าตนเองมีสิทธิจะทำได้ จำเลยจึงขาดเจตนา ในการกระทำความผิดฐานบุกรุกที่ดินของรัฐ
พ. รองอธิบดีกรมป่าไม้ ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้ทำขึ้นสำเนาเอกสารที่ พ. ซึ่งเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ในภายหลังได้ส่งมาตามหมายเรียกของศาล โดยมีนักวิชาการป่าไม้ 6 กองอุทยานแห่งชาติรับรองสำเนาถูกต้องจึงอ้างเป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 238 วรรคสอง แม้ พ. มิได้มาเบิกความก็ตาม
จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า พ. ซึ่งเป็นรองอธิบดีกรมป่าไม้ขณะนั้นมีอำนาจโดยชอบในการที่จะอนุญาตให้สร้างบังกะโลบนเกาะเสม็ดได้จำเลยจึงเข้าใจโดยสุจริตว่าตนเองมีสิทธิจะทำได้ตามที่ได้รับอนุญาตจำเลยจึงไม่มีเจตนากระทำผิดฐานยึดถือครอบครองที่ดินภายในเขตอุทยานแห่งชาติตามฟ้อง
ข้อเท็จจริงที่ได้จากการที่จำเลยตอบคำถามค้านของโจทก์ ถือไม่ได้ว่าโจทก์นำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว เพราะในการพิจารณา คดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ เดือนและปีใดไม่ปรากฏชัด จนถึงวันที่ 1ตุลาคม 2524 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันจำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินส่วนหนึ่งบริเวณอ่าววงเดือนบนเกาะเสม็ดซึ่งมีสภาพเป็นบริเวณที่เขาอันเป็นที่ดินของรัฐใช้เป็นที่ตั้งประภาคารกับที่พักเจ้าพนักงานผู้รักษาประภาคารเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินในทางราชการกองทัพเรือโดยเฉพาะซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดให้เป็นเขตหวงห้ามโดยจำเลยทำการก่อสร้าง แผ้วถาง ทำการเพาะปลูกพืชไร่ สร้างกระต๊อบพักอาศัยบังกะโล 5 ถึง 7 หลัง อันเป็นการทำลาย ทำให้เสื่อมสภาพที่ดิน ที่หิน ที่กรวด ที่ทรายโดยไม่ได้รับอนุญาตและจำเลยกระทำความผิดต่อเนื่องกันจนกระทั่งมีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินดังกล่าวให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ต่อมาเมื่อระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2524 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 24พฤษภาคม 2533 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินดังกล่าวโดยการก่นสร้าง แผ้วถาง และทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายทำให้เสื่อมสภาพแก่ดิน หิน กรวด ทราย แล้วปลูกสิ่งก่อสร้างอาคารบ้านพักและร้านค้า อาคารที่ตั้งเครื่องปั่นไฟฟ้า อาคารสำนักงาน ห้องน้ำห้องส้วมเพิ่มเติมเป็นเนื้อที่ 14 ไร่ 2 งาน 71 ตารางวา ภายในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต หลังจากนั้นจำเลยดำเนินกิจการให้บริการค้าขายอาหาร เครื่องดื่มและอื่น ๆ เพื่อหาประโยชน์จากนักท่องเที่ยวบนเกาะเสม็ด ทั้งยังดำเนินกิจการโรงแรมชื่อ วงเดือนวิลล่า โดยเปิดบริการให้ผู้เข้าพักเพื่อรับสินจ้างสำหรับคนเดินทางและนักท่องเที่ยว และจำเลยกับพวกเป็นเจ้าสำนักแห่งโรงแรมนั้นโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 4, 6, 16(1), (4) (13), 24, 27 พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2478 มาตรา 3, 4, 19 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ และให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้างผู้แทน และบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินที่จำเลยยึดถือครอบครอง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้จำเลย คนงานผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินที่จำเลยยึดถือครอบครอง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอัยการพิเศษประจำเขต 2 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน แต่ให้ยกคำขอให้จำเลยคนงานผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทที่จำเลยยึดถือครอบครองตามฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อจากนายแร้ว บำรุงกิจ เมื่อปี 2523 ต่อมาวันที่ 1ตุลาคม 2524 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาแหลมเทียน เขาเปล็ด เขาแหลมหญ้า เกาะเสม็ด และเกาะใกล้เคียงในท้องที่ตำบลเพอำเภอเมืองระยอง และตำบลแกลง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามเอกสารหมาย ป.จ.2 เมื่อระหว่างวัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้ดำเนินกิจการร้านค้าและบังกะโลให้เช่าจัดตั้งเป็นโรงแรมใช้ชื่อว่า “วงเดือนวิลล่า” ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวอยู่ที่บริเวณอ่าววงเดือน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยได้กระทำผิดฐานบุกรุกเข้ายึดถือครอบครอง ก่นสร้างที่ดินของรัฐหรือไม่โจทก์ฎีกาว่า ที่ดินบนเกาะเสม็ดทั้งเกาะเป็นเขา เป็นที่ราชพัสดุ ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ฉบับที่ 16/2467 ตามเอกสารหมาย ป.จ.1 ซึ่งไม่มีบุคคลใดมีสิทธิครอบครองและไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และโจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบแห่งความผิดแล้ว ย่อมลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ เห็นว่า พยานโจทก์คือนายสมบูรณ์ บูรณะ นายสมชายอินทนานนท์ นายอมร ศิริผันแก้ว และนายดาวเรือง สมุทรเสน มิได้เบิกความให้ปรากฏเลยว่า ที่ดินพิพาทบนเกาะเสม็ดเป็นที่เขา อันเป็นที่ดินของรัฐที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดให้เป็นเขตหวงห้ามตามมาตรา 9(2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดินตามสำเนาประกาศกระทรวงมหาดไทยท้ายคำฟ้อง โจทก์อ้างว่า ตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย ป.จ.6 ระบุว่า ที่ดินพิพาทด้านทิศใต้จรดเนินเขา ทิศเหนือและทิศตะวันออกจรดทะเลทิศตะวันตกจรดบริเวณบังกะโลวงเดือนรีสอร์ทจึงยืนยันได้ว่าเกาะเสม็ดเป็นเกาะที่เป็นที่เขานั้น โจทก์ก็ไม่นำสืบว่าเป็นที่เขาอย่างไร ตามรูปถ่ายที่ดินพิพาทหมาย ป.จ.8 และรูปถ่ายหมาย ล.1 ก็ไม่ปรากฏว่าสภาพที่ดินพิพาทเป็นเนินสูงจนเห็นเป็นที่เขา และเพื่อตรวจดูหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเอกสารหมาย ป.จ.1 หรือ ป.ล.1 ซึ่งเป็นฉบับเดียวกันก็ไม่ได้ระบุว่าบริเวณสถานที่ตั้งประภาคารและบ้านพักเจ้าพนักงานผู้รักษาประภาคารเป็นที่เขา หรือแม้แต่แผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตอุทยานแห่งชาติเอกสารหมาย ป.จ.2 ก็ไม่ระบุว่าบริเวณอ่าววงเดือนเป็นที่เขาตามหนังสือของกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ เอกสารหมาย ล.7 หน้า 15 กล่าวถึงเกาะเสม็ด และอ่าวคอก (อ่าววงเดือน) ก็ไม่ระบุว่ามีสภาพเป็นที่เขาเช่นกันพยานหลักฐานโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่เขา ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเกาะเสม็ดทั้งเกาะเป็นที่หลวงตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเอกสารหมาย ป.จ.1 นั้น เห็นว่า เอกสารดังกล่าวมีข้อความระบุเพียงว่า “หนังสือนี้สำหรับแสดงว่า ที่ดินแปลงหนึ่งอยู่ที่เกาะเสม็ดเป็นที่สำหรับตั้งประภาคารและที่พักเจ้าพนักงานผู้รักษาประภาคาร” โดยที่ไม่มีข้อความระบุว่าที่ดินส่วนนี้มีเนื้อที่เท่าไร ตามแผนที่เอกสารหมาย ป.ล.1 หมายเขตพื้นที่ของประภาคารเป็นเครื่องหมายเส้นและจุด ( _______ .) ก็มีปรากฏเพียงพื้นที่บางส่วนของเกาะเสม็ด ไม่ใช่พื้นที่ทั้งเกาะซึ่งนายดาวเรืองเบิกความว่า ทางราชการใช้พื้นที่ของเกาะเสม็ดเป็นที่ตั้งประภาคารและที่พักของเจ้าพนักงานผู้รักษาประภาคาร นายสมบูรณ์เบิกความว่า เอกสารหมาย ป.จ.1 ระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่สำหรับตั้งประภาคารและที่พักเจ้าพนักงานผู้รักษาประภาคาร ที่ตั้งของประภาคารจะมีเนื้อที่ประมาณ 200 ตารางวาเท่านั้น นอกจากนี้ปรากฏตามหนังสือกองอุทยานแห่งชาติกรมป่าไม้ เอกสารหมาย ล.7 หน้า 15 บรรยายเกี่ยวกับพื้นที่ของเกาะเสม็ดว่า เกาะเสม็ดมีเนื้อที่ประมาณ 6,000 ไร่ พยานโจทก์อ้างว่าเกาะเสม็ดอยู่ในความดูแลของกองทัพเรือทั้งเกาะแต่โจทก์ก็ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าเป็นดังอ้าง หรือมีป้ายติดไว้รอบเกาะเช่นเดียวกับแนวเขตแสดงการเป็นอุทยานแห่งชาติที่ติดไว้รอบเกาะเป็นระยะ ๆ ปรากฏจากพยานโจทก์จำเลยรับกันว่า มีราษฎรเข้ามายึดถือครอบครองที่ดินอยู่บนเกาะเสม็ดอยู่ก่อนที่จะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาแหลมเทียน เขาเปล็ด เขาแหลมหญ้า เกาะเสม็ด และเกาะใกล้เคียง ในท้องที่ตำบลเพ อำเภอเมืองระยอง และตำบลแกลงอำเภอแกลง จังหวัดระยอง ให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามเอกสารหมาย ป.จ.2 ดังนี้ พยานหลักฐานของโจทก์ยังฟังได้ไม่แน่ชัดว่า จำเลยรู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของรัฐซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะหรือไม่ เมื่อจำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยสุจริต เข้าใจว่าตนเองมีสิทธิจะทำได้ จำเลยจึงขาดเจตนาในการกระทำความผิดฐานบุกรุกที่ดินของรัฐดังฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยึดถือครอบครองที่ดินภายในเขตอุทยานแห่งชาติหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ตามระเบียบของกรมป่าไม้ ปี 2525 และปี 2530 ตามเอกสารหมาย ป.จ.10 และ ป.จ.11เอกชนไม่สามารถที่จะเข้ายึดถือครอบครองหรือปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างใด ๆในเขตอุทยานแห่งชาติได้ เว้นแต่เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย และกรมป่าไม้ไม่เคยอนุญาตให้เอกชนรายใดดำเนินกิจการหาผลประโยชน์ในเกาะเสม็ด นายไพโรจน์ สุวรรณกร และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ เขาแหลมหญ้า และเกาะเสม็ดไม่มีอำนาจออกคำสั่งอนุญาตให้บุคคลใดเข้าไปผลประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวนั้น เห็นว่า ก่อนมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ที่ดินบนเกาะเสม็ดเป็นอุทยานแห่งชาติ มีราษฎรเข้ายึดถือครอบครองที่ดินบนเกาะเสม็ดอยู่แล้ว ปรากฏจากคำเบิกความของนายสมชาย นายอมร และนายดาวเรืองพยานโจทก์ว่า ได้กันพื้นที่ทางด้านเหนือของเกาะประมาณ 700 ไร่ ให้ราษฎรอยู่อาศัย นอกจากนี้ นายไพโรจน์ สุวรรณกร รองอธิบดีกรมป่าไม้ ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้ ได้ทำบันทึกระบุว่ามีผู้อ้างว่าตกสำรวจ ตามเอกสารหมาย ล.5ทั้งนายไพโรจน์ยังทำบันทึกด้วยว่ากรมป่าไม้อนุญาตให้สร้างบังกะโลได้ 5 หลัง ต่อพื้นที่ 1 ไร่ ตามเอกสารหมาย ล.6 สำเนาเอกสารหมาย ล.5 และล.6 นายไพโรจน์ซึ่งเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ในภายหลังได้ส่งมาตามหมายเรียกของศาล โดยมีนักวิชาการป่าไม้ 6 กองอุทยานแห่งชาติรับรองสำเนาถูกต้องเอกสารดังกล่าวจึงอ้างเป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 238 วรรคสอง แม้นายไพโรจน์มิได้มาเบิกความก็ตาม แต่นายสมบูรณ์พยานโจทก์ได้เบิกความตอบคำถามค้านยอมรับว่า นายไพโรจน์ทำบันทึกยินยอมให้เอกชนก่อสร้างบังกะโลได้ 5 หลัง ต่อพื้นที่ 1 ไร่จริง เมื่อนายไพโรจน์ทำบันทึกขณะปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้อนุญาตให้ราษฎรจำนวน 34 ครอบครัว รวมทั้งจำเลยที่เดือดร้อนสร้างบังกะโลได้ 5 หลัง ต่อพื้นที่ 1 ไร่ เพื่อบริการนักท่องเที่ยวบนเกาะเสม็ดนายไพโรจน์จะมีอำนาจอนุญาตได้หรือไม่ และขัดต่อระเบียบของกรมป่าไม้ตามเอกสารหมาย ป.จ.10 และ ป.จ.11 หรือไม่ ก็ยังมีโต้เถียงกันจนต้องส่งเรื่องไป ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความดังนี้ จึงมีเหตุน่าเชื่อว่าจำเลยเชื่อโดยสุจริตว่านายไพโรจน์ซึ่งเป็นรองอธิบดีกรมป่าไม้ขณะนั้นมีอำนาจโดยชอบในการที่จะอนุญาตให้สร้างบังกะโลบนเกาะเสม็ดได้ จำเลยจึงเข้าใจโดยสุจริตว่าตนเองมีสิทธิจะทำได้ตามที่ได้รับอนุญาต พยานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดฐานยึดถือครอบครองที่ดินภายในเขตอุทยานแห่งชาติตามฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยดำเนินกิจการโรงแรมโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่นั้น โจทก์ฎีกาว่าเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเปิดโรงแรมและเป็นเจ้าสำนักแห่งโรงแรมโดยมิได้รับอนุญาต จำเลยก็เบิกความตอบคำถามค้านยอมรับแล้วถือได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพทั้งโจทก์มีนายสมบูรณ์และนายสมชายเบิกความว่า จำเลยใช้ชื่อ “วงเดือนวิลล่า” เป็นกิจการ ปัจจุบันจำเลยมีบังกะโลให้เช่า 45 หลัง เห็นว่า คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานดำเนินกิจการโรงแรมโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้จะได้ความจากคำเบิกความของจำเลยตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า จำเลยดำเนินกิจการโรงแรมโดยไม่ได้รับอนุญาตและเป็นเจ้าสำนักแห่งโรงแรมซึ่งเปิดดำเนินกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ตาม ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากการที่จำเลยตอบคำถามค้านของโจทก์ ถือไม่ได้ว่าโจทก์นำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว เพราะในการพิจารณาคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดแม้โจทก์จะมีนายสมบูรณ์และนายสมชายเบิกความว่า จำเลยใช้ชื่อ”วงเดือนวิลล่า” ก็ฟังไม่ได้ว่านายสมบูรณ์และนายสมชายเป็นเจ้าพนักงานผู้รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการขออนุญาตดำเนินกิจการโรงแรมตามพระราชบัญญัติโรงแรมฯ”
พิพากษายืน